ชัยชนะของนักกีฬาสตรีของสหรัฐ จากการเรียกร้องความเสมอภาค

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สะท้อนถึงความเท่าเทียมกันในวงการกีฬา เมื่อทีมฟุตบอลหญิงของสหรัฐอเมริกาสามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนที่เท่ากัน (Equal pay) ที่มีสหพันธ์ฟุตบอลแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Soccer Federation) โดยสหพันธ์ฟุตบอลแห่งสหรัฐอเมริกายินยอมที่จะจ่ายเงิน 22 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับนักฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกา (มีคนเข้าร่วมฟ้องร้อง 28 คน) และจะมีการจัดสรรเงินจำนวน 2 ล้านเหรียญ (เพิ่มเติมจากวงเงิน 22 ล้านเหรียญสหรัฐ) จะถูกกันไว้สำหรับเป็นกองทุนให้นักฟุตบอลหญิงสามารถกู้ยืมในภาวะฉุกเฉินได้คนละไม่เกิน 50,000 เหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ยังได้มีการบรรลุข้อตกลงที่สหพันธ์ฟุตบอลแห่งสหรัฐอเมริกายินยอมที่จะจ่ายเบี้ยเลี้ยงและโบนัสที่เท่ากันระหว่างนักฟุตบอลชายและนักฟุตบอลหญิงในการแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรและการแข่งขันฟุตบอลโลกอีกด้วย

ปัญหาเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันเป็นปัญหาใหญ่ในวงการกีฬามาอย่างยาวนาน ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าการเพิ่มจำนวนนักกีฬาหญิงจะทำให้เกิดการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆได้มากขึ้น จากรายงานของ Pew Research Center พบว่าในสหรัฐอเมริกาค่าตอบแทนของผู้หญิงอยู่ที่ 84% ของผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงต้องทำงานเพิ่มมากถึงประมาณ 1 เดือนครึ่ง (42 วัน) จึงจะมีค่าตอบแทนเท่ากับผู้ชาย ซึ่งความห่างระหว่างค่าตอบแทนที่ได้รับของผู้ชายและผู้หญิงมีแนวโน้มคงที่ช่วงปี 2020 ที่ผ่านไป

แต่สำหรับในวงการกีฬาความห่างระหว่างค่าตอบแทนของนักกีฬาชายและนักกีฬาหญิงไม่ได้มีแนวโน้มที่ลดลงแต่อย่างใด เช่นในปี 2019-2020 Stephen Curry นักบาส NBA ที่ทำรายได้สูงสุดมีรายได้มากถึง 40 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ De Wanna Bonner นักบาส WNBA ที่ทำรายได้สูงสุดมีรายได้เพียง 127,000 เหรียญสหรัฐ Lionel Messi นักฟุตบอลชายที่มีรายได้สูงสุดมีรายได้มากกว่า Carli Lloyd นักฟุตบอลหญิงที่มีรายได้สูงสุด ซึ่ง Carli Lloyd มีรายได้เพียงแค่ 0.3% ของ Lionel Messi เท่านั้น

นักวิชาการหลายท่านออกมาชี้ประเด็นว่าเนื่องจากการแข่งขันของนักกีฬาเพศหญิงไม่ได้รับการติดตามจึงทำให้ตลาดของนักกีฬาหญิงเล็กกว่าตลาดของนักกีฬาชาย ทำให้นักกีฬาหญิงมีรายได้น้อยกว่านักกีฬาชายมาก แต่ Dr. Laura Claus กล่าวว่ารายได้ของนักกีฬาเป็นตัวชี้นำตลาดดังนั้นถ้านักกีฬาหญิงมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้ตลาดของการแข่งขันนักกีฬาหญิงเป็นที่ติดตามเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ซึ่งความเห็นดังกล่าวสะท้อนกับการจัดการของ NCAA องค์กรการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาที่พบว่าการแข่งขันของนักกีฬาหญิงได้รับการประเมินคุณค่าต่ำเกินไป (undervalue) เมื่อเทียบกับการแข่งขันของนักกีฬาชายทำให้โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ห้อง weight training ห้องพักนักกีฬาของนักกีฬาหญิงมีสภาพที่แตกต่างจากนักกีฬาชายอย่างมาก ทำให้ NCAA จะเข้ามาสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมกันเพิ่มมากขึ้น

Dr. Laura Claus ยังได้ถอดบทเรียนของกีฬาเทนนิสว่ากีฬาเทนนิสทำอย่างไรจึงสามารถจ่ายค่าตอบแทนหรือเงินรางวัลที่เท่ากันระหว่างนักเทนนิสชายและนักเทนนิสหญิงได้ โดยมีบทเรียนของกีฬาเทนนิสที่ เช่นการเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหว (movement) ในกลุ่มต่างๆ เช่นในกรณีของเทนนิสที่ Billie Jean King ที่สนับสนุนให้เกิด WTA และเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของสิทธิสตรี หรือแม้กระทั่งในการเคลื่อนไหวของนักฟุตบอลหญิงของสหรัฐที่เรียกร้องไปยังสาธารณชน การสร้างองค์กรที่ดูแลการแข่งขันของนักกีฬาหญิงโดยเฉพาะเช่น WTA ที่เน้นว่าเป็นกีฬาเดียวกันแต่การแข่งขันคนละประเภท

แต่ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างต้นแบบนักกีฬา (Role Model) ให้กับสาธารณชน ซึ่งในกรณีนี้ประเทศไทยก็เคยประสบความสำเร็จมาแล้วกับการสร้างต้นแบบนักกีฬาหญิง ไม่ว่าจะเป็นนักวอลเลย์บอลหญิง เช่นคุณปลื้มจิต ถินขาว คุณวิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ หรือจะเป็นเร็วๆนี้ในกรณีของคุณเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ซึ่งต้นแบบนักกีฬาเหล่านี้ทำให้กีฬาหญิงของประเทศไทยประสบความสำเร็จในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

 

                                                                                                                                รศ.ดร. ชัยพัฒน์ หล่อศิริรัตน์

                                                                                                                                คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา

                                                                                                                                จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!