หลังจากสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มจะคลี่คลายในหลาย ๆ ประเทศ มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้มีหลายประเทศเริ่มประยุกต์แนวคิดอยู่ร่วมกับCOVID มากขึ้น โดยพิจารณาจากกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น สำหรับนักท่องเที่ยวจะไม่มีการตรวจหาเชื้อCOVIDก่อนเข้าประเทศ รวมถึงไม่มีการกักตัวนักท่องเที่ยว เช่น ในสหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และมัลดีฟส์เป็นต้น และอีกหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และหลาย ๆ รัฐในสหรัฐอเมริกา ที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอีกต่อไป
สำหรับในประเทศไทยแล้ว จากที่ได้มีการประกาศในช่วงต้นสัปดาห์ของมีนาคมซึ่งจะมีนโยบายที่จะผลักดันให้COVIDกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เสมือนกับโรคหวัดทั่วไปที่เราทุกคนประสบพบเจอ ซึ่งกำหนดการวางแผนนั้นเป็นไปตามเดือนต่าง ๆ ได้แก่ มีนาคมถึงต้นเมษายน จะมีการพยายามกดตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ให้สูง เมษายนถึงพฤษภาคม จะเป็นการคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น จนลดลงเรื่อย ๆ ปลายพฤษภาคมถึงสิ้นเดือนมิถุนายน จะเป็นการลดผู้ติดเชื้อให้เหลือ 1,000 – 2,000 ราย อัตราเสียชีวิต 0.1% และตั้งแต่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป จะเป็นการประกาศให้COVID ในประเทศไทยเป็นโรคประจำถิ่น
ความท้าทายที่่ทิศทางการท่องเที่ยวไทยต้องเผชิญในปัจจุบันนอกจากกระแสซบเซาด้านการท่องเที่ยวมากว่า 2 ปีแล้ว เมื่อมีการเปิดประเทศก็พบว่าจะเป็นเรื่องของการปรับกฎเกณฑ์ในช่วงโอมิครอน และการต้องสมัคร Thailand Pass จองแพคเกจโรงแรมพร้อมการตรวจแบบrt-PCR และประกันภัยหากมีการติดCOVID ก็ได้มีการร้องขอให้ทบทวนจากแวดวงผู้ประกอบการต่าง ๆ เนื่องจากในความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวมีความวุ่นวายยุ่งยากในการกรอกThailand Pass และต้องมีการตรวจrt-PCR แล้วจากประเทศต้นทาง
ซึ่งหากประกาศเป็นโรคประจำถิ่นอย่างแท้จริง นโยบายดังกล่าวก็จะต้องมีการยกเลิกไปพร้อม ๆ กับนโยบายทางสาธารณสุข อย่างไรก็ตามความท้าทายที่สำคัญคือการปรับทัศนคติของคนไทยที่มีต่อCOVID เพราะสิ่งที่สำคัญสำหรับการท่องเที่ยวไม่แพ้ทัศนียภาพ สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ก็คือความโอบอ้อมอารีที่เจ้าบ้านมีต่อผู้มาเยี่ยมเยือน แต่พบว่าจากการติดตามข่าวสารในช่วงที่ผ่านมา คนไทยยังหวาดกลัวกับCOVID อย่างมาก อาจมีส่วนมาจากข่าวที่พยายามรณรงค์ให้คนไทยป้องกันดูแลตนเองและการประกาศตัวเลขรายวันมาตลอด 2 ปีกว่า และในช่วงระยะแรกที่ยังไม่มีการปิดประเทศ มีการเลือกปฏิบัติเช่นไม่ขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเนื่องจากกลัวCOVID อีกด้วย
นอกจากนี้แล้วทัศนคติในการโทษว่าเป็นความผิดของผู้ติดCOVID ก็ยังมีอยู่ ดังนั้นรัฐจึงควรที่จะแก้ปัญหาโดยการจัดการข้อความที่ส่งให้ประชาชน เน้นการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงการกลายเป็นโรคประจำถิ่นเฉกเช่นเดียวกับเมื่อพยายามให้ประชาชนดูแลตัวเองและรณรงค์ให้ไปฉีดวัคซีน ทั้งนี้ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาซึ่งมีการเดินทางเคลื่อนย้ายอย่างสูงจะต้องมีการประเมินภาพรวมสถานการณ์เพื่อเตรียมพร้อมรองรับนโยบายซึ่งถือเป็นการฝึกซ้อมก่อนจะใช้แนวคิดโรคประจำถิ่นที่แท้จริงในเดือนกรกฎาคม
ผศ.ดร.กุลพิชญ์ โภไคยอุดม
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย