กระแสการรับประทานอาหารคีโตในเมืองไทย (Ketogenic diet) เริ่มเป็นที่นิยมกันมากในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมานี้ แต่จากข้อมูลเราพบว่าการรับประทานคีโต เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ.1920 แล้ว ซึ่งในขณะนั้นเป็นการนำมารักษาโรคลมชัก แต่เมื่อมียารักษาโรคลมชักเกิดขึ้นการใช้วิธีนี้ก็เริ่มลดลงไป ปัจจุบันคีโตถูกนำมาใช้ในรูปแบบสำหรับการควบคุมน้ำหนักสำหรับคนทั่วไป และเป็นวิธีการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ระดับอินซูลินและระดับไขมัน
สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งนี้จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์และได้รับการประเมินความเสี่ยงก่อนเริ่มโภชนาการรูปแบบนี้เพื่อความปลอดภัยในกลุ่มที่มีโรคบางชนิด วิธีการอื่นๆที่ช่วยทำให้คีโตนสูงในเลือด นอกจากโภชนาการแบบคีโต คือ การหยุดรับประทานอาหาร (Fasting) การรับประทานคีโตนเสริม (Exogenous ketone) และการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
จากผลการศึกษาในงานวิจัยปี 2021 พบว่า การออกกำลังกายร่วมกับโภชนาการแบบคีโตเป็นโปรแกรมที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินและโรคอ้วน สามารถช่วยลดขนาดเส้นรอบวงเอวและระดับไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงไม่มีปัญหาน้ำหนักขึ้นๆลงๆ (Yo-yo effect) อีกด้วย ในส่วนของโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีโภชนาการแบบคีโต ควรเป็นรูปแบบการออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic exercise) ร่วมกับการออกกำลังกายด้วยแรงต้าน (Resistance exercise) ที่ระดับความหนักปานกลางถึงหนักมาก (Moderate to vigorous intensity) ประมาณ 30-60 นาที จำนวน 4 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 9 สัปดาห์ โดยสัดส่วนการโภชนาการแบบคีโตประกอบด้วยกการรับประทานไขมัน มากกว่าร้อยละ 65 โปรตีน มากกว่าร้อยละ 25 และคาร์โบไฮเดรต น้อยกว่าร้อยละ 10 หรือน้อยกว่า 50 กรัมต่อวัน
การออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic exercise) สามารถเลือกที่จะเดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นรำ แต่ต้องให้เหนื่อยระดับปานกลาง (65-75%) ถึงหนักมาก (76-96%) ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (HR max) โดยหาค่าได้จากการนำ 220 -อายุ หรือถ้าเป็นการเดินหรือวิ่งเราสามารถประเมินคร่าวๆจากจำนวนก้าวต่อนาที ถ้าเป็นระดับความหนักปานกลาง จะอยู่ที่ 100 ก้าวต่อนาที และถ้ามากกว่า 100 ก้าวต่อนาทีถือว่าเริ่มเข้าสู่ระดับความหนักมาก ในส่วนของการออกกำลังด้วยแรงต้าน (Resistance exercise) นั้นก็สำคัญเช่นเดียวกันเพราะเป็นตัวช่วยในการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงช่วยลดระดับค่า HbA1c ในผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานอีกด้วย ท่าทางในการฝึกออกกำลังกายแบบแรงต้านควรเน้นกลุ่มกล้ามเนื้อมัดหลักใหญ่ เช่น กล้ามเนื้อต้นขา สะโพก หน้าท้อง หลัง หน้าอก ไหล่ เป็นต้น โดยฝึกประมาณ 8-15 ครั้ง ต่อกลุ่มกล้ามเนื้อ และทำซ้ำ 2-3 เซต
การเลือกรับประทานอาหารแบบคีโตร่วมกับการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อกลุ่มที่ต้องการลดน้ำหนัก ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่มีโรคอ้วนและผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ทั้งโภชนาการแบบคีโตนั้นบางครั้งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกันในบุคคลที่มีโรคแทรกซ้อนหรือมีข้อจำกัดทางสุขภาพ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงควรศึกษาหาความรู้ก่อนให้ดีรวมถึงปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เราได้รับความปลอดภัยและประโยชน์จากวิธีการเหล่านี้.
ผศ.ดร.สุรสา โค้งประเสริฐ
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย