ย้อนอดีต...เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2566 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นประกาศของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรื่องให้มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติอยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 38/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาฯ ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ขณะนั้น) คือนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ
สรุปง่ายๆ ของประกาศนั้น คือ “ล้มกระดาน” ทั้งฝ่ายบริหารและกรรมการสภา มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ในชุดนั้น ออกจากตำแหน่งทั้งหมด ด้วยการกล่าวหาว่า นั้นคือ กระทรวงฯพบว่าคนใน มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ หรือ มกช มีพฤติการณ์จงใจ หลีกเลี่ยง ส่อทุจริตและก่อให้เกิดความขัดแย้งภายใน ที่ปล่อยไม่ได้ เพราะจะเกิดความเสียหาย
จากนั้น 23 ก.พ.2566 ก็มีคำสั่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ 57/2566 เรื่องให้ผู้ดำรงตำแหน่งพ้นจากหน้าที่และแต่งตั้งบุคคลให้ปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ โดยตั้งคณะทำงานปฏิบัติหน้าที่สภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พร้อมแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ
โดยมีโจทก์ให้ต้องดำเนินการคือ สรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติตัวจริงให้ได้ภายใน 180 วันตั้งแต่มีคำสั่งและทบทวนผลสอบสวนทางวินัยร้ายแรงอธิการบดีคนเดิมให้แล้วเสร็จภายใน 30 ก.ย. 2566
นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในการดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยุคของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ซึ่งเหมือนจะมีการเดินตามคำสั่งแต่ท้ายที่สุด และนายพิพัฒน์ ได้พ้นตำแหน่งนี้ไป 22 ส.ค.66 ก็ยังไม่ปรากฏ บทสรุปที่เป็นรูปธรรม
มาถึงยุคของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต่อมา คือ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ที่เข้ามาช่วง 1 ก.ย.2566-27 เม.ย.2567 มีความพยายามขอความกระจ่างเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะบุคคลที่ถูกแต่งตั้งมาทำการเรื่องนี้ในยุคของ นายพิพัฒน์ ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อ 8 ก.พ.2567 และได้รับคำตอบ ในเดือน เม.ย.2567 สรุปว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ควรที่จะเร่งรัดให้มีบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ เพื่อให้มีสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติโดยเร็วเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฯ
เมื่อพ้นหน้าที่ของ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ต่อมาตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็เป็นหน้าที่ของท่านเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ระยะเวลาสั้น ๆ และ ต่อมาก็เป็นคนปัจจุบันคือ ท่านสรวงศ์ เทียนทอง ….รวมจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ 4 รมต.และจะ 2 ปี ที่รัฐมนตรีใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ล้มกระดาน ผู้บริหารของ มกช
การใช้คำสั่ง หัวหน้า คสช.กับเรื่องราวแบบ “ล้มกระดาน” ในสถาบันอุดมศึกษาในเมืองไทย กับ มกช นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการใช้กัน ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฎหลายแห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับเกรด A ของไทย ที่รัฐมนตรี อว.นำไปใช้ ก็โดนใช้เพื่อยุติปัญหาภายใน บางแห่งใช้เวลาหลายปีบางแห่งก็กว่า 10 ปี กับการที่จะได้กลับมาลงตัวตามระบบที่แท้จริงตามกฏหมายของสถาบัน
สิ่งที่พบเมื่อมีคำสั่ง หัวหน้า คสช.จัดการ และ ยังไม่สามารถตั้งคนนั่งในตำแหน่งสำคัญตามวัตถุประสงค์การล้มกระดานนั้นได้ คือ ความอลเองภายใน เพราะแต่ละสถาบันล้วนมีกระบวนการจัดการบริหารภายในของสถาบันเขาเอง แต่เมื่อเจอคำสั่งพิเศษแบบนี้ และแม้ผู้มานั่งตามคำสั่งจะมีอำนาจเต็มก็ตาม แต่มันก็ไม่ใช่กระบวนการที่แท้จริงของเขา ซึ่งในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติก็คงเช่นกัน
สิ่งที่ฝากถามเมื่อถึงวันนี้ ต่อ รมต.คนที่ 4 ที่รับผิดชอบกับเรื่องนี้โดยตรงตาม พระราชบัญญัติ มกช.ระบุอำนาจหน้าที่นั้น ก็คือ เหตุผลของการล้มกระดานวันนั้น โดยเฉพาะเรื่องทุจริตของฝ่ายบริหารที่ใช้อ้างนั้น ไปถึงไหน เชือดผู้ถูกกล่าวหาได้หรือยังหรือแค่เป็นข้ออ้าง และสิ่งที่ระบุว่าต้องทำเพราะปล่อยไปจะเกิดความเสียหายต่อองค์กร วันนี้ ยุติได้แค่ไหน
เรื่องทั้งหมดที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น สังคมรับรู้และติดตามมาตลอด แต่ไม่รู้ที่มาที่ไปก่อนหน้าที่จะมีการประกาศให้ มกช อยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งคนบางส่วนก็มองว่าการใช้คำสั่งนั้น โดย รมต.พิพัฒน์ ผู้ดำเนินการเปรียบเหมือนอัศวินม้าขาว สามารถจัดการปัญหาและความไม่เรียบร้อย โดยได้ตั้งขุนศึกของตนเอง เร่งจัดการตามข้อกล่าวหา แต่สุดท้ายก็ไม่มีคำตอบต่อสังคมที่รอชมผลงานอัศวินม้าขาวจนท่านพ้นตำแหน่งไป
คือไม่ได้คนทุจริตไม่ว่าจะเป็นคนของสภามหาวิทยาลัยหรือฝ่ายบริหารที่ถูกโละมาลงโทษ ไม่มีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าจงใจหลีกเลี่ยงระเบียบ ไม่มีชื่อผู้ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งใน มกช ให้ได้เห็นว่าเป็นใคร ทั้งที่ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นสารตั้งต้นที่มาของการ “ล้มกระดาน” ที่ควรต้องมีคำตอบ เพื่อเป็นการสนับสนุนความคิดตัวเองก่อนที่จะใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.
ซึ่งจนบัดนี้กว่า 2 ปีกลับไม่มีอะไรให้ได้ดูว่า การกระทำ ณ จุดเริ่มต้นนั้นถูกต้อง ซ้ำหากมองไปดูเรื่องการบริหารจัดการภายใต้ “อำนาจพิเศษ” ที่ยืดยาวมานานนี้การพัฒนาของ มกช ในการประเมินขององค์กรภายนอก อย่างเช่น สมศ.หรือ ปปช.ก็จะมองเห็นภาพรวมว่า วันนี้ มกช การประเมินด้านต่างๆ ต่ำลงระดับใด
ที่เอ่ยมาเป็นเพราะการติดตามด้วยความสนใจมาตลอด เช่นหลายๆ กลุ่มหลายๆ คน ที่กำลังจับตาว่า เรื่องนี้ซึ่งเป็นโจทก์ที่ท้าทายต่อรัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา ว่าท่านจะนำพาไปสู่ความชัดเจนหรือมีบทสรุปที่เป็นคำตอบใดๆ ที่ดี ถูกต้อง เป็นธรรม เมื่อไหร่ ก็ได้แต่เป็นกำลังใจให้ลุยทำอย่างเต็มที่
และก็หวังไว้ว่า คงไม่ปล่อยเลยไปปีที่ 3 หรือปล่อยให้เป็นภาระของ รมต.คนที่ 5 เข้ามาจัดการต่อนะขอรับ.