จากรูปแบบการทำงานในปัจจุบัน จะพบว่ามักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยมีการนั่งมากกว่าการเดินหรือการขยับเขยื้อนร่างกาย ส่งผลให้มีอาการปวดตามข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย โดยหนึ่งในอาการปวดที่พบได้บ่อย คือ อาการปวดหลังส่วนล่าง หรือปวดบริเวณบั้นเอว เนื่องจากหลังส่วนล่างนี้เป็นส่วนที่รับน้ำหนักของร่างกายประมาณ 50% ของน้ำหนักทั้งหมด
และเมื่ออยู่ในท่านั่ง น้ำหนักส่วนนี้จะผ่านกระดูกสันหลังระดับเอวในทิศทางที่กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังระดับเอวต้องทำงานหนักขึ้น จนเกิดการล้าและทำงานได้ไม่เต็มที่ น้ำหนักที่ผ่านลงมาจึงผ่านลงส่วนประกอบของข้อต่อของกระดูกสันหลังระดับเอวเพิ่มมากขึ้นจนเกิดการบาดเจ็บ และมีอาการปวดหลังบริเวณนี้ตามมา อาการปวดหลังส่วนล่างนี้ พบได้ทั้งปวดเฉพาะบริเวณบั้นเอว ปวดร้าวลงสะโพก ร้าวลงกล้ามเนื้อก้น หรือร้าวลงถึงต้นขาด้านหลัง หรืออาจปวดร้าวถึงบริเวณส้นเท้าขึ้นอยู่กับตำแหน่งและระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บ
วิธีการออกกำลังกายเพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บที่ใช้ในการรักษาในปัจจุบันคือการออกกำลังกล้ามเนื้อที่ช่วยประคองกระดูกสันหลังซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่เกาะอยู่ที่กระดูกสันหลังและวางตัวอยู่ใกล้กระดูกสันหลัง ที่เรียกว่า “กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว” การกระตุ้นให้กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ทำงานทำได้โดยให้กระดูกสันหลังมีการเคลื่อนตัวเล็กน้อยขณะที่มีการทรงท่า ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวหลากหลายวิธี การฝึกการหายใจก็เป็นวิธีหนึ่งที่มีการนำมาใช้เพื่อลดอาการปวดหลัง โดยการหายใจด้วยวิธีที่ถูกต้องจะส่งผลให้กล้ามเนื้อแกนกลางทำตัวทำงานได้ดีขึ้น ช่วยให้กระดูกสันหลังมีความมั่นคงขึ้น จึงช่วยลดอาการปวดหลังได้
การหายใจของร่างกายเริ่มตั้งแต่อากาศเข้าทางจมูกผ่านมาทางทางเดินหายใจและเข้าสู่ปอด เมื่ออากาศเข้าสู่ปอด ทรวงอกจะขยายทั้งในแนวดิ่ง จากการยกไหล่ขึ้น แนวหน้า-หลัง จากการยกกระดูกหน้าอก และแนวกว้างจากการขยับของซี่โครง เพื่อเพิ่มปริมาตรทรวงอกให้อากาศถูกดึงเข้าสู่ปอดได้ แต่เนื่องจากปอดมีลักษณะส่วนบนแหลมส่วนล่างกว้าง ดังนั้นปริมาตรปอดส่วนใหญ่จึงอยู่ที่เนื้อปอดส่วนล่าง ดังนั้นการหายใจที่มีประสิทธิภาพคือรูปแบบการหายใจที่สามารถดึงอากาศลงสู่ปอดส่วนล่าง ซึ่งกล้ามเนื้อหลักที่ควบคุมการหายใจรูปแบบนี้คือ “กระบังลม” ดังนั้นหากเราฝึกหายใจโดยใช้กระบังลม ก็จะสามารถดึงอากาศเข้าสู่ปอดได้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการหายใจได้มากขึ้น
วิธีการหายใจโดยให้กระบังลมทำงาน ทำได้โดยการหายใจให้อากาศลงสู่ท้องน้อย ดันกระบังลมให้ลดต่ำลง กระบังลมจะดันให้ซี่โครงส่วนล่างจะกางขยายออกช่วยให้อากาศลงไปได้ถึงปอดส่วนล่างซึ่งเป็นเนื้อปอดส่วนใหญ่ จึงสามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดีขึ้น และการขยับของกระบังลมจะส่งผลให้กระดูกสันหลังระดับเอวมีการเคลื่อนไหวในช่วงน้อย ๆ กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวบริเวณนั้นจึงถูกกระตุ้นให้ทำงานเพิ่มมากขึ้น จึงมีความแข็งแรงและทำงานได้ดีขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้นการกดตัวลงของกระบังลมจะส่งผลให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นจึงเสริมความมั่นคงของกระดูกสันหลังได้ดีขึ้น สามารถช่วยลดอาการปวดหลังได้ โดยการหายใจรูปแบบนี้สามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่รบกวนชีวิตประจำวัน ช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นเพิ่มความสดชื่นให้ร่างกาย และยังมีผลในการลดอาการปวดหลังจากความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลังได้.