หลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้หรือ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วาสนา คุณาอภิสิทธิ์

ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เกริ่นนำ

ในช่วงปีสองปีมานี้ มีแต่คนพูดถึงการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหลักสูตรแกนกลางสำหรับการจัดการศึกษาให้เด็กไทยทั้งประเทศ ตั้งแต่ ป.๑-ม.๖ โดยใช้ชื่อว่า “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” แล้วมันคืออะไร จะเป็นหลักสูตรแกนกลางได้หรือไม่ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หลักสูตรอิงมาตรฐานที่ใช้อยู่ปัจจุบันใช้ไม่ได้แล้วหรืออย่างไร และยังพบอีกว่า มีการใช้ภาษา-คำบางคำ บางความหมายที่น่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน สร้างความคลุมเครือ ระส่ำระสาย วิตกกังวล ถกเถียงกันว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่ ทั้งในกลุ่มครู สถาบันผลิตครู และนักวิชาการ รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะจากการให้ข่าวและการจัดกิจกรรมของสพฐ.และองค์กรอิสระ

ได้ลองศึกษาความเป็นมา พบว่า มีคำที่น่าสนใจ ที่ต่างประเทศเขาใช้กัน คือ คำว่า  Competency – based Education, Competency – based learning และใช้กันมานานตั้งแต่ศตวรรษที่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

สมรรถนะ (Competency) คือ ความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้(Knowledge-K) ทักษะ ทักษะกระบวนการ(Psychomotor, Process-P) และเจตคติ(Affective-A) ในลักษณะบูรณาการ(K+A+P) ในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ดังนั้น หากประสงค์ให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะอะไร อย่างไร จึงเป็นเรื่องของในการบริหารจัดการหลักสูตรหรือการนำหลักสูตรไปใช้ในระดับท้องถิ่นหรือสถานศึกษาแต่ละแห่ง ในลักษณะของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละแห่ง(Competency – based learning-CBL) ซึ่งอาจบูรณาการเนื้อหาวิชาการที่จำเป็นและเกี่ยวข้องต่อการสร้างสมรรถนะนั้นๆ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) โดยเฉพาะทักษะทางวิชาชีพผ่านการปฏิบัติจริงตามขั้นตอน รวมทั้งมีการประเมินอิงสมรรถนะ(Competency-based Assessment-CBA) ด้วย

ดังนั้น การจะเรียกหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่บังคับใช้กับเด็กไทยทุกคนในทุกโรงเรียนเหมือนๆ กันว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะ จึงไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

การจัดการศึกษาอิงสมรรถนะ (Competency-based Education -CBE) เป็นแนวทางการจัดการศึกษา [ที่] ช่วยให้ผู้เรียนก้าวหน้าตามความสามารถของตนเองในการเรียนรู้ทักษะหรือความสามารถตามช่วงวัย วิธีการนี้ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของผู้เรียนแต่ละคน และยังสามารถนำไปสู่การมีผลการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในฐานะเป็นคนการศึกษาคนหนึ่ง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน สอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เรื่องที่สอนอยู่ก็หนีไม่พ้นเรื่องของหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และการประเมินผล เมื่อได้ยินข่าวว่าจะมีการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ จึงต้องย้อนไปดูกฎหมายและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความเป็นไปของการกล่าวถึงการจัดการศึกษาและหลักสูตร ในที่นี้ขอเสนอเพียงบางส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา เพื่อให้ท่านผู้อ่านพิจารณาร่วมกันไปด้วย ดังนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ระบุว่า รัฐต้องดําเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยรัฐมีหน้าที่ดําเนินการ กํากับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล …ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ    ต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทําแผนการศึกษาแห่งชาติ และตรวจสอบการดําเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 มุ่งการเตรียมพร้อมด้านกำลังคนและการเสริมสร้างศักยภาพของประชากรในทุกช่วงวัย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพสูง จุดเน้นการพัฒนาคน…การพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถของคน มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยเพื่อวางรากฐานให้เป็นคนมีคุณภาพในอนาคต การพัฒนาทักษะสอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงานและทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ เด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ได้รับการพัฒนาทักษะการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีความคิดสร้างสรรค์ โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ปรับระบบการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาคุณภาพครูทั้งระบบ การยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศในสาขาวิชาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ พัฒนาเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีความคิดสร้างสรรค์      มีทักษะการทำงานและการใช้ชีวิตที่พร้อมเข้าสู่ตลาดงาน ปรับกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กมีการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง สนับสนุนให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียนที่ ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับหลักสูตรการผลิตครูที่เน้นสมรรถนะ และสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอนที่เป็นการพัฒนาสมรรถนะของครูอย่างต่อเนื่อง  พัฒนาระบบประเมินคุณภาพมาตรฐานที่สามารถวัดและประเมินผลคุณภาพผู้เรียนทั้งด้านทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะตามมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละระดับการศึกษา 

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ และ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓ กำหนดใน มาตรา ๔ มาตรฐานการศึกษา คือ ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ ที่พึงประสงค์และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง และเพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพทางการศึกษา มาตรา ๙ การจัดระบบ โครงสร้าง และกระบวนการจัดการศึกษา ให้ยึดหลัก (๑) มีเอกภาพด้านนโยบาย และมีความหลากหลายในการปฏิบัติ           (๒) มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(๓) มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษา และจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับและประเภทการศึกษา มาตรา ๒๔ การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้อง (๑) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (๒) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา(๓) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง(๔) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกันรวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา มาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มาตรา ๓๐ ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา มาตรา ๓๔ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนามาตรฐานและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ

แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา(ฉบับปรับปรุง)ตามยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มีเป้าหมายให้ผู้เรียนทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีกิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑…โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน(Standard-based Curriculum) ในปัจจุบันไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอความรู้ ทักษะ คุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning)

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ และ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งสองฉบับ เป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน(Standard-Based Curriculum) ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ผู้เขียนได้พิจารณาและวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนเพื่อหาว่าหลักสูตรทั้งสองฉบับดังกล่าวระบุสมรรถนะผู้เรียนไว้หรือไม่

จากประสบการณ์การเป็นคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ และคู่มือการใช้หลักสูตร ได้เป็นคณะวิทยากรอบรมครูทั่วประเทศของสพฐ. เพื่อการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาต่อเนื่องหลายปี มาถึงหลักสูตรแกนกลางฯ ๒๕๕๑ ก็ยังคงปฏิบัติเช่นนี้(แม้ไม่ได้เป็นวิทยากรของสพฐ.) และในฐานะนักการศึกษาและผู้สอนยังได้ศึกษาติดตามความเคลื่อนไหวด้านนี้มาโดยตลอด พบว่า ในหลักสูตรทั้งสองฉบับปรากฏร่องรอยของสมรรถนะไว้หลายแห่ง คือ จุดหมาย สมรรถนะผู้เรียน ๕ ด้าน มาตรฐานและตัวชี้วัดของแต่ละกลุ่มฯ ทั้ง ๘ กลุ่มสาระ คุณภาพผู้เรียนแต่ละช่วงชั้นของ ๘ กลุ่มสาระ(ป.๓-ป.๖-ม.๓ และ ม.๖)

มาตรฐานการศึกษาของชาติ (คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๑:สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ) ให้ความหมายว่า “มาตรฐานการศึกษาของชาติ” หมายถึง ข้อกําหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ ที่พึงประสงค์ของคนไทย เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งยึดเป็นกรอบสำหรับสร้างคนไทย ๔.๐ ที่แม้แตกต่างตามบริบทของท้องถิ่นและของสถานศึกษา แต่มีจุดหมายร่วมคือ“ธำรงความเป็นไทยและแข่งขันได้ในเวทีโลก” สามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งในมิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติการเมืองต่อไปได้ โดยกำหนดเป็นผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (Desired Outcomes of Education : DOE Thailand) ๓ ด้าน การนำมาตรฐานสู่การปฏิบัติยึดหลักการสำคัญ คือ การจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับสภาพบริบทของผู้เรียน พื้นที่ ชุมชน และสังคม ให้อิสระกับสถานศึกษาในฐานะหน่วยปฏิบัติในการกำหนดอัตลักษณ์และทิศทางการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน  ชุมชน  ท้องถิ่น  และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ  จึงมีความหมายสอดคล้องกับความหมายในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ

จุดอ่อน จุดแข็งของหลักสูตรอิงมาตรฐาน

หากพิจารณาหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อยากนำเสนอจุดเด่น ข้อดี และข้อควรปรับปรุงคร่าวๆ ดังนี้

(ตามภาพประกอบ)

 

จึงขอสรุปว่า……..

  • การจะเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะได้ต้องเป็นหลักสูตรสถานศึกษา(การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ) ไม่ใช่หลักสูตรแกนกลาง
  • ในหลักสูตร ๒๕๕๑ มีสมรรถนะ ๕ ด้านและคุณภาพผู้เรียนของแต่ละกลุ่มสาระ ๘ กลุ่มอยู่แล้ว
  • สมรรถนะเป็นความสามารถในบริบทของการทำงานอาชีพหรือในที่ทำงาน (Competency is ability in a context of workplace.) สมรรถนะเป็นมากกว่าความสามารถโดยทั่วไป เพราะยากกว่า (Competency is more than ability, it’s more difficult.) และสมรรถนะไม่ใช่แค่การให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรม (Competency is not just doing activities.)
  • การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล (Competency-Based Learning is personalized learning.) เป็นการเปลี่ยนจากการใช้เวลานั่งติดที่เป็นการสร้างเสริมให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ช่วยให้ผู้เรียนก้าวหน้ามากขึ้นเห็นได้จากความเชี่ยวชาญในเนื้อหาวิชา โดยไม่คำนึงถึงเวลา สถานที่ หรือความเร็วของการเรียนรู้ นำไปสู่การมีส่วนร่วมของผู้เรียนดีขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น เนื่องจากเนื้อหามีความเกี่ยวข้องกับผู้เรียนแต่ละคน ปรับให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของแต่ละคน และความเร็วของการเรียนรู้ได้รับการปรับแต่งให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน (http://www.ibe.unesco.org/en/glossary-curriculum-terminology/c/competency-based-curriculum: UNESCO-IBE 1995-2021)

หลักสูตรฐานสมรรถนะจะเป็นหลักสูตรแกนกลางได้หรือไม่

หากจะยืนยันการใช้หลักสูตรชื่อดังกล่าวข้างต้น ได้โปรดตอบคำถามต่อไปนี้ให้ชัดเจนก่อนได้ไหม

  • หลักสูตรฐานสมรรถนะจะใช้บังคับเป็นหลักสูตรแกนกลางได้หรือ หากได้ เพราะอะไร
  • ผู้เรียนต้องเรียนอะไรบ้างจึงจะเหมาะสมกับความต้องการเฉพาะบุคคลและบริบทใกล้ตัว
  • ผู้สอนจะต้องสอนอย่างไรจึงจะนำผู้เรียนสู่สมรรถนะที่ร่างไว้ได้
  • ผู้สอนจะประเมินผลผู้เรียนอย่างไร ยุ่งยากมากขึ้นหรือไม่
  • คนยกร่างหลักสูตรนี้เป็นคนทางการศึกษาจริงหรือไม่ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ ใช้เวลาการพัฒนาเหมาะสมแล้วหรือไม่ รับฟังข้อคิดเห็นจากบุคคลแวดวงต่างๆมากพอแล้วหรือไม่
  • มีข้อมูลเชิงวิจัยอะไรบ้างหรือไม่ที่สามารถนำมายืนยันว่าหลักสูตรอิงมาตรฐานเดิมบกพร่องอย่างไร
  • การปฏิรูปการศึกษาที่ดี ถูกต้อง ตรงจุด ไปกล่าวหาตัวหลักสูตรเป็นจำเลย จะถูกต้องไหม เพราะหลักสูตรเป็นเพียงตัวหนังสือ
  • การมุ่งเน้นสมรรถนะ เป็นเรื่องของความสามารถในการปฏิบัติงานที่ดีในเชิงอาชีพ และน่าจะเหมาะสมกับระดับอาชีวศึกษากับอุดมศึกษามากกว่าหรือไม่
  • การมุ่งเน้นสมรรถนะเป็นจุดเน้นตามบริบทของแต่ละโรงเรียน(หลักสูตรสถานศึกษา)มิใช่หรือ
  • หากประกาศใช้ ใครจะเดือดร้อนบ้าง ครู โรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง สถาบันผลิตครู สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใช่หรือไม่ และใช้เวลา งบประมาณมากน้อยเพียงใด

ด้วยความเคารพและเป็นห่วงจากใจ

 

RANDOM

“ราชบุรี” มั่นใจ งานออกมาดี หลังร่วมหารือ 3 ฝ่ายกับ กกท.และสมาคมกีฬา ในการเตรียมเป็นเจ้าภาพกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 39 “ราชบุรีเกมส์” และกีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 6 “เมืองโอ่งเกมส์” ปีหน้า

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!