เรื่องราวของ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ (มกช) มีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง
โดยล่าสุดผู้ที่คณะบุคคลซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจของคำสั่งคณะ คสช. เพื่อให้ทำหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ได้คัดเลือกแล้วจำนวน 1 คน และส่งให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอฯเพื่อเป็นอธิการบดี มกช คนใหม่นั้นยังมีปัญหา จากการหารือและได้รับคำแนะนำจาก คณะกรรมการกฤษฎีกา
ที่สรุปง่ายๆ ก็คือ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือเพื่อขอความกระจ่างปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อ เดือน พ.ย.2567 ที่ผ่านมาคือ การคัดเลือกคนเสนอเป็นอธิการบดี มกช ที่ผ่านมานั้นไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระบุว่าผู้ได้รับการคัดสรรนั้นจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลที่มีอยู่ รวม 8 คน (ที่หมายถึงผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องได้ 5 เสียงขึ้นไป) แต่กระบวนการคัดสรรนั้น ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ได้เพียง 4 เสียง จึงถือว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย และการนำเสนอนี้ไม่มีผลผูกพันต่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่จะต้องนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป
จากสิ่งที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ล่าสุด ที่ระบุชัดว่า การคัดสรรอธิการบดี มกช ที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย) และเมื่อไม่ถูกต้องแล้วก็ไปต่อไม่ได้ ก็มีข้อแนะนำคือต้องย้อนกลับไปทำให้ถูกต้อง จึงจะเดินต่อไปได้
และนี่ก็คือโจทก์ ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยุคนี้ที่มี สรวงศ์ เทียนทอง เป็นเจ้ากระทรวง จะต้องนำไปเดินต่อ เพื่อเคลียร์ปัญหาในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ที่ค้างเติ่งมานาน ให้ยุติไปในทางที่ดีที่สุดเร็วที่สุด จากบัดนี้ไป
ซึ่งด้วยอำนาจทั้งอำนาจหน้าที่โดยตรงตาม พรบ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ หรือ พรบ สถาบันการพลศึกษา (เดิม) ที่เกี่ยวข้อง และอำนาจพิเศษตามการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ยังคงอยู่ ของ “รมต.สรวงศ์” ผสมกับการเปิดทางจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ระบุว่า “ที่ผ่านมาได้ทำผิดกติกา”…..จึงเชื่อกันว่า คงเริ่มต้นใหม่ไม่ยากในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ โดยเร็ว ด้วยวิธีการที่จัดการเองได้
The Station THAI กับวงเสวนาเล็กๆ ที่ติดตามเรื่องนี้...ก็ให้กำลังใจเพราะอยากเห็นความสง่างาม ในการแก้ปัญหา ในสถาบันการศึกษาเฉพาะทางกีฬาของชาติไทย ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ “ใส่ร้ายป้ายสี”เป็นที่มาของการใช้อำนาจพิเศษ “ล้มขั้วอำนาจเก่า” จนกระทั่งบัดนี้ผ่านมา 2 ปี ไม่เคยเห็นผลอะไรจากการใช้อำนาจนั้น
โดยข้อคิดเล็กๆ ที่อยากร่วมวิพากษ์ กับเรื่องปัญหาเหล่านี้ว่า
เมื่อที่มาของการตั้งคณะบุคคล ทำหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ตามที่ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นอำนาจพิเศษ แม้จะไม่ผิดแต่มันก็จึงไม่สวยทั้งที่มา และความน่าเชื่อถือในกระบวนการทำงาน จนกระทั่งการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นอธิการบดี ซึ่งวันนี้ถูกชี้ว่าการคัดเลือกเสนอกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ผ่านมานั้น “ไม่เป็นไปตามกฎหมาย”
และต่อจากนี้ไป การขยับของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับการเคลียร์เรื่องนี้คงจะเข้มข้นขึ้นโดยหน้าที่ก็ต้องลุยสะสางให้ได้ ซึ่งทางเดินคงไม่เกิน 2 ทางคือ
เส้นทางแรก...กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คิดง่ายๆ คือโยนเรื่องกลับไปให้คณะบุคคล ที่มีอยู่ 8 คน จากการตั้งโดยคำสั่ง หัวหน้า คสช. ซึ่งเคยออกเสียงเลือกคนที่จะเป็นอธิการบดี ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ว่า ไม่ถูกต้อง เพราะเลือกแค่ 4 เสียง ให้ไปเลือกใหม่ให้ได้คนที่เหมาะสมด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 5 คะแนน แล้วส่งเรื่องมาให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อดำเนินการต่อไป
เส้นทางที่สอง…ด้วยอำนาจตามหน้าที่ และ อำนาจพิเศษที่มีนั้น เพื่อความชอบธรรมทั้งมวลจากที่หลายเสียงมองว่าควรทำ ก็คือเจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงจะเสียเวลาหน่อยแต่น่าจะเป็นทางออกที่ดี และถือเป็นโอกาสสะสาง ที่มาของปัญหาทั้งมวล ด้วยการ “ล้มกระดาน” คณะบุคคลชุดเก่า ที่ตั้งโดยคำสั่ง คสช และเริ่มกระบวนการใหม่ ด้วยการตั้งคณะบุคคลที่ทำหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติใหม่ทั้งคณะ และดำเนินการการสรรหาอธิการบดีใหม่ ตาม พรบ ให้อำนาจได้กำหนดไว้
ส่วน ‘สรวงศ์ เทียนทอง’ จะนำลุยทางไหน…ก็โปรดติดตามตอนต่อไป.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.station-thai.com/idea/52498/