วันนี้ Station Thai จะพามาทำความรู้จักกับ ความหมายของ “อายุความ” ในแต่ละคดี ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ด้านกฎหมายที่ไม่ควรมองข้ามกันครับ
อายุความ ตามกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ ระยะเวลาสำหรับการฟ้องคดีและอายุความสำหรับการนำตัวผู้กระทำความผิดอาญามาลงโทษ โดยขึ้นอยู่กับอัตราโทษของแต่ละฐานความผิด อายุความการฟ้อง คดีอาญาและการนับระยะเวลา “วันเริ่มนับอายุความ” “วันที่เริ่มนับอายุความใหม่” รวมถึงผลของการไม่ฟ้องคดีหรือนำตัวผู้กระทำความผิดมาศาลภายในกำหนดอายุความ
เมื่อเป็น ผู้เสียหายในคดีอาญา แล้วอย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะการปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยนานไปก็อาจมีผลเสียในด้านกระบวนวิธีพิจารณาคดี การพิสูจน์พยานหลักฐาน และการลงโทษผู้กระทําความผิดได้ ยิ่งระยะเวลาเนิ่นนานออกไปมากเท่าไร ความทรงจําของพยานตลอดจนการหาพยานหลักฐาน ย่อมสูญหายหรือเลือนไปได้ในที่สุด
มาตรา 95 ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ (1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี (2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปี แต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี (3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี (4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี (5) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิด หลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้ว นับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน
มาตรา 96 ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
หากต้องการทราบอายุความในแต่ละฐานความผิด อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb06/%bb06-20-9999-update.pdf
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานกิจการยุติธรรม