ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีภูมิปัญญามากมายหลายสาขา ซึ่งได้ถูกสั่งสมมาเป็นเวลาหลายร้อยปีผ่านการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทย และได้มีการนำเอาภูมิปัญญาไทยแขนงต่างๆ มาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพของคนในทุกกลุ่มวัย ผ่านงานวิจัยทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ตัวอย่างเช่น ภูมิปัญญาด้านการต่อสู้ป้องกันตัว ได้แก่ การออกกำลังกายด้วยท่ารำไหว้ครูมวยไทยที่ช่วยให้ผู้สูงอายุพัฒนาพุทธิปัญญาด้านความจำ ด้านสมาธิ ด้านการใช้เหตุผลและการตัดสินใจ และพัฒนาความอดทนของระบบไหลเวียนโลหิต (2555)
อีกทั้งช่วยพัฒนาความแข็งแรงและความอดทนของกล้ามเนื้อ การทรงตัว และลดภาวะการกลัวการล้ม (2556) การออกกำลังกายด้วยมวยไทยแอโรบิก ช่วยให้ผู้สูงอายุพัฒนาสุขสมรรถนะ การทรงตัว และลดการสลายของกระดูก (2557) การออกกำลังกายด้วย ท่าของมวยไทยช่วยให้ผู้สูงอายุพัฒนาการทรงตัว ความอ่อนตัว และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา (2561) การออกกำลังกายด้วยท่ารำไม้พลอง (2549) การออกกำลังกายด้วยท่ารำกระบี่ (2551) และการออกกำลังกายด้วยท่ารำดาบสองมือประยุกต์ (2563) ช่วยให้ผู้สูงอายุพัฒนาสุขสมรรถนะและการทรงตัว ตลอดจนการออกกำลังกายด้วยไม้พลองที่ช่วยพัฒนาความสามารถทางการเคลื่อนไหวและทักษะทางสังคมของเด็กกลุ่ม ออทิสติก สเปคตรัม (2555)
อีกทั้งยังมีภูมิปัญญาด้านนาฏศิลป์ ได้แก่ การออกกำลังกายด้วยท่ารำไทยที่ช่วยพัฒนาความสามารถในการเคลื่อนไหวและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยพาร์กินสัน (2554) อีกทั้งช่วยพัฒนาความสามารถในการเดินและการทรงตัวของผู้สูงอายุ (2562) ตลอดจนพัฒนาความยืดหยุ่นและลดความเจ็บปวดกล้ามเนื้อของพนักงานสำนักงานเพศหญิง (2562) การออกกำลังกายด้วยท่ารำกระทบไม้แบบประยุกต์ที่ช่วยพัฒนารูปแบบการเดินและการทรงตัวในผู้ป่วยพาร์กินสัน (2559) การออกกำลังกายด้วยท่าฝึกโขนเบื้องต้นที่ช่วยพัฒนาสมรรถภาพในการปฏิบัติกิจกรรม การทรงตัว และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ (2560)
นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาด้านการดูแลสุขภาพ ได้แก่ การออกกำลังกายด้วยท่าฤาษีดัดตนที่ช่วยพัฒนาความอ่อนตัวและการทรงตัวของผู้สูงอายุ (2551) ตลอดจนพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความ อ่อนตัวของผู้หญิงวัยทำงาน (2553)
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ภูมิปัญญาไทยนั้นมีคุณค่ามากมาย สามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมสุขภาพของคนกลุ่มวัยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ควรค่าแก่การเผยแพร่ให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติได้รับรู้ อีกทั้งควรมีการส่งเสริมให้การออกกำลังกายด้วยภูมิปัญญาไทยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการออกกำลังกายสำหรับคนในทุกกลุ่มวัย เพื่อแสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในวิถีชีวิต และเป็นการรักษาภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่สืบไป