คณะครุศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์”เพื่อเด็กอายุ 10-12 ปี
โครงการ“พัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ในการจัดทำหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” เป็นโครงการเพื่อมุ่งเน้นในการออกแบบและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล รวมถึงสร้างแบบทดสอบเพื่อประเมินผลผู้เรียนตามกรอบเนื้อหาในหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ที่พัฒนาขึ้นโดยกรมสุขภาพจิตร่วมกับ AIS และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้จัดทำสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลในแต่ละเนื้อหาของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ทั้ง 4P4ป ครอบคลุมทักษะดิจิทัลให้ออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย ประกอบด้วย แอนิเมชัน โมชันกราฟิก และวีดิทัศน์จำลองสถานการณ์ความยาว 3-5 นาที ดร.ดารุวรรณ ศรีแก้ว อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ฯ มจธ. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ทำโครงการนี้ เริ่มจากทาง AIS ให้ช่วยเผยแพร่ DQ Framework (Digital Intelligence Quotient) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลของประเทศสิงคโปร์มาปรับและเผยแพร่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล LearnDi และแอปพลิเคชันอุ่นใจไซเบอร์ ตั้งแต่ปี 2564 ต่อมาทาง AIS ได้มีแนวคิดจัดทำหลักสูตรการพัฒนาทักษะดิจิทัลที่เหมาะกับบริบทของไทยขึ้น โดยมีกรมสุขภาพจิตพัฒนาเนื้อหาหลักสูตร และ มจธ.เป็นผู้พัฒนาจัดทำสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลทั้งหมด จนกระทั่งออกมาเป็น“หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์”สำเร็จในเดือนเมษายน 2564 จากนั้นได้เสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอรับรองหลักสูตรเพื่อให้ครูสามารถนำไปนับชั่วโมงการอบรมและขอเลื่อนหรือขอมีวิทยฐานะ รวมทั้งขอความร่วมมือในให้การเผยแพร่หลักสูตร จนเกิดเป็นความร่วมมือขึ้นในเดือนกรกฎาคม และเริ่มเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ดิจิทัลของหลักสูตรเข้าไปโรงเรียนแกนนำในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในเดือนตุลาคม “ช่วงแรกๆ เป็นการอบรมเผยแพร่ให้ความรู้กับครูก่อน ประกอบกับเป็นช่วงระบาดของ COVID-19 จึงเป็นการสอนแบบออนไลน์ ทางคุณครูจึงได้ทดลองนำมาใช้เป็นสื่อการสอนและเป็นการบ้านให้กับนักเรียน หลังจากนั้น 3 เดือนได้ประเมินผลโรงเรียนแกนนำ 3 แห่ง พบว่ามีประโยชน์มาก เพราะนอกจากครูสามารถนำไปประเมินวิทยฐานะแล้ว ยังเป็นการสร้างวัคซีนให้กับเด็ก ๆ ให้มีความรู้และทักษะทางด้านดิจิทัล อีกทั้งเด็กบางคนยังนำไปเล่าให้ผู้ปกครองฟังด้วย ต่อมาในเดือนมกราคม 2565 ก็ได้รับความสนใจจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย นำสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลของหลักสูตรไปทดลองใช้กับโรงเรียนท้องถิ่นหรือเทศบาล ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากครูและนักเรียนเช่นกัน …