“เงินกองทุนกีฬา” เมื่อเจอเหตุต่าง ๆ ทั้งมั่วนิ่ม ทั้งเจตนาโกย-กวาด ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างปัจจุบัน ถึงจะมีปีละ “แสนล้าน” ก็ไม่พอและยังจะมีปัญหา!

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

     เรื่องของดาราดัง ออก Social เรื่องของการไม่ได้รับการสนับสนุนเงินรางวัลจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่เป็นกระแสและสุดท้ายจะลงเอยอย่างไรก็ว่ากันไปตามที่จะสรุปกันในข้อเท็จจริง

     แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะที่ผ่านมา มีข่าวมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่มีมากจากหลาย ๆ มุม ที่ดูเหมือนจะมีปัญหาต่อการได้ “เงินกองทุน”

     ย้อนกลับไปลองวิเคราะห์ปัญหาความไม่เข้าใจเหล่านี้ จะพบว่ามาจาก 1.ความไม่เข้าใจของสมาคมกีฬา ทั้งที่กองทุนและ กกท.นั้นได้จัดสัมนาซักซ้อมความเข้าใจในระเบียบการให้รางวัลให้กับทุกสมาคมมาตลอด แต่การถ่ายทอดบอกต่อกันอาจจะไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับทีมงาน และปัญหาที่ 2. เกิดจากการเจตนา “มั่วนิ่ม” ของผู้เกี่ยวข้องเพื่อการได้เงิน

     เรื่องเจตนามั่วนิ่มนี่สำคัญ

     โดยการมั่วมีกรณีตัวอย่าง จากบางสมาคมกีฬาซึ่งที่ผ่านมามีทั้งเรื่องของการอุปโลกน์ หรือการปิดบังข้อมูลที่ถูกต้องจากที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่ง ในเรื่องจำนวนชาติที่ร่วมแข่งขัน หรือแม้แต่การเข้าร่วมแข่งประเภทการแข่งขันที่ไม่ได้มาตรฐานสากล รายการไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้ แต่ก็เหมารวมเหมือนแจ้งเท็จหรือพูดไม่หมด เพื่อขอรับเงินรางวัล

     รวมทั้งการเหมารวมรายการระดับแข่งขันเล็กๆ หรือแบบเก็บคะแนน ที่มีมากมายในระดับทวีป หรือระดับโลก เป็นรายการสำคัญที่อ้างอิงการขอรับการสนับสนุนรางวัลทั้งหมดโดยอาศัยแค่ชื่อรายการแข่งแต่ไม่เอ่ยรายละเอียดเนื้อใน

     แม้แต่บางประเภทที่แข่งในรายการแข่งที่สำคัญจริง แต่ประเภทที่แข่งขันนั้น มีคนไม่ครบเกณฑ์ หรือเป็นประเภทเสริมในรายการที่ไม่ได้เป็นประเภทที่เป็นสากล สมาคมที่ส่งนั้นก็พยายามหาข้อมูลเสริม หรืออาศัยการเหมารวมการแจ้งขอรับการสนับสนุนเงินรางวัล

     บางสมาคม ยังสามารถทำให้บางรายการแข่งขัน มีแข่งคนเดียวในบางประเภทกีฬา “ยังสามารถ” สร้างข้อมูลรวมขอเพื่อลุ้นรอดการตรวจสอบเผื่อจะได้

     เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นซึ่งคงเถียงไม่ได้ เพียงแต่จะหาใครกล้ายอมรับหรือไม่ก็เท่านั้น และที่ผ่านมาจนกลายเป็นประเพณีคือ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” จริงๆ

     นี่ไม่รวมถึงบางสมาคม ซึ่งมีการอาศัยอำนาจอ้างอิงต่าง ๆ ทั้งทางการเมือง ทั้งส่วนตัว ใช้การบีบ หรือทางลัด เพื่อขอรับการส่งเสริม สนับสนุน เป็นกรณีพิเศษจากกองทุนอีกก็มากโข

     ถามว่า “สมาคมเหล่านั้นผิดไหม” คำตอบคือไม่ผิดหรอก เพราะเงินเป็นส่วนสำคัญในการทำงานกีฬา ใครก็อยากได้ มีเงินมากก็ส่งแข่งได้มากโอกาสสร้างผลงานก็มาก และขอเงินรางวัลอีกก็มาก ดังนั้นหากมีโอกาสที่จะทำเพื่อสมาคมตนเองก็ต้องทำ ในเมื่อมีช่องทางเปิดให้ และการตรวจสอบอาจจะไม่ทั่วถึง

     เงินกองทุนแต่ละปี และเงินสะสม หมดไปกับ ประเภทที่เรียกว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา หรือ ใครมีโอกาสใด ๆ ก็ใช้โอกาสนั้น ๆ แทรกเข้า “กวาดเงิน” ที่มีอยู่ โดยไม่คำนึงถึงจำนวนเงินที่มี และเพื่อนสมาคมกีฬาประเภทเดียวกันกับตนเองว่าเขามีโอกาสที่จะได้รับการส่งเสริมเช่นตนเองมากน้อยแค่ไหน

     แม้แต่สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด และบุคลากรการกีฬา กลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องได้รับการส่งเสริมจากเงินกองทุนตามสิทธิ ก็ไม่เคยได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่ควรจะได้ตามร้องขอ ซึ่งดูไม่ยุติธรรม

     ที่เขียนถึงเรื่องนี้ ก็เพราะอยากจะสนับสนุนการปรับปรุงระเบียบการให้ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่นอกเหนือจะมีกติกาในพระราชบัญญัติการกีฬาครอบแล้ว ยังถูกกำกับดูแลโดยกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังแบบเข้มข้นด้วย ฉะนั้น “กองทุน” ต้องมีวิธีการบริหารแบบ“ปกป้องเงิน” เพื่อการจัดการที่เหมาะสมและยุติธรรมต่อทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียที่ต้องดูแลแบบทันสมัยและตามทัน

     เงินประมาณ 4,000 ล้านบาท แต่ละปีของกองทุน จะว่ามากก็มาก จะว่าน้อยก็น้อย แต่ไม่ว่าจะมากจะน้อย “วงการกีฬาไทย” หากไม่มีกติกาหรือกฎเกณฑ์การให้ที่ชัดเจน ยังไงก็จะมีปัญหา

     ดังนั้น ข่าวการตั้งคณะทำงานของกองทุน เพื่อรื้อระเบียบ แก้ไข แก้ปัญหาการให้รางวัล เพื่อความยุติธรรม ทันสมัยและรู้เท่าทัน ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาโดยมี หน.คณะทำงานอย่าง นพ.อรรถ นานา คนกลางดูแลอยู่ เรื่องนี้ที่นี่จึงสนับสนุนอย่างยิ่ง และเป็นกำลังใจให้ลุยอย่างกล้าหาญที่จะจัดการวิธีการให้เพื่อมีกติกาที่ดีที่สุดต่อทุกฝ่าย

     พร้อมขอกระซิบถึงฝ่ายบริหารชาติที่จะเข้ามาดูแลกองทุนคนใหม่ เมื่อเข้ามาก็ฝากให้ท่านช่วยพิจารณา เนื่องจากเรื่องนี้เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของท่อน้ำเลี้ยงใหญ่ของวงการกีฬาไทย

     เพราะหากไม่มีกติกาที่ชัดเจนขึ้นใหม่ “เงินกองทุน” ถึงจะมีปีละแสนล้าน ก็ไม่พอและจะยังมีปัญหาต่อไปขอรับ.

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!