เมื่อถึงเวลานี้ ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า จะเป็นช่วงกำลังหมดเวลาของรัฐบาลชุดเดิม แม้ว่าจะเหลือกระบวนการต่าง ๆ อีกพอสมควรก็ตาม
ซึ่งก็ทำให้มองเห็นว่า การเปลี่ยนแปลง “ฝ่ายบริหาร” ประเทศตำแหน่งรัฐมนตรีต่าง ๆ และ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ในกลุ่มของ ส.ส. ซึ่งหมายถึงกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ที่มาโดยตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องในแต่ละตำแหน่ง….มีแน่นอน (แม้ว่าจะมีการตั้งคนเดิม แต่ก็ต้องมีการแต่งตั้งใหม่)
และที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬานั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนไหนบ้างหากได้ ส.ส.ชุดใหม่ และ รัฐบาลชุดใหม่…”ถ้ามีคำถามอย่างนี้ ที่นี่ก็มีคำตอบครับ”
เริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาใหม่จะมีเข้าสู่คณะกรรมาธิการการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร (ที่เราคุ้นชื่อเรียกว่า ส.ส.กีฬา) ชุดใหม่ขึ้นมาตามโควตาพรรคต่างๆ และได้ประธานคณะกรรมาธิการการกีฬาคนใหม่ ตามการจัดสรรส่วนแบ่งตามโควตาพรรคที่ กลุ่ม ส.ส.ตกลงกัน
แต่เรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องยอมรับว่าไม่ใคร่มีอะไรที่น่าสนใจนัก เมื่อเทียบกับส่วนที่สำคัญที่สุดซึ่งทุกคนจับตา คือการเปลี่ยนแปลง ที่มาตามฝ่ายบริหารรัฐบาลที่เกี่ยวข้องมา ในวงการกีฬา หลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว มีรองนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่แล้ว จะมีส่วนใดบ้างที่ต้อง “เปลี่ยนหัว” หรือเปลี่ยนขั้วอำนาจตามมาบ้าง
ประเดิมจากคณะใหญ่ ที่อาจจะไม่ค่อยมีใครรู้จักหรือใส่ใจนัก ที่ต้องเปลี่ยนระดับหัวแน่ ๆ คือ คณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ มีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นรองประธาน
ต่อจากนั้นที่ “ต้องเปลี่ยน” คือ ในคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ด กกท.) ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน และ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรองประธาน
จากนั้นที่ต้องเปลี่ยน คือ ในคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ที่มีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นประธาน
จากนั้นไปต่ออีก คือ เปลี่ยนในคณะกรรมการกีฬามวย ที่มีนาย พิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นประธาน
เปลี่ยนอีกต่อไปคือ ในคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (บอร์ด กองทุน) ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการ
แล้วผลพวงที่ตามมาหลังจากมีการแต่งตั้งผู้ที่มาใช้อำนาจการบริหารจากตำแหน่งทางการเมืองในคณะต่าง ๆ แล้วนั้น ส่วนที่สำคัญที่สุดซึ่งถือเป็นมารยาท ก็คือ บุคคลที่ถูกแต่งตั้งโดยชื่อ ในคณะกรรมการ หรือ คณะต่าง ๆ หรือตั้งให้มีหน้าที่ต่าง ๆ เช่นเป็นที่ปรึกษา เป็นคณะทำงาน หรือ กลุ่มคณะอนุในคณะกรรมการ ที่ถูกตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มนักการเมืองคนเดิม ก็ต้องทยอยกัน “ออกไป” จากคณะต่าง ๆ ที่ถือเป็นเรื่องต้องทำทันที…เว้นแต่ผู้นั้นซึ่งรู้ตัวเองดีว่ามาจากไหนเพราะอะไร จะ “ด้านหน้า” อยู่ต่อไปก็แล้วแต่จะคิดได้
นี่คือคร่าว ๆ ของตำแหน่งต่างๆ ในวงการกีฬา ที่มาจากฐานอำนาจทางการเมือง ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงแน่ ๆ หลังจากมีการแต่งตั้ง “รัฐบาล” ชุดใหม่ครับ.