ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ แบ่งสายกันเรียบร้อยแล้ว โดยแรกเริ่มเดิมที คู่เปิดสนามในวันที่ 21 พ.ย. เป็นการพบกันระหว่าง “เจ้าภาพ” กาตาร์ กับ เอกวาดอร์ ในสาย เอ แต่พอฟีฟ่าประกาศโปรแกรมแข่งขันอย่างเป็นทางการออกมาจริงๆ คู่เปิดสนามกลับเป็นการเตะอีกคู่ในสาย เอ นั่นคือ ฮอลแลนด์ พบ เซเนกัล ในเวลา 13.00 น. หรือตรงกับเวลาประเทศไทย 17.00 น.
ส่วนคู่ กาตาร์ กับเ อกวาดอร์ นั้น จะเตะกันในเวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลาไทย 23.00 น. นอกจากนี้ในวันแรกของการแข่งขัน คือ 21 พ.ย.นั้น ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์บอลโลก ที่มีการเตะกันถึง 4 คู่ คือนอกจากในสาย เอ แล้ว ยังมีการเตะในสาย บี อีก 2 คู่ตามเวลาไทย คือ อังกฤษ พบ อิหร่าน เวลา 20.00 น. และ สหรัฐ พบกับผู้ชนะรอบเพลย์ออฟ ที่เวลส์ รอพบผู้ชนะระหว่าง สกอตแลนด์ กับ ยูเครน
เหลือเวลาอีกประมาณ 7 เดือนเศษ ฟุตบอลโลก 2022 จะเปิดฉากขึ้น แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีรายงานออกมาว่า จะมีหน่วยงานรัฐ หรือเอกชนรายใด ติดต่อซื้อลิขสิทธิมาถ่ายทอดสดให้แฟนบอลชาวไทยได้ชมกันหรือไม่ ซึ่งคล้ายคลึงกับเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ร้อนถึงหน่วยงานภาครัฐ ต้องออกมาประสานขอความร่วมมือเอกชน 9 ราย ลงขันเงินจำนวน 1,400 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าลิขสิทธิ์ 1,149 ล้านบาท และค่าดำเนินการ 251 ล้านบาท จัดการถ่ายทอดสดชาวไทยได้ชมกัน ลงตัวก่อนหน้าการแข่งขันจะเริ่มขึ้นเพียงไม่ถึง 2 เดือนเท่านั้น
ถามว่าเป็นเพราะเหตุใด การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในเมืองไทยจึงถูกเมิน คำตอบง่ายๆ ก็คือ ความคุ้มค่าในการลงทุน ที่ในสภาพเศรษฐกิจยามนี้ คงยากที่จะมีบริษัทเอกชนใดๆ ของไทย ที่จะกล้าลงทุนมากมายนับพันล้านบาท โดยไม่มีหลักประกันว่าจะ “คุ้มทุน” หรือไม่ ในขั้นตอนการจัดการที่ยุ่งยากพอสมควร ไม่ว่าจะเรื่องการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์จากฟีฟ่า การหาช่องดิจิทัลทีวีในการถ่ายทอดสดตามกฎมัสต์แฮฟของ กสทช. อย่างน้อย 2 ช่อง ในกรณีที่การเล่นรอบแรกนัดสุดท้ายเวลาตรงกัน การขายสปอนเซอร์ ฯลฯ นั่นคือคนที่จะทำเรื่องนี้ได้คงต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านนี้มาพอสมควร
ล่าสุดจากสมาชิก 211 ชาติของฟีฟ่า มีเพียงแค่ 85 ชาติเท่านั้น ที่เจรจาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในจำนวนนี้เป็นชาติกลุ่มอาเซียน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และกัมพูชา ในส่วนของไทยนั้น ถึงเวลานี้แม้ว่ายังไม่มีเอกชนรายใดออกมาแสดงความชัดเจนกับเรื่องนี้ แต่พอใกล้ถึงเวลาแข่งขัน ถ้ายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ อีก เหตุการณ์ก็คงอาจจะเข้าอีหรอบเดิม คือ ภาครัฐจะ “ออกตัว” มาจัดการเรื่องนี้ ที่ก็จะเป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่า “การเมือง” กับ “กีฬา” นั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร
ดร.อนุชิต กุลวานิช
วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ
มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา