The Station THAI ลองรวบรวมการเข้าสู่ตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทย ในแต่ละยุค และมีอะไรน่ามองบ้าง ก่อนที่จะมาถึง วันที่จะมีการลุ้นหาผู้นำคนใหม่ ในองค์กรที่เราจะเรียกคุ้นกันว่า “บ้านอัมพวัน” ในเดือน มี.ค.2568 นี้
ขอเริ่มต้นจากสมัยสุดท้ายการเป็นผู้นำสมัยที่ 5 ยุคสุดท้ายของ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ มีการประชุมสมัชชาใหญ่สามัญ เพื่อการเลือกตั้ง วันที่ 23 มี.ค.2536 ในช่วงนั้น เป็นการเลือกโดยใช้กติกา คือสมาชิกจากสมาคมกีฬา 23 เสียงและ อีก 23 เสียงจากคณะกรรมการบริหารโอลิมปิคชุดเก่าที่กำลังหมดวาระ จะเป็น 46 เสียง (วันนั้นเลือกจริง 44 เสียง)
พลอากาศเอกทวี ครองตำแหน่งถึงปี 2539 ก็เสียชีวิต วันที่ 4 ก.พ.2539 และวันที่ 21 ก.พ.2539 มีการนัดประชุมและเลือก ได้พลเอก สุรพล บรรณกิจโสภณ ที่เป็นรองประธานคนที่ 1 ขณะนั้น เป็นประธานโอลิมปิคไทยต่อในช่วงวาระที่เหลืออีก 1 ปี
วันที่ 28 มี.ค.2540 มีการประชุมสมัชชาใหญ่สามัญของโอลิมปิคไทย วาระสำคัญคือเลือก ประธานคนใหม่ แทนพลเอก สุรพล ก็ถือเป็นการส่งต่ออำนาจอย่างสันติ เมื่อ “บิ๊กเหวียง” พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ขณะนั้น เป็นผู้บัญชาการทหารบก และนายกสมาคมกีฬามวยสากลสมัครเล่น และประธานสภามวยไทยโลก ขึ้นสู่ตำแหน่งสมัยแรก โดยใช้เสียงจากสมาชิกจากสมาคมกีฬาและจากคณะกรรมการบริหารชุดเก่าเช่นเดิมในการเลือกหนนั้น
วันที่ 21 มี.ค.2548 มีการประชุมสมัชชาใหญ่สามัญของบ้านอัมพวันอีกครั้ง เพราะชุดของ บิ๊กเหวียง หมดวาระ ครั้งนั้นไม่ได้มีการส่งมอบอำนาจอย่างสันติ อย่างยุคบิ๊กเหวียงสมัยแรก
ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนตอนนั้น ยังเป็นสมาชิกจากสมาคมกีฬา 25 เสียง และ กรรมการบริหารชุดเดิม 20 จากที่มี 21 เสียง โดย บิ๊กเหวียงตอนนั้นเกษียณอายุราชการแล้วต้องหลุดไป และประธานบ้านอัมพวันผู้มาใหม่คือ “บิ๊กอ๊อด” พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ในช่วงนั้น เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นนายกสมาคมว่ายน้ำ
ในยุคของบิ๊กอ๊อดสมัยแรก (2544-2548) กรรมการบริหารโอลิมปิค จะมี 22 คน คือ จากสมาชิกสมาคมกีฬา 21 และ 1 จากผู้แทนโอลิมปิกสากล ประจำประเทศไทย (ดร.ณัฐ อินทรปาณ) ต่อมาในยุคที่ 2 ของบิ๊กอ๊อด (2548-2552) กรรมการบริหารเพิ่มเป็น 23 คน โดยเพิ่มตัวแทนนักกีฬาโอลิมปิกของไทยอีก 1 คน และ มีการแต่งตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คนขึ้นมา และทุกตำแหน่งดำรงอยู่จนกระทั่งหมดยุคบิ๊กอ๊อดสมัยที่ 3 (2552-2556)
วันที่ 29 มี.ค.2556 บิ๊กอ๊อด ได้รับการเลือกเป็นผู้นำบ้านอัมพวันสมัยที่ 4 ที่น่าสังเกตคือ มีการเปลี่ยนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง จากเดิมจะใช้เสียงของคณะกรรมการบริหารชุดเดิม จำนวน 22-23 คน มีส่วนร่วมในการออกเสียงด้วย แต่เปลี่ยนเป็นให้ ผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน ที่ตั้งขึ้นมาเอง มาออกเสียงแทน ขณะที่สมาชิกจากสมาคมกีฬามีเป็น 33 เสียง และ 2 เสียงจาก ผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิกสากลในไทย 1 เสียง ผู้แทนนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ของไทย 2 เสียง รวม 46 เสียง
และในยุคบิ๊กอ๊อด สมัยที่ 4 (2556-2560) นี้ ได้กำหนดชัดๆ อีกว่า “กรรมการบริหารทั้งหมดจะมี 25 คนโดยเลือกจากสมาชิกสมัชชา และผู้ทรงคุณวุฒิ 23 คน และ 1 จากตำแหน่งตัวแทนคณะกรรมการโอลิมปิกสากลของไทย และ 1 จากตำแหน่งผู้แทนนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ของไทย แล้วทั้ง 25 คนนี้ก็จะลงมติเลือกประธานและตำแหน่งสำคัญ เช่น รองประธาน เลขา รองเลขา เหรัญญิก ผู้ช่วยเหรัญญิก
วันที่ 5 เม.ย.60 มีการเลือกตั้งผู้นำบ้านอัมพวันอีกครั้ง “บิ๊กอ๊อด” ถอนตัวจากการลุ้นต่อ และการเลือกตั้งก็เป็นการส่งต่อกันอย่างสันติให้กับ “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งขณะนั้นเรืองอำนาจการเมือง เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม และเป็นนายกสมาคมว่ายน้ำ(ต่อจากบิ๊กอ๊อด) โดยวันนั้น มีผู้ออกเสียง 46 คน จากสมาชิกจากสมาคมกีฬา 34 คน ผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิมจาก 10 มา 9 คน ผู้แทนโอลิมปิกสากลของไทย 1 คน และ ผู้แทนนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ของไทย 2 คน
วันที่ 1 พ.ย.2564 มีการประชุมสมัชชาใหญ่สามัญอีกครั้ง และก็เป็น “บิ๊กป้อม” ที่ยังเรืองอำนาจในวงการเมืองในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ได้รับการไว้วางใจต่ออย่างสันติ เป็นผู้นำสมัยที่ 2 โดยครั้งนี้ มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่จำนวน 25 คน (23+2) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 คน โดยผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งรวมทั้งหมด 49 คน
……………………..
ที่นำเรื่องนี้มาเล่าความไว้ เพื่อที่จะบอกว่า เราได้ติดตามเรื่องราวในองค์กรกีฬานี้มาโดยตลอดและมากพอควร ทั้งการเลือกผู้นำ การแต่งตั้งคนทำงาน การตั้งกติกาเพื่อใช้เอื้อตนเองพวกพ้อง และเห็นการเปลี่ยนแปลง ทั้งแบบสันติ ทั้งต่อสู้เพื่อวัดพลังกัน มีการใช้บารมี-อำนาจ การพึ่งพาผู้มีอำนาจ จนเมื่อเปรียบเทียบกับธรรมนูญหลัก ที่ที่จริงต้องถอดมาจากธรรมนูญของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) แล้วนั้น การดำเนินการในบ้านอัมพวันที่เกี่ยวกับเลือกผู้มานำพาบางครั้งก็ดูชัดว่า “เหมือนการละเล่น” ในกลุ่ม
ที่ผ่านมา ไม่ใช่ไม่มีอะไรดีครับ แต่ควรจะดีกว่านี้ โดยเฉพาะวิธีคิดและดำเนินการที่บางอย่างควรเปลี่ยน (ไหม)
เช่นลองย้อนไปดูหลายยุคสมัย หรือ แม้แต่ปัจจุบันยังเห็น คือ ขนาดธรรมนูญเขียนไว้ว่า กรรมการบริหารไม่เกิน 25 แต่ที่ปรากฏหลายยุคจำนวนยังเกินจำนวนที่ระบุ (เช็คดูได้) / ธรรมนูญมีระบุว่า ตำแหน่งบริหารต้องมาจากส่วนใดบ้างแต่ ยังจับพวกนอกธรรมนูญเข้ามาเสียบทำงานกันหน้าตาเฉย / มีการกีดกันสมาชิกสามัญโดยเฉพาะในส่วนของสมาคมกีฬาที่ปัจจุบันมีกว่าร้อยแห่งที่เข้าเกณฑ์ แต่ลองย้อนดูว่าในข้อมูลนี้ตั้งแต่เริ่มจนสุดท้ายวันนี้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ มันจึงทำให้เห็นถึงการพัฒนาที่จำกัดมาก
ยุคก่อนนั้น ใช้คณะกรรมการบริหารชุดเดิม มีส่วนร่วมในการออกเสียงเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ ก็ว่าไม่ควร และยุคต่อมาจนปัจจุบัน ใช้การตั้งผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่ออกเสียงแทน ซึ่งก็รู้ว่านี่คือการจะใช้เป็นฐานในการเอื้อพวกพ้อง รวมทั้งมีคำถามว่า ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีคุณสมบัติระบุในธรรมนูญชัดเจนว่าต้องเป็นใคร แล้วที่เลือกตั้งมาหลายครั้ง มักจะถูกตั้งคำถามว่า “คนนั้นคนนี้ ตรงคุณสมบัติข้อไหน” และตั้งมาแล้วเคยเห็นหน้าไหม แต่ละคนมีบทบาทในการให้ประโยชน์ต่อวงการกีฬาอย่างไร
และยุคก่อนนั้น ตำแหน่งต่างๆ ที่จะเป็นผู้นำ-ผู้ทำงานหลัก จะมาจากกรรมการบริหารสายสมาชิกสามัญที่เป็นผู้แทนจากสมาคมกีฬา ขณะที่ยุคหลังมีการจัดให้ผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมวงด้วย เพื่อเปิดช่องทางให้พวกพ้องเดินตามเข้าสู่อำนาจบริหาร จริงไหม !!!
บทสรุปข้อเขียนวันนี้ว่า : 25 มีนาคม 2568 นี้จะมีการประชุมสมัชชาใหญ่สามัญ ที่จะมีการเลือกตั้งผู้นำบ้านอัมพวันคนใหม่ ซึ่งไม่ว่าจะได้ใครมาเป็นกลุ่มผู้นำ ที่นี่ขอให้ท่านกลับไปทบทวนสิ่งที่ผ่านมา แล้วหากมองเห็นว่าควรเปลี่ยน ก็เดินหน้าแก้ไขให้มันเป็นไปตามสากลที่ควรจะเป็น อย่าทำเหมือน “การละเล่น” เพื่อสนุกในการเถลิงอำนาจ ในองค์กรที่เป็นหน้าเป็นตาทางการกีฬาของชาติไทยในระดับโลกเช่นที่ผ่านมานี้เลย…สาธุ
ย้อนอ่านบทความเก่าที่เกี่ยวข้อง
กติกาการเลือกผู้นำบ้านอัมพวัน https://www.station-thai.com/idea/53420