วิชาชีพครู ไม่ใช่มีแต่กำเนิด แต่เกิดจากการฝึกฝน
………………………………………
ครู ผู้อุทิศตน ตั้งแต่ตัดสินใจที่จะเป็นครู นั่นหมายถึง การตัดสินใจมุ่งอุทิศ เวลา ความรู้ ความสามารถ แรงกายและแรงใจให้แก่เด็ก ๆ ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น ครูต้องใช้เวลาในการศึกษาหาความรู้ เรียนรู้ และฝึกฝนตนเองเพื่อเป็นผู้มีความสามารถและเชี่ยวชาญในการสอนและพัฒนาเด็ก ผู้เป็นอนาคตของชาติ ในการฝึกฝนในวิชาชีพครูต้องฝึกทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่มีทั้งกระบวนการสอน และทักษะและเทคนิคการสอน รวมถึงการจัดการต่าง ๆ ซึ่งใช้เวลาไม่น้อย ครูต้องเก็บเกี่ยว ฝึกฝนวิชาความรู้ จนพร้อมปฏิบัติการสอน โดยมีใบประกอบวิชาชีพที่เป็นเครื่องหมายยืนยันว่า ครูเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม พร้อมที่จะแนะแนว นำพาเด็ก ๆ ในช่วงวัยต่าง ๆ เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างเหมาะสม
ในยุคสมัยนี้ เป็นยุคที่มีข้อมูลข่าวสารมากมาย มีเรื่องราวที่เกิดใหม่ในทุกวัน จึงเป็นยุคสมัยแห่งการเรียนรู้ไม่ใช่เพียงแต่เด็ก แต่ครูก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ครูมิใช่ผู้รู้ทุกอย่าง แต่เป็นผู้ที่ชี้แนวทางในการศึกษาหาความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ พร้อมรับฟัง สังเกต ส่งเสริม และให้กำลังใจให้เด็กใฝ่ศึกษา
เมื่อกล่าวถึงความท้าทายในวิชาชีพ ครูหลายคนอาจต้องเจอกับความท้าทายที่หลากหลาย ตัวอย่างหนึ่งคือ ความจำเป็นต้องสอนในวิชาที่ไม่ถนัด หรือไม่ชอบ เหมือนเป็นยาขมของครูเลยก็ว่าได้ แต่…ด้วยความเป็นครูแล้วนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ผู้เขียนมีโอกาสพบเจอกับครูปฐมวัยและประถมศึกษาจากหลายๆโรงเรียน ที่มีความจำเป็นต้องสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็ก ๆ โดยที่ตนเองคิดว่าไม่สามารถสอนได้ หลายคนกังวลใจ จนถึงถอดใจ แต่หลายคนก็ฮึดสู้และสามารถทำได้อย่างดี ผู้เขียนได้ถอดบทเรียนการพัฒนาภาษาอังกฤษและการสอนภาษาอังกฤษของครูปฐมวัยท่านหนึ่ง ที่เริ่มจากศูนย์ มีน้ำตาปรากฏในแต่ละครั้งที่สอน แต่ด้วยหน้าที่ ความรับผิดชอบ และความรักในวิชาชีพและเด็ก ๆของท่านอย่างมากล้น จึงมุมานะ ไม่ย่อท้อ หมั่นฝึกหัด ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง พยายามถามผู้รู้ ขอคำแนะนำจากเพื่อนครู และพยายามศึกษาคู่มือการสอนอย่างถ่องแท้ ศึกษาสื่อการสอนทุกอย่าง พยายามฟัง เลียนเสียงภาษาอังกฤษ เปิดหาข้อมูลต่าง ๆ จวบจนเวลาผ่านไปหลายปี จึงได้เห็นพัฒนาการด้านการสอนของครู ความมั่นใจ พร้อมรอยยิ้มแห่งความสุขของท่าน
เมื่อศึกษาถึงวิธีการในการพัฒนาการสอนของครูท่านนี้ ก็นึกถึงทฤษฎีการเรียนรู้ 3 ด้าน คือ พุทธิพิสัย ทักษะพิสัย และจิตพิสัย ที่มีครบอยู่ในตัวท่าน ผู้เขียนเชื่อว่าครูทุกท่านทราบถึงทฤษฎีการเรียนรู้นี้อยู่เป็นแน่แล้ว โดยมักจะใช้กับเด็ก ๆ ของตนเองอยู่เสมอ แต่หากมองอย่างสากลแล้วนั้น ทฤษฎีดังกล่าวนี้ใช้ได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย แม้กระทั่งครูผู้สอนเอง จากการพัฒนาการสอนของครูท่านนี้ กล่าวคือ ด้านพุทธิพิสัย ครูศึกษาหาความรู้ พัฒนาภาษาอังกฤษอยู่เสมอ จนทำให้มีความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาที่สอน ด้านทักษะพิสัย ครูพยายามหาวิถีทางในการสอนให้ได้มีประสิทธิผล พัฒนาเทคนิคการสอนจนเชี่ยวชาญ สุดท้ายด้านจิตพิสัย ครูมีความฝักใฝ่ในวิชาชีพครู จึงมุมานะในการพัฒนาตนเอง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ จนประสบผลสำเร็จ
จากประสบการณ์ดังกล่าว ครูทุกท่านสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับตนเองได้ตลอดเวลา โดยหมั่นสำรวจตนเองเสมอว่าต้องฝึกฝนเพิ่มเติมในด้านใด ไม่จำเป็นต้องได้รับการบังคับจากใคร หรือเพราะได้รางวัลใดใด ก็สามารถคิดเพื่อพัฒนาตนเองได้อยู่เสมอ สำคัญคือเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง หรือแม้กระทั่งที่ใช้พัฒนาเด็ก ดังเช่น หลักสูตรและสื่อการสอนที่ดี ก็จะทำให้ครูสามารถใช้สมรรถนะการสอนที่ตนหมั่นฝึกฝน ทั้งด้านพุทธิพิสัย ทักษะพิสัย และจิตพิสัยได้อย่างเต็มที่ สุดท้ายจึงฝากเป็นกำลังใจให้ครูทุกท่าน ที่กำลังท้อแท้ ให้เกิดแรงใจในการหมั่นฝึกฝน พัฒนาตนเองอยู่เสมอ
“คนเราไม่ได้เกิดมาเป็นครูที่เก่งหรือยิ่งใหญ่ หากแต่ครูที่เก่งและยิ่งใหญ่ มาจากการพัฒนาตนเองอย่างไม่รู้จบ” เขียนโดย “ครูน้ำตาล” ชุติพัฒน์ แก้วชุ่ม