รมต.กีฬา สั่งกกท.เคลียร์ข้อครหาใช้เงิน-โอลิมปิคไทยเกินหน้าที่-ไม่มีการประชุมฝ่ายจัด-ฝ่ายกีฬาถูกตัดดิ้นพล่าน แต่ยังไง’เอเชียนอินดอร์เกมส์’ไทยก็น่าจะได้จัด เพราะรัฐยืนยัน และทั้งงาน แล้วก็ผลประโยชน์เดินหน้าแล้ว

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

#ที่มาของเรื่อง

     การที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ครั้งที่ 6

     -ไทยลงนามกับสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA) เพื่อรับเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการ วันที่ 23 เม.ย.2563

     -ไทยเลื่อนมา 4 ครั้ง จากเดิมที่กำหนดจะจัด 21-30 พ.ค.2564 และเจอปัญหาโควิด และปัญหาต่าง ๆ จนกระทั่งสุดท้าย ขอเลื่อนครั้งที่ 4 ที่มติคณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ เมื่อ 23 เม.ย.2567 ซึ่งกำหนดจะจัดเป็น 21-30 พ.ย.2567

#เรื่องเงินค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขัน

     -คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2566 เห็นชอบในกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพ 1,745,002,552 บาท โดยให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ใช้จ่ายจาก 1. เงินนอกงบประมาณ 1,207,011,276 บาท เงินสะสมของ กกท.250,000,000 บาท เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ 937,991,276 บาท และ งบประมาณจากจังหวัดเจ้าภาพ 19,020,000 บาท 2.เงินรายได้จากการจัด จำนวน 202,500,000 บาท และ 3.ขอรับการสนับสนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 335,491,276 บาท ทั้งนี้ให้ใช้จ่ายจากเงินสะสมของ กกท.และเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ รวมทั้งเงินรายได้จากการจัด ในโอกาสแรกก่อนตามความเห็นชอบของสำนักงบประมาณ

     จากนั้นคณะกรรมการบริหารจัดการแข่งขันก็ได้ส่งแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้เงินของคณะกรรมการฝายต่างๆ ในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จากนั้นก็มีการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับแผนงานและงบประมาณ จนมีมติที่ผ่านความเห็นชอบของสำนักงบประมาณแล้ว (พ.ค.2567) พิจารณาปรับลดจำนวนเงินจากเดิม ลงเหลือ 1,398,885,800 บาท ทั้งนี้ให้ใช้จ่ายจากเงินสะสมของ กกท.และเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ รวมทั้งเงินรายได้จากการจัด ในโอกาสแรกก่อน

     นี่คือเรื่องราวส่วนแรกเริ่มเกี่ยวกับงานบางส่วนและเงิน ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการที่ไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนอินดอร์และมาเชียลอาร์ตเกมส์ครั้งที่ 6 ก่อนจะมีปัญหาระอุตามกระแสข่าว ซึ่ง The Station THAI ลองรวม ๆ เหตุการณ์และจากเอกสารที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมาดังนี้

หนังสือของ OCA ถึงไทยเรื่องรับทราบตัด 14 กีฬา

#เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง

     -วันที่ 27 ก.ค.2567 มีหนังสือจาก OCA ถึงรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย และ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ พร้อมสำเนาส่งการกีฬาแห่งประเทศไทย ระบุว่าขอบคุณที่ได้ร่วมคุยกับตัวแทน OCA และสรุปที่จะถอด 14 ชนิดกีฬา และรับทราบการที่จะจัดแค่ 22 ชนิดกีฬาและ 2 กีฬาสาธิต ในครั้งนี้ตามการหารือร่วมกัน

     -วันที่ 7 ส.ค.2567 การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) แจ้งต่อ ต่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรื่องปรับลดงบประมาณการจัดลง ตามที่ตัด 14 ชนิดกีฬาออกไป โดยงบที่ลดลง 179,997,615 บาท และคงเหลือวงเงิน ที่จะใช้จัดการแข่งขันจริงจำนวน 1,218,908,185 บาท

     -วันที่ 14-15 ส.ค.2567 นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ทั้งในนามของโอลิมปิคไทยและนามของ OCA นำตัวแทนสมาคมกีฬาที่โดนตัดออกจากการแข่งขัน “ประท้วง” การตัดสินใจของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ตัด 14 ชนิดกีฬาออก เพราะแค่จะลดงบประมาณลง ทั้งที่มีการเก็บตัวและเสียงบเก็บตัวมาจำนวนมากแล้ว พร้อมทั้งจวกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่าเป็นต้นเหตุแห่งปัญหา และเชื่อว่ามีงบที่หาได้หากจะไม่ตัดกีฬา

     -วันที่ 15 ส.ค.2567 ทางเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ส่งหนังสือถึง OCA ยืนยันเรื่องการจะจัดการแข่งขันตามเดิมเช่นเดิม และจำนวนชนิดกีฬา 38 ชนิดกีฬา โดยไม่ตัดชนิดกีฬาใดๆ ออก และระบุงบประมาณมีแล้ว เพียงแต่ตอนนี้รอการพิจารณาจากคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน 19 ส.ค.2567 นี้ ขอให้ทาง OCA รอการประชุมครั้งนี้ก่อนพิจารณาใดๆ และทาง OCA ก็ได้มีหนังสือแจ้งมาถึงไทยว่า ยินดีจะรอความชัดเจนจากการประชุม ที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องต่างๆ เป็นคำตอบ

หนังสือจากโอลิมปิคไทยส่งถึง OCA

     -วันที่ 16 ส.ค.2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง ผู้ว่าการ กกท.สรุปคือรับทราบตามที่ลดงบจากลดกีฬาลง และให้ กกท.ดำเนินการคือ 1.ให้ กกท.แจ้ง OCA ไทยจะจัดงานนี้แน่นอน 2. ให้ตรวจสอบความถูกต้อง ความโปร่งใสในการเบิกจ่ายงบประมาณไปก่อนหน้านี้แล้วจำนวน 980 ล้านบาท และยืนยันต่อกระทรวงฯภายใน 7 วัน และหากตรวจสอบพบความปกติ หรือสงสัยว่ามีการทุจริตขอให้ กกท.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยทันที 3.เนื่องจากเงินที่ใช้จำนวนมาก และมีรายละเอียดมาก จึงขอให้ กกท.นำรายละเอียดและเหตุผลความจำเป็น เสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองด้านการพัฒนากีฬาพิจารณาโดยไม่ชักช้า และปิดท้ายหนังสือว่า เนื่องจากต้องการให้มีความโปร่งใส คุ้มค่าและปราศจากข้อครหา กระทรวงฯจึงได้แจ้งให้ ป.ป.ช. และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ร่วมพิจารณาดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่อีกทางหนึ่งแล้ว

     -วันที่ 16 ส.ค.2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าการ กกท. สรุปว่าตามที่ท่านแจ้งเมื่อ 13 ส.ค.2567 เพื่อนัดประชุมคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ในวันที่ 19 ส.ค.2567 นั้น กระทรวงฯทราบว่า กำหนดแจ้งรายชื่อนักกีฬาของชาติที่เข้าร่วม เป็นวันที่ 31 ส.ค.2567 ทั้งนี้รายชื่อนักกีฬาและผู้เข้าร่วม เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณากรอบงบประมาณ จึงขอให้ท่านเลื่อนการประชุมไปจนกว่ารายชื่อและจำนวนนักกีฬาจะไม่มีการปรับเปลี่ยนอีก อนึ่งขอให้ท่าน แจ้ง OCA ว่า ทางการไทยยืนยันการเป็นเจ้าภาพกีฬานี้ ตามพันธะสัญญา

     -16 ส.ค.2567 ผู้ว่าการ กกท.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการจัดการแข่งขันได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงคณะกรรมการจัดการแข่งขัน เพื่อขอเลื่อนการประชุมจากวันที่ 19 ส.ค.2567 ออกไปไม่มีกำหนด พร้อมแนบหนังสือของรัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ที่ส่งมาถึงแนบไปด้วย

หนังสือรัฐมนตรีกีฬาให้ยกเลิกการประชุมฝ่ายจัด

#วิเคราะห์จากประเด็นที่เกี่ยวข้อง

     1.การเรียกร้องของ กลุ่มที่ นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ พร้อมสมาคมที่โดนตัดออกจากการแข่งขันนั้นก็คงไม่ต้องวิเคราะห์อะไรมาก เพียงแต่อยากจะบอกว่า ที่ผ่านมาเขาก็จัดกันแบบไม่มากนัก ส่วนงานนี้หากจะจัด 38 ชนิดกีฬา หรือจะตัด 14 ชนิดออกก็ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยจัดมา ส่วนเหตุผลความจำเป็นนั้นก็ไปว่ากันเอง

     2.ในส่วนเตรียมงานอื่นๆ ด้าน กกท.คงไม่ได้หนักใจอะไรมาก เพราะนโยบายมาอย่างไรก็ต้องทำงานไปอย่างนั้น และเดินงานมาโดยตลอด ส่วนเรื่องที่กระทรวงให้แจ้งรายละเอียดการใช้งบตามแผน เพื่อความโปร่งใส การป้องกันครหา ในการนำเงินไปใช้ในฐานะ กกท.เป็นผู้ใช้จ่ายเงิน ตัวนี้ต้องชัดเจน (หากเป็นไปตามหนังสือของกระทรวงที่แจ้งว่าพบการร้องเรียนการใช้เงินจำนวนมาก) ซึ่งก็คงต้องว่ากันไปกับคนที่เกี่ยวพันกับงบในกรอบวงเงินต่างๆ ที่ได้มา ที่ต้องชี้แจงเพื่อให้คนในกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ที่ถูกดึงมาตรวจสอบร่วมด้วยเข้าใจ และเห็นชอบ เพราะการป้องกันและการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสเป็นสิ่งที่ดี

     3.การทำหนังสือถึง OCA ของเลขาฯคณะกรรมการโอลิมปิคไทย เรื่องนี้มองง่ายๆ ก็แปลกที่เป็นการทำหนังสือที่ยังยืนยันว่าจะจัดครบ 38 ชนิดกีฬาตามเดิม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ มีการอ้างถึงตัวแทนโอลิมปิคไทย ตัวแทน OCA ร่วมคุยกัน และมีหนังสือ OCA แจ้งมาแล้วว่าจะลดกีฬา (27 ก.ค.2567) และ 1 ในที่ที่ OCA แจ้งก็คือ โอลิมปิคไทย แล้วทำไมโอลิมปิคไทยถึงไม่รับรู้กับเรื่องดังกล่าว

     4.การประชุมคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ที่จะมีตัวแทนรัฐบาลอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน วันที่ 19 ส.ค.2567 เลื่อนออกไป โดยมีเหตุผลรอความชัดเจนเรื่องจำนวนคนนั้น ในช่วงเวลานี้ที่หากจะจัดตามที่กระทรวงยืนยัน เพราะเวลามีไม่ถึง 3 เดือน เพราะนอกเหนือจากเหตุผลที่ระบุว่ารอจำนวนคนนั้นแล้ว จริงๆ ในงานนี้ ยังมีเรื่องอื่นที่ต้องคุยกันทุกฝ่ายในความคืบหน้า ทั้งฝ่ายปฏิบัติงาน ที่มาจากหลากหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายรัฐบาล ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นอกเหนือจากได้ตามงานแล้ว ก็ยังจะแสดงบทบาทอธิบายผู้เกี่ยวข้องที่ชัดเจน ว่าจะจัดอย่างไร ชนิดกีฬาเท่าไหร่ แบบไม่ต้องค้างคาดใจกัน และการประชุมก็จะเป็นภาพของการการันตีงานได้ดีด้วย ฉะนั้นการเลื่อนประชุมด้วยเหตุผลนั้นจึงไม่สมควรมากนัก เพราะหากจะรอจนจำนวนนักกีฬาไม่มีการปรับเปลี่ยนนั้นน่าจะเป็นอีก 1 เดือนก่อนแข่ง

#บทสรุป

     ถึงจะดูว่าเหมือนว้าวุ่นขนาดไหน ส่วนตัวยังเชื่อว่าประเทศไทย คงได้จัดตามที่ภาครัฐบาลให้ กกท.ยืนยันกับ OCA ตามพันธะสัญญา และจะจัด 22 ชนิดกีฬา + 2 กีฬาสาธิต เหตุผลแรกคือ เพื่อให้งานนี้เดินต่อได้ เนื่องจากมีการเตรียมงาน เตรียมการเข้าร่วม ทั้งไทยเจ้าภาพ และชาติสมาชิกแล้ว ประเด็นที่สองคือ เพราะ OCA และทีมงานที่ตาม OCA มาจัดการด้านต่างๆ ในงานนั้นเดินมากันไกลมากแล้ว ทั้งเนื้องานและสิ่งที่เรียกว่าผลประโยชน์ที่จะได้ ดังนั้นการจะให้ไทยยกเลิก นอกจากจะสูญเสียสิ่งที่จะได้ แล้วจะมีประเด็นอื่น ๆ ตามมาระหว่างไทยกับ OCA แน่

     สุดท้าย เรื่องของความน่าเชื่อถือในงานของไทยนี้ยังเป็นประเด็นสำคัญ ก็ฝากถึงรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ควรนำหน้าเคลียร์ชัดๆ เพื่อให้สังคมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น OCA หรือขบวนการในไทยเข้าใจสิ่งที่รัฐบาลไทยจะทำและต้องทำ และยิ่งการเมืองไทยผันผวนการสร้างความเชื่อมั่นก็ยิ่งควรจะทำอย่างยิ่ง 

RANDOM

สพฐ. จับมือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ ช่วยแก้ปัญหาหนี้ครู ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ไม่เกินร้อยละ 4.75 เสริมสภาพคล่องทางการเงิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น

มูลนิธิบัญชา-สุรัติ ภาณุประภา ให้ทุนการศึกษา ประจำปี 2567 แก่นักเรียน นักศึกษา ที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทุกระดับชั้น ตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาตรี สนใจสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ – 30 เมษายน 2567

NEWS

ม.หอการค้าไทย ชวนน้อง ๆ มัธยมปลายร่วมโครงการ “แคมป์เด็กหัวการค้า ปีที่ 11 จุดประกายความฝัน…ปั้นผู้นำธุรกิจ” บ่มเพาะนักธุรกิจรุ่นเยาว์ ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในอนาคต เปิดรับสมัครแล้ว ถึง 3 ตุลาคม

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!