จากบทเรียนการเลือกตั้งผู้นำสมาคมกีฬา ที่การคัดกรองผู้เลือกอ่อนแอจนเอื้อให้เกิดความไม่สง่างาม จึงต้องตามติดว่า กกท.จะมีมาตรการแก้ไขอย่างไร

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ในวาระการประชุมใหญ่ของสมาคมกีฬาต่าง ๆ ที่จะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาคนใหม่ ถือเป็นเรื่องสำคัญ บางสมาคมกีฬาก็แทบจะหาคนมานั่งทำงานนายกไม่ได้

แต่บางสมาคมกีฬาตำแหน่งนายกฯก็เป็นที่ถวิลหา มีผู้เสนอตัวมากกว่า 1 คน ซึ่งผู้ที่สนใจจะสมัครต้องหาเสียง หาพวกจากสมาชิกที่มีสิทธิในการออกเสียงเพื่อให้มาเลือกตัวเอง นั่นคือวิถีทางของ “ชาวกีฬา” ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กำกับดูแล ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทยให้อำนาจไว้

Station-THAI ติดตามเรื่องราวการเลือกตั้งนายกสมาคมของสมาคมกีฬาโดยเฉพาะสมาคมที่เป็นแห่งประเทศไทย สิ่งที่พบว่ายังเป็นความคลุมเครือมากที่สุดคือ เรื่องของผู้มีสิทธิออกเสียงได้ในการเลือกตั้งได้ นั่นคือสมาชิกของแต่ละสมาคมกีฬานั้น ๆ ซึ่งมีระเบียบ ข้อบังคับของสมาคมกีฬานั้น ๆ ที่แตกต่างกันไป แต่ก็มีจุดสำคัญที่เหมือน ๆ กัน ในการกำหนดคุณสมบัติสมาชิก การเป็นสมาชิก และการพ้นสภาพการเป็นสมาชิก ที่สมาคมแต่ละแห่งระบุคล้าย ๆ กัน เช่น สมาชิกนั้นต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสมาคมกีฬาในช่วงเวลาที่กำหนด มีการเสียค่าสมาชิก หรือการให้ความร่วมมือกับสมาคมกีฬานั้น ๆ ต่อเนื่อง และหากว่าสมาชิกนั้นไม่ทำตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม “สมาชิกนั้นจะพ้นสภาพ” และจะไม่ได้รับสิทธิใด ๆ ในการร่วมกิจกรรมของสมาคม แม้แต่ การออกเสียงเลือกตั้ง

นั่นคือกระบวนการที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ที่กำกับดูแล มอบให้แต่ละสมาคมจัดการดูแลกันตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม ที่สมาคมเป็นผู้สร้างข้อตกลงนี้ขึ้นมาในกลุ่ม โดยทั่วไป “นายทะเบียนสมาคม” จะเป็นผู้ดูแลเรื่องการเข้า-การออกของสมาชิก

ในการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย หลายที่ ยกตัวอย่างได้ชัดๆ เพราะมีหลักฐานชัดเจนในมือคือ ของสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมา ระบบการจัดการเรื่องสมาชิก “ล้มเหลว” จะโดยเจตนาหรือไม่รู้ความก็ว่าไป เพราะพบข้อมูลชัดตามระเบียบข้อบังคับสมาคมที่มีว่า สมาชิกที่ควรจะพ้นจากการเป็นสมาชิกและไม่ควรมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง “จำนวนมาก” ทั้งประเภทไม่เคยจ่ายค่าสมาชิก ไม่เคยส่งนักกีฬาร่วมในกิจกรรมสมาคมในเวลากำหนด หรือแม้กระทั่งสโมสรที่เลิกไปแล้ว หรือคนที่มีอำนาจในสโมสรเปลี่ยนไปแล้ว หรือแม้กระทั่งตายไปนานแล้ว ยังมีสิทธิมาเลือกหรือมีการมอบหมายให้ “คนอื่น” มาออกเสียงแทนได้….ซึ่งก็ว่ากันไปเมื่อผ่านแล้วก็ผ่านเลย แต่ก็ต้องถามผู้เกี่ยวข้องว่าควรแก้ไขไหม หรือควรปล่อยเรื่องพรรค์นี้เกาะเคียงข้างกับการเลือกตั้งผู้นำกีฬาไหม

ส่วนตัวมองว่าควรแก้ไข ทำให้ถูกให้ดี มีความเป็นมืออาชีพด้วยจิตใจ เพราะบางทีก็มองว่าเป็นปัญหา เพราะที่มาของการเลือกไม่ถูกต้องแล้วการได้มาจะดีเด่นตามเจตนารมณ์ของวงการกีฬาได้อย่างไร

เขียนวันนี้ นึกถึงการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาบิลเลียด ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 ส.ค.นี้ที่มี “คู่แข่ง” ลงเสนอตัวอาสา แต่เรื่องการมีคู่แข่งเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนที่น่ามองคือเรื่องการพิจารณาสิทธิของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง 15 เสียงนั้น ย่อมเป็นที่น่ามอง ว่าจริง ๆ แล้วนั้น “ทุกเสียง” ผ่านเพราะปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมจริงแท้หรือไม่ เพราะตัวอย่างมันเคยมี ซึ่งหลายสมาคมที่มีความ “ล้มเหลว” ในความเข้มงวดนี้ทพให้เห็นมาก่อน เมื่อมีโอกาสพูดถึงเรื่องนี้จึงอยากเห็นการได้มาซึ่งความชัดเจนถูกต้องในทุก ๆ สมาคมกีฬาในอนาคตต่อไป เพราะสมาชิกดีมีส่วนร่วม สมาคมก็จะเจริญงอกงาม การมีสมาชิกผีเพื่อซื้ออำนาจมันเป็นแค่บ่อนทำลาย

ที่เขียนวันนี้ (ย้ำอีกครั้ง) ว่า...ที่เอ่ยมาเป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องภายในของสมาคมที่ กกท.วางใจให้อิสระในการดำเนินการ แต่งานในภาพรวมทั้งหมดของสมาคมกีฬา กกท.ก็คงหนีไม่พ้นการกำกับดูแล เพราะถ้าต้นทางดีปลายทางก็ดีต่อวงการกีฬาทั้งมวล

ในวันนี้ หรืออนาคตข้างหน้า จึงฝากและอยากเห็น กกท.สร้างบทบาทที่เข้มแข็งในการกำกับดูแล สมาคมกีฬา เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีคนกีฬาไม่ให้ทำกันอย่างมักได้มักง่าย และป้องกันการได้มาของผู้นำในวงการกีฬาในระดับที่เป็นพื้นฐานวงการกีฬาที่สำคัญอย่างสมาคมกีฬาซึ่งควรถูกต้องชอบธรรม เช่น กกท.การร่วมตรวจสอบเอกสาร ความถูกต้องของสมาชิกที่ชัดเจนแบบเอาจริงไปพร้อมกันกับการดำเนินงานตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมกีฬา ที่ต้องยอมรับว่ายังมีพวกอาศัยช่องว่างนี้สร้างความชอบธรรมอยู่มาก การตรวจสอบก่อนที่จะรับรองย่อมเป็นมาตรการที่ กกท.ต้องควรทำ เหมือนคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ทำในการเลือกตั้งสนามใหญ่ ตรวจสอบก่อน-ร่วมสังเกตการณ์-และตรวจสอบหลัง ดูข้อร้องเรียน (ถ้ามี) ก่อนการพิจารณารับรองการเลือกตั้ง

เพราะเชื่อว่าการมีผู้กำกับดูแลที่ดี ใส่ใจ เข้มงวดในกติกา จะเป็นจุดหนึ่งของการร่วมพัฒนาวงการกีฬาที่ดีจากความชอบธรรม…หาก กกท.ย้อนมองการแสดงบทบาทตัวเองที่ผ่านมา ก็คงรู้ว่าเราเองเอาจริงแค่ไหน ในเรื่องที่ฝากวันนี้.

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!