แม้จะมีความวุ่นวายหน่อยกับการดำเนินการ ซึ่งก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่วุ่นขนาดนี้ และก็ถือเป็นครั้งแรกที่ห้ามสื่อมวลชนเข้าไปร่วมในการประชุม ทั้งที่ยุคก่อนๆ สื่อมวลชนจะถือเป็นสักขีพยานต่อการประชุมมาตลอด
แต่อย่างไรก็ดี ก็เป็นไปตามคามคาดหมายครับกับการที่ องค์กรกีฬาสำคัญของไทย อย่าง คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ผู้นำ หรือ ประธานคนใหม่ ที่ชื่อ “ผศ.พิมล ศรีวิกรม์” ซึ่งข่าวที่รายงานก็คงทราบกันแล้ว แต่ที่นี่ก็อยากร่วมนำเสนอ ในส่วนของที่มาที่ไป และช่วงเวลาของ “ผู้นำบ้านอัมพวัน” แต่ละท่าน ก่อนที่จะเข้าสู่ตำแหน่ง จากคนแรกจนกระทั่งคนล่าสุด
โดย The Station THAI ได้รวมรวมข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับเรื่อง “ช่วงเวลา-รายชื่อ” เพื่อเขียนถึงช่วงเวลาแต่ละยุคของผู้นำโอลิมปิคไทย และที่มาของแต่ละคนที่เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือที่เรียกกันคุ้น ว่า “บ้านอัมพวัน”
โดยเริ่มจากยุคเริ่มต้นขององค์กรนี้ ปี พ.ศ. 2491 ที่พระยาจินดารักษ์ เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทยคนแรกตอนนั้น ดำรงตำแหน่งท่านเป็น นายกสมาคมรักบี้ กรีฑา และเคย เป็นอดีตอธิบดีกรมพลศึกษา (เป็นคนที่ 2 ต่อจากหลวงศุภชลาศัย) และมีตำแหน่งทางการเมืองคือ รมช.มหาดไทย ในยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี…และตอนออกจากตำแหน่งประมุขบ้านอัมพวันนี้ คือป่วยท่านหนักเมื่อปี พ.ศ.2501
……………………………….
ซึ่งรอยต่อ ในการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทย จากท่านพระยาจินดารักษ์ กับจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นข้อมูลที่ค้นหาเองและอ้างอิงได้จาก จากหนังสือ พระราชทานเพลิงศพของพระยาจินดารักษ์ 10 ต.ค.2509 ซึ่งระบุว่า ท่านดำรงตำแหน่งประธานโอลิมปิคไทย 2 สมัยคือ 2491-2495 และ 2496-2499 และทายาทได้เขียนถึงท่านว่า ในปลายปี 2501 ท่านได้ล้มป่วยลง เป็นอัมพาต การรักษาอาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตลงในวันที่ 10 มิ.ย.2509 นอกจากนี้ยังขออ้างอิงถึง การค้นพบจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 12 พ.ค.2501 ระบุคำสัมภาษณ์ เรื่องการริเริ่มที่จะจัดเซียพเกมส์ หรือกีฬาแหลมทองครั้งแรก ในปี 2502 นั้น ระบุผู้ให้สัมภาษณ์คือ พลโทประภาส จารุเสถียร (ยศณะนั้น) และระบุตำแหน่งท่านคือ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทย
และนอกจากนี้การจัดกีฬาเซียพเกมส์หรือแหลมทองครั้งแรก ปี 2502 ในประเทศไทย พบว่าหนังสือพิมพ์ยุคนั้น ที่ค้นหาได้ชัดเจน ได้เขียนถึง จอมพลประภาส เป็นประธานโอลิมปิคไทยและเป็นประธานสหพันธ์กีฬาเซียพเกมส์แล้ว จากนั้นในเซียพเกมส์ครั้งที่ 2 ที่ร่างกุ้ง พม่า ปี 2504 จอมพลประภาส ก็ไปร่วมงานที่พม่า ในนามของประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทย และในทำเนียบนักกีฬาครั้งนั้นก็ยืนยันชัด
…………………………………..
ยุคเริ่มเข้าสู่ตำแหน่งของจอมพลประภาส (จากเอกสารที่ค้นพบ) ปี พ.ศ.2501 หรือ 2502 สมัยแรกนั้น ท่านเป็น รมว.มหาดไทย และต่อมาครองตำแหน่งได้นานหลายสมัย ด้วยเส้นทางทางการเมืองที่ท่านรุ่งเรือง โดยเป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.มหาดไทย เป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสิ้นสุดตำแหน่งผู้นำบ้านอัมพวัน ในปี 2516 ด้วยเหตุทางการเมืองที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ
วันที่ 14 พ.ย.2516 ที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคไทย หรือที่เรียกว่าการประชุมสมาชิกสมัชชาใหญ่สามัญ ได้มีการเลือก “เสธ.ทวี” พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ขึ้นมาแทน จอมพลประภาส ด้วยในขณะนั้น เสธ.ทวี เป็น รมว.กลาโหม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นนายกสมาคมกีฬาฟันดาบ และดำรงตำแหน่งผู้นำบ้านอัมพวันมายาวนาน จนวันที่ 4 ก.พ. 2539 ท่านได้เสียชีวิต จึงพ้นจากตำแหน่งนี้ไปด้วยตามธรรมนูญระบุไว้
วันที่ 21 ก.พ.2539 พลเอก สุรพล บรรณกิจโสภณ ขณะนั้น เป็นรองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทย คนที่ 1 ก็ได้รับการเลือกจากสมาชิก ให้เป็นผู้นำบ้านอัมพวัน แทน เสธ.ทวี โดยมีวาระเพียง 1 ปี เท่าที่วาระของ เสธ.ทวี ที่ยังเหลืออยู่ และพ้นตำแหน่งนี้ไปเพราะหมดวาระ
วันที่ 28 มี.ค.2540 มีการเลือกตั้งผู้นำบ้านอัมพวัน อีกหน ซึ่ง “บิ๊กเหวียง” พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ในขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก และนายกสมาคมกีฬามวยสากล ถูกเลือกเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทยคนใหม่ โดยไม่มีคู่แข่งขัน และ ที่ออกจากตำแหน่งนี้ในอีก 4 ปี ต่อมาเพราะ “ไม่ถูกเลือก”
โดยการเลือกตั้งผู้นำบ้านอัมพวัน วันที่ 21 มี.ค.2544 “บิ๊กเหวียง” ที่เกษียณอายุราชการแล้ว เป็นประธานในการประชุมสมาชิกสมัชชาใหญ่สามัญ เพื่อเลือกตั้งผู้นำ ปรากฏว่าคะแนน “บิ๊กเหวียง” ที่ได้รับไม่พอที่จะเข้าเป็นคณะกรรมการบริหาร และจากนั้นคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ จึงเลือก “บิ๊กอ๊อด” พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ขณะนั้นเป็น รมช.กลาโหม และนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำ ซึ่ง บิ๊กอ๊อด อยู่ในตำแหน่งผู้นำบ้านอัมพวัน รวม 4 สมัยก่อนอำลาจากตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำ โดยส่งต่อให้นายกสมาคมว่ายน้ำคนใหม่ให้ “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแทนก่อนจะมีการเลือกตั้งผู้นำบ้านอัมพวันคนใหม่
และ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.60 ประชุมใหญ่ของสมาชิกบ้านอัมพวัน มีการเลือกตั้งประธานโอลิมปิคไทยคนใหม่ สมาชิกก็มีมติเลือก “บิ๊กป้อม” ที่ขณะนั้น นอกจากเป็นนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำแล้ว ยังดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นผู้นำบ้านอัมพวัน โดยไม่มีคู่แข่ง และ “บิ๊กป้อม” หมดวาระที่ 2 ของตัวเอง (ในปี 2567) จึงมีการเลือกตั้งผู้นำบ้านอัมพวันคนใหม่
และในวันที่ 25 มี.ค.2568 ณ ที่ทำการคณะกรรมการโอลิมปิคไทย ก็ได้มีการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทยคนใหม่ โดยผู้ที่แสดงความจำนงลงสมัครที่จะเป็นผู้นำคนที่ 8 ด้วยการเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งของสมาชิกสมัชชานั้น ประกอบด้วย นายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม นายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย มีอาชีพนักธุรกิจ กับ ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย มีอาชีพนักธุรกิจ และนักการเมือง โดยทั้ง 2 คนมีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการกีฬาไทยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ซึ่งมีเหตุการณ์วุ่นๆ ช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งตามกระบวนการที่ธรรมนูญข้อบังคับของคณะกรรมการโอลิมปิคไทย กำหนดไว้ มีการลงคะแนนเลือกกรรมการบริหาร – ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่ได้รับการเลือกเป็นกรรมการบริหาร-ผู้ทรงคุณวุฒิ ชุดใหม่ก็เลือกตำแหน่งบริหาร รวมทั้งประธานโอลิมปิคไทยคนใหม่ และสุดท้ายก็ปรากฏว่า “ผศ.พิมล” ได้รับการเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิคไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์คนใหม่ ถือเป็นผู้นำคนที่ 8 ตั้งแต่ตั้งองค์กรแห่งนี้มา โดยวาระการทำงานสมัยแรกนี้ จะอยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2568-2571
โดยสรุปก็คือ เราได้เห็นที่มาและช่วงเวลาของผู้นำบ้านอัมพวันทั้ง 8 คนแล้ว และก็ขอเป็นกำลังใจให้กับ ผู้นำคนใหม่ในการทำงานในวาระแรกหลังจากวันนี้เป็นต้นไปอีก 4 ปี ที่ชาวกีฬารอชมผลงานประธานและกรรมการบริหารชุดใหม่นี้แน่นอน.