ความจำของกล้ามเนื้อช่วยได้

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพรระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 ทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมถึงในวงการกีฬาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเห็นได้จากมีการเลื่อนหรือยกเลิกการจัดการแข่งขันกีฬาทั้งในระดับชาติและนานาชาติในหลายๆรายการ

ในส่วนของนักกีฬาเองไม่ว่าจะเป็นกีฬาสมัครเล่นหรืออาชีพก็ได้รับผลกระทบเช่นกันจากการปิดสนามกีฬาและสถานที่ออกกำลังกายทั้งในร่มและกลางแจ้ง  ทำให้นักกีฬาไม่สามารถทำการฝึกซ้อมได้ต่อเนื่องหรืออาจต้องหยุดฝึกซ้อมเป็นเวลานานหลายเดือน ส่งผลทำให้ระดับความฟิตของนักกีฬาลดลง (Detraining) อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 เริ่มดีขึ้น นักกีฬามีโอกาสได้เริ่มกลับมาฝึกซ้อมและแข่งขันกีฬาได้มากขึ้น

ถึงกระนั้นก็ตามผู้ฝึกสอนหลายๆท่านอาจมีความกังวลใจหรือมีคำถามว่านักกีฬาจะสามารถกลับมาฟิตทันและได้เหมือนเดิมไหม โดยปกติเป็นที่ทราบกันดีว่านักกีฬาที่เคยได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีแล้วจะยังสามารถกลับมาปฏิบัติทักษะต่างๆได้ดีเหมือนเดิม (Skill retention) ถึงแม้ว่าจะต้องหยุดการฝึกซ้อมเป็นระยะเวลาหนึ่ง (เหมือนกับการเล่นเครื่องดนตรี)

โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าที่เป็นเช่นนี้น่าจะเกิดจากมีการปรับตัวของสมองและระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ หลังจากการฝึกฝนและทำซ้ำๆกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อสามารถจดจำทักษะการเคลื่อนไหวได้ หรือที่เรียกว่า Motor memory ส่งผลให้นักกีฬาสามารถปฏิบัติทักษะได้อย่างคล่องแคล่วเป็นอัตโนมัติโดยไม่ต้องผ่านการคิดหรือการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆนี้ Lawrence Schwartz นักชีววิทยาชาวอเมริกันได้พบว่ากล้ามเนื้ออาจมีหน่วยความจำอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง เรียกว่า Muscle memory ซึ่งเกิดจากการสะสมของนิวเคลียสในเซลล์กล้ามเนื้อ (Myonuclei)  โดยทำหน้าที่ในการสังเคราะห์โปรตีนของกล้ามเนื้อหลังจากได้รับการฝึกยกน้ำหนักหรือการใช้สารกระตุ้นเช่น Anabolic steroids เป็นต้น

ที่พบว่าจำนวนนิวเคลียสดังกล่าว (ซึ่งมาจากเซลล์ต้นกำเนิดของกล้ามเนื้อ) จะเพิ่มมากขึ้นเป็นสัดส่วนกับขนาดของกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น (Hypertrophy) โดยที่จำนวนนิวเคลียสนี้ไม่ได้ลดลงถึงแม้ว่าขนาดของกล้ามเนื้อจะลดลง (Atrophy) เนื่องมาจากการไม่ได้ใช้งาน ซึ่งขัดแย้งกับทฤษฏีของใช้งาน (Use it or lose  it) ที่เป็นที่เข้าใจกัน โดยมีการสันนิษฐานว่าจำนวนนิวเคลียสนี้จะทำหน้าที่เป็นเสมือนหน่วยความจำของกล้ามเนื้อ ซึ่งเมื่อใดก็ตามถ้านักกีฬาได้กลับมาฝึกซ้อมอีกครั้งหนึ่ง ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อสามารถพัฒนาและเจริญเติบโตได้เร็วกว่าปกติ

ซึ่งหน่วยความจำที่ว่านี้สามารถคงอยู่ได้นานถึง 15 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับช่วงอายุและระดับความฟิตของนักกีฬา โดยพบว่านักกีฬาวัยหนุ่มสาวและมีความฟิตสูง มีความสามารถที่จะฟื้นฟูมวลกล้ามเนื้อได้มีประสิทธิภาพดีกว่านักกีฬาสูงอายุ ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนนิวเคลียสของกล้ามเนื้อจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งปัจจัยนี้อาจเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุมีมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงลดลง

กล่าวโดยสรุปได้ว่า Muscle memory แตกต่างจาก Motor memory ซึ่งข้อมูลนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ฝึกสอนและนักกีฬาในการวางแผนการฝึกซ้อมกีฬาเพื่อการแข่งขัน โดยควรแนะนำให้นักกีฬาเริ่มฝึกซ้อมและเล่นกีฬาตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อที่จะช่วยรักษาหน่วยความจำของกล้ามเนื้อให้คงอยู่ยาวนานจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ.

RANDOM

สำนักงานวิจัยแห่งชาติ ประกาศรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ประจำปีงบประมาณ 2567 รุ่นที่ 26 ยื่นข้อเสนอการวิจัยได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 25 กันยายน 2566

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!