มวยไทย (1) : ซีเกมส์ก็ไม่มีมิตรแท้ เอเชี่ยนเกมส์ก็ไม่เคยโผล่ โอลิมปิกเกมส์ก็มืดมน แล้วจะไปยังไงต่อ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

บทความนี้เขียนโดยมุมมองเรื่องกีฬามวยไทย ไม่ใช่มุมมองเรื่องของ “การอนุรักษ์” แต่เป็นมุมมองเรื่องของการเดินไปสู่ “ความเป็นเลิศ” ซึ่งหมายถึงการได้เข้าแข่งขันมหกรรมหลักของโลกแห่งกีฬา ในระดับต่าง ๆ ด้วยการยอมรับ

ฉะนั้นแนวทางของความเป็นเลิศ ของมวยไทย จึงหมายถึง มีการจัดมวยไทยที่เป็นทางการในมหกรรมกีฬาระดับภูมิภาค เช่นซีเกมส์ ระดับทวีปอย่างเอเชี่ยนเกมส์ ระดับโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์

ไม่ใช่พวกจัดข้างเคียงมหกรรมเหล่านี้ ซึ่งที่นี่มองแค่ว่า เป็นรายการเกรด บี หรือ ซี ที่เปิดโอกาสให้แต่ละกีฬามีส่วนร่วมในระดับต่าง ๆ เฉย ๆ คือมีมากก็ดีต่อการให้มีชาติเข้าร่วมเยอะๆ เท่านั้น

กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ อย่าง ซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี จึงถือว่าเป็นของจริง

แต่ของจริงก็ยังมีจุดที่เรียกว่า “ง่าย” ต่อการจัดชนิดกีฬาต่าง ๆ อย่างเช่นซีเกมส์ ยังเปิดทางให้กีฬาภูมิภาคให้เจ้าภาพได้เลือกจัด หรือ เอเชี่ยนเกมส์ ก็เปิดทางให้เจ้าภาพหรือกลุ่มเลือกจัดกีฬาของภูมิภาคที่ไม่ใช่กีฬาที่ ไอโอซียอมรับหรือรับรอง

ฉะนั้นมหกรรมกีฬาในกลุ่มนี้ที่แข็งที่สุดคือ “โอลิมปิกเกมส์” ซึ่งกีฬาทุกชนิดอยากที่จะเดินไปให้ถึงการเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่มีการจัดในโอลิมปิกเกมส์อย่างเป็นทางการ เพราะนั่นจะเป็น “เลิศ” ที่แท้จริง…ไม่ใช่อุปโลกน์จัดกันไปในระดับต่างๆ หรือเป็นเกมส์ข้างเคียง

และก็มาถึงประเด็นที่เขียน…คือ..มวยไทย…ก็เป็นหนึ่งในหลายชนิดกีฬาที่อยากเดินสู่โอลิมปิกเกมส์

แต่ก็ต้องรู้ว่าทางเดินของกีฬาที่จะฝันสู่การเป็นตัวเลือกในระดับโอลิมปิกเกมส์ได้ มีหลายเงื่อนไข และหลายปัจจัย ที่จะทำให้ถึงเป่าหมายได้ ไม่ใช่แค่อยากเข้าแล้วเข้าแข่งได้

หนึ่งในปัจจัยง่าย ๆ พื้นฐานของการเลือกคือ “การยอมรับ” ของสมาชิกในระดับต่าง ๆ เช่นในระดับภูมิภาค ระดับทวีป และ ระดับโลก ต้องชัดเจน และต้องต่อเนื่อง เพราะแค่การยอมรับเข้าเป็นสมาชิกไม่พอ แต่ต้องมีใจหนุนการพัฒนาด้วย

กลับมามองที่ “มวยไทย” ของเรา แม้ว่าจะมีการระบุว่ามีสมาชิกมากมายในระดับโลกก็ตาม แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ช่วยอะไรในการได้มาซึ่งการยอมรับ “ที่แท้จริง” เพราะทางเดินที่เป็นการยอมรับในระดับภูมิภาค ระดับทวีป ยังไม่มีแวว แล้วจะเดินต่อสู่โอลิมปิกเกมส์ได้อย่างไร…นี่คือคำถาม

 ในซีเกมส์ มวยไทยก่อนจะเข้าก็ไม่ได้ง่ายที่จะเข้าซีเกมส์ได้ เพราะเกิดท่ามกลางเสียงคัดค้านจากสมาชิกอาเซียนบางชาติเรื่องการใช้ชื่อ “มวยไทย” แต่ก็โชคดีที่คุยกันได้ ตั้งแต่ปี 2005 ซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ ก็ได้จัด “มวย” ขึ้น แต่ก็ต้องผ่อนหนักผ่อนเบาแบ่งเหรียญกันไป ให้มีการจัดแข่ง “ไหว้ครู” ร่วมไปกับการต่อสู้ จึงอยู่กันได้มีการจัดบ้าง ไม่จัดบ้าง เปลี่ยนชื่อเป็นมวยลาวบ้างเมื่อปี 2009 ก็ว่ากันไป จนมาถึงซีเกมส์ครั้งที่ 32 ซึ่งกัมพูชาจะจัดในปีนี้ ที่กัมพูชายืนยันจะใช้ชื่อ “กุนขะแมร์” และไทยประกาศไม่ส่งร่วมเพราะไม่มีสหพันธ์กีฬานานาชาติรับรอง….นี่คือ เรื่องของความไม่มีมิตรแท้ เพราะเพื่อนบ้านส่วนหนึ่งทำเหมือนไม่อยากให้คำว่ามวยไทยรุ่งเรืองในแถบนี้ จึงมักจะมีข้อต่อรองในการจัดคือต้องสมประโยชน์ด้วยและมีข้อขัดแย้งอยู่เนืองๆ

ในระดับเอเชีย ในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ในปี 1998 หรือ พ.ศ.2541 มีการสาธิตกีฬามวยไทย เพราะไทยเป็นเจ้าภาพ แต่หลังจากนั้น สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย แม้จะรับรองมวยไทย ในชื่อ “มวย” แต่ก็ไม่เคยมีการจัดแข่งแบบสาธิตหรือเป็นทางการต่อจากนั้นอีกเลย…นี่คือการที่มวยไทยโดนฝังเบ็ดเสร็จในเอเชี่ยนเกมส์

ในส่วนระดับโลก...โอลิมปิกเกมส์นั้น มวยไทยแม้ได้รับการ “รับรอง” เป็นกลุ่มกีฬาที่สามารถเลือกจัดได้สำหรับเจ้าภาพแล้ว แต่ไม่ต้องพูดถึงที่ปารีส 2024 ในปีหน้าเพราะการเลือกชนิดกีฬาผ่านไปแล้ว ก็ไม่มีจัดแน่ แม้แต่ที่ ลอสแองเจลีส 2028 ในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็มีการเลือกกลุ่มชนิดกีฬาที่ได้เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกแล้ว แต่ก็ไม่มี “มวยไทย” ฉะนั้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มคือไม่มีการจัดที่โอลิมปิกเกมส์ 2028 แน่นอน

นี่คือเส้นทางที่มืดมน บนการลุ้นของคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการคิดแบบมีหลักการ มีแนวทาง หรือแค่สร้างฝันของผู้เกี่ยวข้องไปวันๆ ก็ไม่รู้ จากอดีตจนถึงปัจจุบันสำหรับ “มวยไทย”

#ตอนต่อไปจะเจาะลึกให้ฟังว่า ความมืดมน ในเส้นทางโอลิมปิกเกมส์ ชัดๆ…ว่ามันคืออะไร ทำไมถึงมีคนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นกล้าบอกว่า “คนมวยยุคนี้ตายไปก็คงไม่ได้เห็นการยืนในโอลิมปิกเกมส์ของมวยไทย” ฟังแล้วเชื่อไม่เชื่อ หรือแนวโน้มจะเป็นจริงไม่จริง ต้องติดตามครับ

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!