อำนาจอ่อน (Soft Power) หมายถึง ความสามารถในการจูงใจเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับนโยบายการบริหารองค์กรให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ นิยมใช้ในการบริหารองค์กรระดับประเทศ จำแนกเป็น 3 ประเภทสำคัญ ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบาย
อำนาจอ่อน ถูกนิยามโดย โจเซฟ ไนย์ ศาสตราจารย์แห่งฮาร์วาร์ด อดีต รมว.ต่างประเทศ และ รมว.กลาโหม ของสหรัฐ ในยุคประธานาธิบดี บิล คลินตัน เมื่อ ปี ค.ศ. 1990 โดยตัวอย่างการใช้อำนาจอ่อนทางการกีฬา เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1971 จากกรณีที่สหรัฐ และจีน ใช้กีฬาเทเบิลเทนนิสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม จนสามารถสลายสงครามเย็น และได้รับการขนานนามการใช้อำนาจแบบนี้ว่า การทูตปิงปอง (Ping-Pong Diplomacy)
อำนาจอ่อนของแต่ละประเทศส่วนมากจะมุ่งเน้นเป็นประเภทวัฒนธรรมและกีฬา เช่น ภาพยนตร์ ฮอลลีวูด ของสหรัฐอเมริกา วงบีทีเอส หรือลิซ่า แบล็กพิงค์ เป็นศิลปินดาราบอยแบรนด์และเกิร์ลกรุ๊ปจากประเทศเกาหลีใต้ การ์ตูนกีฬาฟุตบอลกัปตันซึบาสะ การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก) ของประเทศอังกฤษ สำหรับประเทศไทยก็มีอำนาจอ่อนที่โดดเด่นคือ มวยไทย จะเห็นได้ว่า อำนาจอ่อนเหล่านี้แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างคาดไม่ถึง ประเทศที่ใช้อำนาจอ่อนได้ดีย่อมจูงใจให้บุคคล องค์กร หรือประเทศอื่น ตกอยู่ภายใต้อำนาจอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งก่อให้เกิดความต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม ท่องเที่ยว อยู่อาศัย ลงทุน ใช้จ่าย หรือแม้กระทั่งโอนสัญชาติ
ปัจจุบันอำนาจอ่อนเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการจัดการกีฬา หลายองค์กรกีฬาและหลายประเทศร่วมกันแสดงออกเพื่อโน้มน้าวให้ประเทศรัสเซีย ยุติการทำสงครามกับยูเครนด้วยการใช้อำนาจผ่านวิธีการต่างๆ ที่นุ่มนวล เช่น สโมสรชาลเก้ 04 ของเยอรมนี ถอดป้ายผู้สนับสนุน ก๊าซพรอม (Gazprom) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ออกจากหน้าอกเสื้อแข่งขัน ขณะที่ ราล์ฟ รังนิค กุนซือของแมนฯ ยูไนเต็ด นำนักเตะของคนเองรวมถึงทีมคู่แข่ง ร่วมกันชูป้ายสันติภาพแก่ยูเครน ก่อนเริ่มการแข่งขัน
ส่วนโรมัน อับราโมวิช ประกาศขายสโมสรเชลซี เพื่อลดแรงต่อต้านสงครามรัสเซีย-ยูเครน ด้านพรีเมียร์ลีกระงับการถ่ายทอดสดกับรัสเซียพร้อมบริจาคเงิน 1 ล้านปอนด์ช่วยเหลือชาวยูเครน ขณะที่โปแลนด์ สวีเดน และสาธารณรัฐเช็ก แสดงจุดยืน โดยไม่แข่งฟุตบอลโลกรอบเพลย์ออฟในประเทศรัสเซีย และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) อนุญาตให้นักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนต่างชาติในรัสเซีย-ยูเครน ยกเลิกสัญญาชั่วคราวและหางานใหม่ได้ทันทีในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่สงบ และล่าสุด ประกาศปรับรัสเซียตกรอบเพลย์ออฟ ฟุตบอลโลก 2022
หากพิจารณาอำนาจอ่อนทางวัฒนธรรมและกีฬาของประเทศไทยที่โดดเด่น น่าจะครอบคลุม 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น เทศกาลประเพณี และมวยไทย ซึ่งผู้ประกอบการและผู้จัดการ อาจใช้ความได้เปรียบนี้ในการจัดการทางการกีฬาร่วมกับนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ เมืองกีฬา (Sports City) การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) หรืออุตสาหกรรมกีฬา (Sports Industry) อันจะก่อให้เกิดนวัตกรรมการบริการหรือธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวมวยไทยระยะ 3 เดือน ซึ่งครอบคลุมการจัดการการเดินทาง ที่พัก อาหารท้องถิ่น การชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม และการฝึกมวยไทยเพื่อให้ได้การรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ หรือ การจัดการแข่งขันมวยไทยแบบเสมือนจริง (Virtual Muaythai) เป็นต้น
อำนาจอ่อน จึงไม่น่าจะเป็นนโยบายการบริหารองค์กรระดับประเทศอีกต่อไป ตรงกันข้าม การจัดการกีฬาในอนาคตอาจต้องใช้อำนาจอ่อนเป็นกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนองค์กรกีฬาให้เกิดประสิทธิผลก็เป็นได้
ผศ.ดร.ดิฏฐชัย จันทร์คุณา
สมาคมการจัดการกีฬาแห่งประเทศไทย