ตอนที่ 16 : ปรัชญาวัฒนธรรมทางกาย : หนังสืออุดมการณ์โอลิมปิกของคูเบอร์แต็ง : แปลโดย : ดร.นิพัทธ์ อึ้งปกรณ์แก้ว
ปรัชญาวัฒนธรรมทางกาย ในบทความนี้ คูเบอร์แต็งได้แสดงให้พวกเราเข้าใจถึงการตีความของท่านต่อปรัชญาวัฒนธรรมทางกายซึ่งบางส่วนเกี่ยวเนื่องกับจิตวิทยา วัฒนธรรมนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคติพจน์โบราณคือ “รู้จักตนเอง” (Know thyself) โดยท่านกล่าวว่า จุดแข็งด้านจิตใจและสติปัญญาต่อการพัฒนาร่างกายมนุษย์มีความหลากหลายอย่างยิ่งและจุดแข็งด้านสังคมคือสิ่งที่ไม่สามารถทดแทนได้ เอกสารชิ้นนี้คือหนึ่งในบทความชุดยาวของวารสาร Olympic Review ซึ่งตีพิมพ์ก่อนการประชุมสภาโอลิมปิกเกี่ยวกับจิตวิทยาการกีฬาและสรีรวิทยาการกีฬาใน ค.ศ.1913 เมื่อหลายเดือนก่อน ข้าพเจ้าให้คำมั่น (ซึ่งอาจไม่รอบคอบนัก) ที่จะกำหนดกรอบพื้นฐานของสิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกว่า “ปรัชญาวัฒนธรรมทางกาย” คำสัญญาดังกล่าวนี้ไม่สมเหตุสมผลเนื่องเพราะหัวข้อนี้กว้างขวางและสำคัญถึงขนาดที่ข้าพเจ้ารู้สึกละอายใจยิ่งที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้บนพื้นที่ไม่ค่อยเหมาะของบทความหนังสือพิมพ์ แต่กระนั้นก็ตาม ข้อวิพากษ์ของข้าพเจ้าต่อระบบจำนวนมากที่กล่าวถึงโดยเฉพาะการละเลยและการรังเกียจต่อจิตวิทยานั้น จะไร้ความหมายหากข้าพเจ้าจะไม่ต่อท้ายด้วยข้อแนะนำเชิงบวก เป็นเวลานานแล้วที่ผู้คนใช้คำกล่าว “ทุกคนคือผู้วิจารณ์” แต่ไม่มีใครจะมีสิทธิในการหักล้างบางสิ่งเว้นเสียแต่ว่าตนเองจะเตรียมแนวการดำเนินงานเพื่อสร้างสิ่งอื่นทดแทน รู้จักตนเอง ในบางครั้ง แนวคิดโบราณเป็นทั้งจุดเริ่มและจุดจบของวัฒนธรรมทางกาย ซึ่งขมวดปมความต้องการและวัตถุประสงค์ ตัวมนุษย์เองคือนายช่างใหญ่ของการพัฒนาร่างกายมนุษย์ สิ่งสำคัญแรกสุดในการพัฒนาตนเองอย่างมีประสิทธิผลคือ การรู้จักตนเอง โดยไม่ต้องกล่าวว่า พวกเราจะไม่พูดเกี่ยวกับระยะเริ่มต้นของการศึกษาปฐมวัย ถึงแม้ครูอาจใช้ข้อมูลเชิงจิตวิทยาและสรีรวิทยา รวมทั้งการสะสมประสบการณ์และการสังเกตเพื่อประโยชน์สำคัญในช่วงวัยนั้น แต่ความร่วมมือจากเด็กต่อการดำเนินงานคงเป็นสิ่งที่วางแผนไม่ได้ ทั้งนี้ จิตสำนึกจะตื่นรู้ในตัวเด็ก ในกรณีใดก็ตาม คำเตือนให้ “รู้จักตนเอง” จะเกิดความหมายสมบูรณ์เชิงค่านิยมในวัยรุ่น ความทะเยอทะยาน ความแข็งแรงและความอ่อนแอ ภารกิจต่อไปคือ การมุ่งความสนใจไปที่ความทะเยอทะยาน จุดแข็งและจุดอ่อนของบุคคล …