ตอนที่ 17 : การกีฬากับจริยธรรม : หนังสืออุดมการณ์โอลิมปิกของคูเบอร์แต็ง : แปลโดย : ดร.นิพัทธ์ อึ้งปกรณ์แก้ว

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

การกีฬากับจริยธรรม

            ประเด็นจริยธรรมได้รับความสนใจในบางคราวและการสนับสนุนอย่างไม่เต็มใจจากการออกกำลังกาย กล่าวโดยสรุป การกีฬาเป็นเพียงสิ่งเร้าทางอ้อมต่อจริยธรรมเท่านั้น เพื่อจะทำให้การกีฬาเป็นสิ่งเร้าทางตรงนั้น พวกเราต้องทำให้เป้าประสงค์ของการกีฬาเป็นการสร้างสำนึกต่อความสมัครสมานสามัคคีซึ่งจะทำให้การกีฬามุ่งหน้าไปไกลกว่าที่เคย สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญต่อบูรณาการระหว่างการกีฬากับจริยธรรม

            ณ การประชุมและพิธีมอบรางวัล ผู้กล่าวสุนทรพจน์ทั้งหลายได้แสดงความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ในหัวข้อนี้ซึ่งเป็นดั่งการประกาศเกียรติคุณ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสนับสนุนยังคงไม่หนักแน่นเพียงพอ โดยเหตุนี้ พวกเราจึงติดหนี้บุญคุณของเรือเอกเอแบรต์ (นายทหารเรือฝรั่งเศส) ซึ่งเขียนเอกสารที่น่าสนใจเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นชายและ “ภารกิจทางกาย” ซึ่งท่านได้นิยามภารกิจเหล่านี้อย่างละเอียด

            เอแบรต์ได้สรุปหน้าที่ดังกล่าวไว้เป็นกฎสองข้อกล่าวคือ จงใช้ทุกวิถีทางที่จำเป็นในการพัฒนาความสามารถของร่างกายท่านและจงรักษาความสามารถเหล่านี้ด้วยการหลีกเว้นจากสิ่งบั่นทอน โดยจะไม่เคยมีสะพานที่ถูกสร้างขึ้นจากฟากหนึ่งของแม่น้ำสู่อีกฟากหนึ่งซึ่งสั้นกว่านี้อีกแล้วระหว่างการกีฬากับจริยธรรม การหลีกเว้นจาก “สิ่งบั่นทอนความสามารถทางกาย” คือการหลีกเว้นจากความมากเกินควรของทุกสิ่ง ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นกฎที่เห็นได้ชัดของจริยธรรมบริสุทธิ์โดยพวกเราจะได้พบข้อจำกัดที่เป็นนัยของคำกล่าวนี้

            ยังไม่เคยมีการบังคับใช้กฎในลักษณะนี้ การมองย้อนกลับไปที่อารยธรรมกรีกโบราณจะไม่เกิดผลใดในการค้นหาร่องรอย ชาวกรีกไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงนักในเรื่องนี้ จิตสำนึกต่อดุลสังคมในระดับสูงมักทดแทนประมวลจริยธรรม ยิ่งไปกว่านั้น อารยธรรมของพวกเราคงจะดีขึ้นหากปฏิบัติตามแนวทางในเรื่องนี้ของชาวกรีกโบราณ อารยธรรมของพวกเราจะถอดหลักพื้นฐานของความยืดหยุ่นที่พึงประสงค์จากพวกเขา แต่ไม่ใช่มาตรฐานจริยธรรมที่สูงส่งกว่า นอกจากนี้ วัฒนธรรมกีฬาในประเทศกรีซก็ไม่เคยเป็นที่แพร่หลายดังความเชื่อของพวกเรา หากพวกเราเพ่งพินิจจะพบว่า ผู้เขียนจำนวนมากสื่อถึงความเห็นแพร่หลายของมติสาธารณะที่รังเกียจการออกกำลังกายมาโดยตลอด ยิ่งกว่านั้น คนที่ออกกำลังกายไม่ได้รับการยกย่องให้เป็นตัวแบบของความดีงามและความสันโดษ แม้จะเป็นประเทศอังกฤษซึ่งเข้มแข็งที่สุดในการกีฬาในสมัยพวกเรา ก็อาจเกินไปที่จะกล่าวว่า หากตีความภาษาอย่างเคร่งครัดที่สุดแล้ว นักกีฬามีความดีงามกว่าพลเมืองอื่น ดังนั้น แม้บางครั้งบุคคลจะปฏิบัติ “ภารกิจทางกาย” ในส่วนแรกที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงข้างต้น แต่ทั่วไปแล้ว เขาจะไปไม่ถึงข้อจำกัดทั้งหลายของส่วนหลัง ในทุกแห่ง บางคนก็ “ใช้ทุกวิถีทางที่จำเป็นในการพัฒนาความสามารถของร่างกาย (พวกเขา)” แต่การรักษาความสามารถทั้งหลายนั้น คนเหล่านั้นไม่ได้ “หลีกเว้นจากสิ่งบั่นทอนความสามารถทางกาย” ข้อคำนึงต่อจริยธรรมได้รับความสนใจในบางคราวเท่านั้นและการสนับสนุนอย่างไม่เต็มใจจากการออกกำลังกาย เป็นที่พบว่า การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อการพัฒนาความดีงามโดยการผ่อนคลายความรู้สึก การควบคุมจินตนาการ และเวลาว่างของเยาวชน แต่นอกเหนือจากช่วงเวลาสั้นของการฝึกฝนหรือการบังคับจากผลประโยชน์ทางอาชีพโดยนับตั้งแต่ความปรารถนาธรรมดาจนถึงความสมบูรณ์ของร่างกายตนเองแล้ว พวกเรายังไม่พบบุคคลที่สมัครใจต่อการหลีกเว้นจากการกระทำที่อาจส่งผลและบั่นทอนความสมบูรณ์นั้นเลย

            เนื่องเพราะพวกเราไม่เคยเห็นพฤติกรรมข้างต้น จึงต้องสรุปว่าไม่มีพฤติกรรมนี้หรือไม่? ในเบื้องต้น พฤติกรรมนี้เป็นที่น่าปรารถนาหรือไม่? พวกเราจักต้องตอบคำถามนี้ก่อนอื่นใด

            ข้อจำกัดคาดหมายได้ถึงการขยับขยายให้ดีขึ้น อะไรคือการพัฒนาในสถานการณ์เช่นนี้? ซึ่งอาจมีหลายประการตัวอย่างเช่น อรรถประโยชน์นิยม หรือปรัตถนิยม หรือแม้กระทั่งความเห็นแก่ตัว พวกเราอาจจินตนาการอย่างรวดเร็วถึงบุคคลที่ “ใช้ทุกวิถีทางที่จำเป็นในการพัฒนาความสามารถของร่างกายตนเอง” ด้วยแรงจูงใจจากความได้เปรียบที่เขาอาจได้รับและอภิสิทธิ์เหนือกลุ่มเพื่อนจากความได้เปรียบนั้นซึ่งเป็นมุมมองที่ชอบธรรมและมีประสิทธิผล พวกเรายังสามารถจินตนาการว่า เขาอาจมุ่งเป้าหมายนั้นด้วยความปรารถนาดีที่จะเป็นประโยชน์และก่อให้เกิดคุณแก่กลุ่ม แต่ทั้งสองกรณีนี้ บุคคลอาจไม่จำเป็นต้องหลีกเว้นจากสิ่งที่มากเกินควรทุกประการเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสามารถที่ตนมี คนใฝ่สูงและทุ่มเทจะเป็นพวกมากล้นเพราะพวกเขาจะใช้ความพยายามอย่างสิ้นเปลืองกล่าวคือ การทุ่มพลังสุดตัวหรือแม้กระทั่งแรงปรารถนาต่อความสมัครสมานและมิตรภาพฉันพี่น้อง บุคคลเดียวที่จะไม่ข้องแวะความมากล้นเหล่านี้จะเป็นคนที่สามารถควบคุมตนเองอย่างเข้มแข็งเหนือแรงปรารถนาที่เกิดขึ้นหรือเอาชนะความลุ่มหลงมัวเมา แต่คนนี้จะไม่ใช่ปิศาจหรือ? เขาอาจจะเป็นยอดมนุษย์ของนิทเชอในบริบทวัฒนธรรมทางกาย ด้วยความปลาบปลื้มในร่างกายตนเองซึ่งกลายเป็นตัวแบบ เขาอาจจะยอมลดทุกสิ่งทีละน้อยแก่ความหมกมุ่นต่อการพัฒนาและรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของร่างกาย ความคิดของเรากำลังเคลื่อนสู่ความโกลาหล ความโหดเหี้ยมและความป่าเถื่อนที่เป็นไปได้อย่างแท้จริงที่ธรรมชาติมนุษย์ซึ่งได้รับอิทธิพลแบบนี้จะมีขึ้น เพียงจำนวนน้อยของผู้คนเช่นนี้ในฝูงชนจะส่งผลกระทบรุนแรงทำให้เกิดรอยประทับสำคัญในสังคมสมัยของพวกเขา

            ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วถึงความเป็นไปได้แน่นอนที่สิ่งมีชีวิตลักษณะนี้จะเกิดขึ้น แม้จะไม่มีใครปรากฏชัดเช่นนี้ในอดีต แต่ก็มีตัวอย่างที่ผ่านมาบ้าง สถานการณ์ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะนิยมปรากฏการณ์นี้อย่างแน่ชัด ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มอบความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับร่างกายและขอบเขตกว้างขวางของแนวทางสู่วัฒนธรรมทางกายที่น่าชื่นชมแก่บุคคล นอกจากนี้ แนวทางที่ไม่ชัดเจนและน่าเสียใจต่อศาสนาก็หมายถึงการมีอยู่ของพื้นที่ว่างสำหรับศาสนาใหม่ หรือแนวทางใหม่ต่อศาสนา เมื่อคนหันหลังให้พระเจ้า สิ่งธรรมดาที่สุดสำหรับเขา จะไม่ใช่การกลับมานับถือตนเองหรอกหรือ?

            กลุ่มคนที่มีศรัทธาใน “ความดีงามของธรรมชาติ” ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์ของ ฌอง-ฌากส์ รุสโซ ไม่ยี่หระต่อความกลัวเหล่านี้ พวกเขาสับสนระหว่างพลศึกษากับจริยศึกษาโดยซ่อนมายาคติที่ว่า แม้จริยศึกษาจะไม่ขับเคลื่อนพลศึกษา แต่พลศึกษาก็นำมาซึ่งจริยศึกษา สิ่งที่พวกเขาประจักษ์นั้น นักพลศึกษามีชัยอย่างเข้มแข็งเหนือความดีงาม สำหรับเขาแล้ว การนับถือร่างกายจะไม่มีอันตรายใดเนื่องเพราะศาสนาประกอบไปด้วยมาตรการตอบโต้

            สิ่งทั้งปวงนี้เป็นความสับสนปนเประหว่างคุณลักษณะกับความดีงาม คุณภาพต่างๆของคุณลักษณะไม่ขึ้นอยู่กับจริยธรรมโดยสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่องค์ประกอบของกรอบสามัญสำนึก คุณลักษณะเหล่านี้คือ ความหาญกล้า ความทรงพลัง เจตจำนง ความอุตสาหะและความอดทน อาชญากรตัวร้ายและแม้กระทั่งคนใจมารล้วนมีคุณลักษณะเหล่านี้ซึ่งสามารถนำไปใช้ในทางชั่วเช่นเดียวกับทางดี นี่คือเหตุผลในความผิดพลาดและความเดือนร้อนของแนวคิดพัฒนาการจริยธรรมผ่านพัฒนาการร่างกายโดยตรงที่เกิดจากความเชื่อต่อมนุษย์ “มาตรฐาน” ซึ่งเป็นอันตรายตามที่ข้าพเจ้าได้บันทึกและท้าทายมาก่อนนี้ มนุษย์คือส่วนผสมขององค์ประกอบต่างๆที่มีปฏิกิริยาต่อกันซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนกันและกันได้ โดยตัวเองแล้ว ความสมบูรณ์ของร่างกายไม่สามารถนำมาซึ่งความสมบูรณ์ของสติปัญญาหรือจิตใจ

            ข้างต้นคือเหตุผลที่ทำให้คำกล่าวเกี่ยวกับภารกิจของร่างกายซึ่งข้าพเจ้ายกขึ้นมาอภิปรายนั้น ไม่ถูกต้องและต้องแก้ไขเป็น “จงใช้ทุกวิถีทางที่จำเป็นในการพัฒนาความสามารถของร่างกายท่านเพื่อนำไปใช้แก่ประโยชน์ส่วนรวม และจงรักษาความสามารถเหล่านี้ด้วยการหลีกเว้นจากสิ่งบั่นทอนที่ไร้สาระ” ซึ่งควรเป็นประโยคเช่นนี้ คำธรรมดาเหล่านี้ที่เพิ่มเติมในข้อความเดิมจะทำให้ทุกสิ่งกลับคืนสู่ความเหมาะสมโดยการล่ามโซ่ “ยอดมนุษย์” ที่ไม่ดีในเตียงของตนไว้ หลักปรัตถนิยมที่ป่าวประกาศเช่นนี้อาจแลดูไร้เดียงสาและจะเป็นเช่นนั้นบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นหัวใจหลัก เมื่อมติสาธารณะเริ่มพิจารณามาตรการแก้ไขส่วนนี้ของกฎปัจเจกนิยมของวัฒนธรรมทางกายซึ่งมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธบุคคลใดก็ตามที่ละเมิดกฎนั้นอย่างเปิดเผยเกินควรซึ่งหมายถึงการปฏิเสธทุกรูปแบบของปรัตถนิยมให้อยู่ภายใต้การพัฒนาตนเอง คำว่า “ไร้สาระ” เน้นย้ำสถานะพึ่งพาที่กล้ามเนื้อจักต้องเคารพความคิดและความรู้สึกอยู่เสมอ รวมทั้งอรรถประโยชน์ของสังคมด้วย

            กล่าวโดยสรุป การกีฬาเป็นเพียงสิ่งเร้าทางอ้อมต่อจริยธรรมเท่านั้น เพื่อจะทำให้การกีฬาเป็นสิ่งเร้าทางตรงนั้น พวกเราต้องทำให้เป้าประสงค์ของการกีฬาเป็นการสร้างสำนึกต่อความสมัครสมานสามัคคีซึ่งจะทำให้การกีฬามุ่งหน้าไปไกลกว่าที่เคย สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญต่อบูรณาการระหว่างการกีฬากับจริยธรรม 

            ท้ายนี้ ท่านจะสังเกตต่อแนวทางการศึกษาของข้าพเจ้าที่ใช้คำว่า “การกีฬา” กับ “วัฒนธรรมทางกาย” สลับสับเปลี่ยนไปมา ก็ด้วยข้าพเจ้ามีเหตุผลว่า สองคำนี้แตกต่างกันแต่ในทางทฤษฎีเท่านั้น ตามหลักการแล้ว วัฒนธรรมทางกายแยกขาดจากการกีฬา แต่ในทางปฏิบัติ จะไม่มีวัฒนธรรมทางกายโดยสมัครใจใด (วัฒนธรรมทางกายที่เข้มข้นคือรูปแบบเดียวที่เรือเอกเอแบรต์ให้ความใส่ใจ) ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับมิติการกีฬา  

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!