หลังจากโอลิมปิกเกมส์ 2024 ผ่านพ้นไป “ภาพรวม” ของวงการกีฬาไทย คงจะชัดเจนขึ้น (อีกครั้ง) สำหรับ ผู้ที่เกี่ยวข้องว่า แท้ที่จริงแล้วนั้น ประเทศไทยควรจะกำหนดยุทธศาสตร์กีฬาของชาติ สำหรับกีฬาสมัครเล่นเพื่อความเป็นเลิศนี้ไปในทิศทางใด เพื่อที่จะให้มีที่ยืนซึ่งสามารถสร้างความสุขให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืนในเวทีกีฬาโลกที่ใหญ่ที่สุด คือระดับโอลิมปิกเกมส์
การวิเคราะห์ ความสำเร็จที่เด่นชัดในกลุ่มกีฬาที่สร้างเหรียญรางวัลให้กับประเทศไทยนั้น ต้องยอมรับว่าไม่แปลกใจ กับเทควันโด ยกน้ำหนัก ที่รักษาความเป็นเกรด A ต่อเนื่อง ขณะที่ แบดมินตัน ก็ขยับไล่ขึ้นมา และยังมีกีฬาที่น่าจับตามองอีกกีฬาที่ไม่ได้เหรียญแต่ก็มีความโดดเด่น คือเทเบิลเทนนิส หรือ ปิงปอง
#ทำไมจึงมีความสำเร็จ
ในโลกแห่งกีฬาที่จะมีความสำเร็จได้ สำคัญที่รับรู้กันคือต้องมี “เงินดีหนุนกับคนหรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ” ทั้งสองส่วนต้องสัมพันธ์กันและไปด้วยกัน หากมีแค่เงินแต่คนที่มาทำกีฬาโง่ไม่รู้เรื่องกีฬานั้นๆ ก็สำเร็จยากเพราะเงินซื้อความสำเร็จโดยตรงไม่ได้ แต่เงินสามารถที่จะช่วยสร้างทางเดินให้นักกีฬา เงินสามารถสร้างบุคลากรกีฬาที่เกี่ยวข้อง เช่นการจัดหาหรือจ้างผู้รู้ เช่น ผู้รอบรู้กีฬานั้นๆ มาเป็นที่ปรึกษา มาช่วยงานในฝ่ายต่าง ๆ หรือ จ้างผู้ฝึกสอนที่ดี เข้ามาช่วยได้…และทุกวันนี้การเงินของวงการกีฬา ถ้ามองจริงๆไม่ลำบากเหมือนเดิมและยิ่งทำดีมีผลงานเงินก็เข้าหามาก
ตัวอย่างความสำเร็จ เทควันโด ผู้ที่ต้องเอ่ยถึงคือ “บิ๊กเอ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมฯ ที่เริ่มต้นเข้าสู่เทควันโดไทยด้วยการช่วยงาน จากนั้นก็ศึกษา จนก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำ และสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นของนักธุรกิจที่มีความพร้อมเรื่องเงินอย่าง “บิ๊กเอ” กล้าทำการลงทุน จ้างโค้ช จ้างคนช่วยงานที่ดีมีความรู้ความสามารถที่แท้จริง ขณะที่ตัวเองก็หาทีมหนุนเรื่องการเงิน-การดูแลรอบด้านที่เป็นองค์ประกอบ จึงมีความสำเร็จต่อเนื่อง ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับ “คุณหญิงปัท” คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ที่สร้างแบดมินตันไทยมาในแนวทางเดียวกันจนสำเร็จ และ ที่น่าจับตาในกีฬาต่อไปคือ เทเบิลเทนนิส ของไทย ที่อยู่ภายใต้การนำของ “รองตูน” ณัฐวุฒิ เรืองเวส ที่กำลังเดินตามมาในการสร้างผลงานที่เด่นชัดกันเรื่อยๆ
ขณะที่ยกน้ำหนัก คงต้องเอ่ยถึงชื่อ “เสธ.ยอด” พลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ได้เข้ามาคลุก ตั้งแต่ยกน้ำหนักไทย ไม่เป็นที่ต้องการ แต่ด้วยรากฐาน “เสธ.ยอด” คือคนที่สนใจกีฬา มีเครือข่ายที่ดีตั้งแต่อยู่เชียงใหม่ ทำกีฬาระดับจังหวัดจนดังระดับชาติ แล้วก็ก้าวสู่วงการกีฬา จนมาจบที่ยกน้ำหนัก ที่ทั้งดึงทั้งดัน ฝ่าฟันทุกรูปแบบ จนกระทั่งเห็นผลอย่างทุกวันนี้ ตัวอย่างของ “เสธ.ยอด” นี้คือผู้ที่มาจาก ความมุ่งมั่น ด้วยความรักกีฬา สร้างองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายผู้สนับสนุนที่เติบโต และฉลาดในการจัดการ จนกระทั่งสมาคมมีความพร้อมในบุคลากรที่เดินตามไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยแนวคิดและเส้นทางที่มั่นคง
สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยทั้ง 4 สมาคมที่เอ่ยถึงนี้ “ควรเป็นตัวอย่าง” ในการใช้เป็นแนวทางสร้างยุทธศาสตร์กีฬาของชาติ เพื่อให้ไปสู่ความสำเร็จในระดับกีฬาเป็นเลิศ เพราะถือว่า “ตกผลึก” ในเส้นทางเดินแล้ว
#ทำไมไม่เอ่ยถึงมวยสากล
ที่ไม่ได้รวมสมาคมมวยสากล ทั้งที่ได้ 1 เหรียญทองแดงจากมวยหญิงนั้น เพราะว่า “สมาคมแห่งนี้ควรดีกว่านี้” เนื่องจากว่าเป็นเบอร์ 1 ของความหวังของชาติมาตลอดในกลุ่มนักชกชายไทย แต่ตั้งแต่ 2012 ที่ลอนดอนซึ่งได้เหรียญเงินมานั้นจนถึง 2024 มวยสากลชายไทย “ตกต่ำมาก” และ เสียงด่ารูปแบบการบริหารจัดการ จนมาถึงฟอร์มการชกนักมวยชายของไทย ทันทีที่จบ โอลิมปิกเกมส์ 2024 จนกระทั่งวันนี้คนในวงการยังงง ว่าฝ่ายบริหารสมาคมมวยสากลไทยคิดอะไร!!!
ตั้งแต่การให้ผู้ฝึกสอนคิวบา ที่เคยช่วยสร้างผลงานให้ไทยออกไปจากแผนการทำทีมมวยไทย แล้วใช้ผู้ฝึกสอนไทยล้วนทำทีมมาตลอดตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา และผู้ฝึกสอนคิวบา อย่าง กอนซาเลส เซเดโญ ที่เราทิ้งไป ก็ถูกจีนดึงไปช่วยทีมหญิง ซึ่งผลงานคือ โอลิมปิกเกมส์หนนี้ มวยสาวจีนชิง 5 ได้ 3 ทอง…นี่คือประเด็นที่คนถามถึงว่าชาติใหญ่ๆ เขายอมรับโค้ชนอก แม้แต่อุซเบกิสถาน แอลจีเรีย ก็ใช้คิวบา แล้วทำไมไทยจึงมั่นใจว่า “เราใช้โค้ชไทยก็พอแล้ว” ในยุคนี้ ทั้งที่เราจะเห็นว่า โค้ชนอกจะอยู่กับความสำเร็จมวยชายไทยมาโดยตลอด
และจับกระแสซ้ำ เพิ่มเติมจากคำสัมภาษณ์ของ ผู้ฝึกสอนมวยสากล และฝ่ายบริหารใน “ปารีสเกมส์ 2024” ที่ระบุว่า “วิเคราะห์ไม่ออกว่ากรรมการตัดสินและให้คะแนนกันอย่างไร (เลยแนะนำนักกีฬาไม่ถูก) แล้วก็อีกเรื่องคือ ที่ระบุว่าในยุโรปเขามีกรรมการที่เป็นพันธมิตรกัน หากมวยเหลื่อมๆ กันภาษีเขาจะดีกว่า คือเขามีพรรคพวก”
ข้อหนึ่ง...เรื่องการตัดสินการให้คะแนนที่อ้างถึงว่าไม่รู้นี้ ผู้รู้ที่เชื่อถือได้แบบ 100% ยืนยันว่าหลังจาก IOC มาดูแลการคัดเลือกและจัดแข่ง โอลิมปิกเกมส์ 2 ครั้งหลังนี้ เขาก็ใช้ระบบนี้กติกานี้ การส่งนักกีฬาไปแข่งไปคัดเลือก จนกระทั่งแข่งรวมเป็นสิบปี ถ้าบอกว่าไม่รู้ก็ ถือว่า….มาก!!! เหมือนไม่เคยศึกษาอะไรเลยสำหรับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อไม่รู้ทิศทางอย่างนี้ ก็ไม่แปลกที่การฝึกนักชกจึงทำได้แค่นั้น (ต้องไปหาดูทาง Social ว่ากลุ่มคนมวยเขาวิพากษ์ว่าอย่างไร)
ข้อสอง...เรื่องการไม่มีกรรมการที่เป็นพันธมิตรกับนักชกไทยในจังหวะที่สูสี นั้นต้องโทษใครได้!!! ก็ต้องโทษสมาคมมวยสากลเรา ซึ่งทางฝ่ายจัดมวยของ IOC เขาเปิดรับสมัครผู้ตัดสิน-กรรมการเพื่อไปทำหน้าที่ตั้งแต่รอบคัดเลือก ซึ่งบุคลากรเรามี แต่สมาคมไม่เคยกระตุ้นหรือนำพาให้เขาไปสมัครร่วมตัดสินเลยซักคน แล้วจะมีไปที่ฝรั่งเศสได้อย่างไร…และนี่คืออะไรกับวิธีทำงานของสมาคมมวยสากล
ข้อสาม...คนไทย 1 คนคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ ศรีชัยสวัสดิ์ ได้รับการยอมรับจาก ฝ่ายที่ดูแลมวยสากลของ IOC ให้ไปทำหน้าที่กำกับดูแลประเมินผู้ตัดสินฯ ตลอดหลายปีที่ IOC เข้ามาจัดการมวยสากล ที่ถือเป็นผู้รู้ด้านเทคนิคมากที่สุดของมวยสากลไทยในยุคนี้ ที่สมาคมมวยสากลควรสอบถาม ขอข้อแนะนำ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ แต่ผู้สื่อข่าวที่ตามเรื่องนี้แจ้งว่า ไม่เคยมีคนของสมาคมมวยสากลไปขอคำแนะนำใดๆ กับท่านผู้นี้เลย…นี่คืออะไรกับวิธีคิดของสมาคมมวยยุคนี้
ผม (ผู้เขียน) ไม่ขอสรุปใดๆ เพราะเชื่อว่าที่เขียนมาทั้งหมดน่าจะเป็นเหตุเป็นผลในการมองจุดร่วมกันนี้ได้ แต่ก็อยากฝากท้ายขอแนะถึงฝ่ายบริหารสมาคมมวยสากลยุคนี้ซักนิดว่า ลองหันไปดูสิ่งที่ชุดก่อนๆ ทำดีๆมีผลงานบ้าง คิดไม่เป็นก็เลียนแบบเขา!!! เพราะหากยังทำต่อและจะทำงานได้ด้วยวิสัยทัศน์ของบุคลากรที่มีแค่ระดับนี้ ก็พอเถอะขอรับอย่าดันทุรังเลย
เพราะจากประสบการณ์ที่เห็นตั้งแต่เหรียญทองแรกโอลิมปิกเกมส์มา จึงกล้ายืนยันได้เต็มปากว่า ในประเทศนี้คนเก่งซึ่งจะทำได้ดีกว่าคนในสมาคมมวยสากลยุคนี้มีเยอะ!!!