ศาสตราจารย์นายแพทย์ บุญสม มาร์ติน
เป็นชาวจังหวัด ลำปาง เกิดวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2465 ถึงแก่กรรม 9 มิถุนายน พ.ศ.2551
การบันทึกนี้ถือเป็นการบันทึกถึงเกียรติประวัติ และผลงานท่านในวงการกีฬาของประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลที่สนใจศึกษา
#การเป็นตัวแทนนักฟุตบอลทีมชาติไทย
ปี พ.ศ.2489 “นายแพทย์บุญสม” เป็นนักฟุตบอลตัวแทนประเทศไทย ในนามทีมกรุงเทพ 11 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันก่อนที่จะมีการตั้งสมาคมฟุตบอล เพื่อรวมทีมไว้แข่งขันกับทีมต่างประเทศซึ่งเดินทางเข้ามาขอแข่งขันที่ประเทศไทยในช่วงนั้น
โดยนายแพทย์บุญสม ได้เคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ เมื่อ 1 มี.ค.2513 ว่า “เมื่อ ปลายปี 2488 หลังจากสิ้นสงครามใหม่ ๆ ได้มีนักฟุตบอลจากต่างชาติ เข้ามาแข่งขันในประเทศไทย และ เอาชนะทีมไทยไปอย่างราบคาบ ด้วยเหตุนี้ทีมกรุงเทพ จึงเกิดขึ้น เป็นครั้งแรก ผู้ริเริ่มก็คือ อาจารย์กอง วิสุทธารมณ์ ซึ่งได้ปรารภกับเพื่อนฝูงว่าทำอย่างไรจะปราบนักเตะต่างชาติได้ จึงได้เชิญนักเตะทั้งหลายที่รู้จักและเห็นการเล่น มาร่วมเป็นทีม 11 ขึ้น สมัยนั้นยังไม่มีสมาคมฟุตบอล โดยอาจารย์กอง เป็นทั้งโค้ช และ ผู้จัดการทีม และสามารถปราบนักเตะฝรั่งราบคาบกลับไป ยังความปลาบปลื้มปีติแก่พวกเราจนมาทุกวันนี้”
#การเข้ามาทำหน้าที่ในกรมพลศึกษา
จากนี้เป็นบันทึกจากสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บุญสม มาร์ติน ได้เข้าสู่ตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา ที่ได้สัมภาษณ์หรือบันทึกถึงผลงานของท่านในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ในส่วนที่สำคัญและน่าสนใจในแต่ละช่วงปีต่าง ๆ
โดย หนังสือพิมพ์ได้ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งตั้ง นายแพทย์บุญสม เป็นอธิบดีกรมพลศึกษา วันที่ 8 ธ.ค.2510 ขณะที่ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นยังทำหน้าที่ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง
แต่หลังจากถูกแต่งตั้งสู่ตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา ไม่กี่วัน “นายแพทย์บุญสม” ประสบอุบัติเหตุ คือเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2510 เครื่องบินของบริษัทเดินอากาศไทย ที่ท่านโดยสารไปด้วยนั้นตกที่เชียงใหม่ แต่ท่านได้รับเพียงแค่บาดเจ็บ และ หยุดพักรักษาตัวช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจากนั้นแม้ร่างกายจะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่นัก แต่ก็ได้เข้าทำงานทั้ง 2 หน้าที่ดังกล่าว จนกระทั่งรักษาตัวเองหายดี
ปี พ.ศ.2511 จากที่เข้าทำงานกรมพลศึกษาได้แล้วนั้น “นายแพทย์บุญสม” ก็เริ่มต้นด้วยโครงการจัดส่งนักกีฬาระดับนักเรียน ไปร่วมสานสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆ ที่เชิญผ่านมาทางรัฐบาล อาทิ การส่งนักกีฬาไปร่วมกีฬาระดับนักเรียน ที่อินเดีย และ เชื่อมสัมพันธ์กับชาติในอาเซียน และต่อด้วยการริเริ่มจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนระหว่างชาติในอาเซียน ในกีฬาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งในระดับเอเชีย
ในปีเดียวกันนี้ ยังได้เริ่มต้นการติดต่อประสานงานพร้อมเสนอโครงการ ขอความเห็นชอบไปที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอจัดสร้างวิทยาลัยพลศึกษา ในภูมิภาค เพิ่มเติมจากที่มีอยู่แห่งเดียวในส่วนกลาง โดยเสนอการก่อสร้างที่ เชียงใหม่ อุบล และ ยะลา แต่ได้รับการเห็นชอบในการเริ่มต้นแห่งเดียวคือ เชียงใหม่ (แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะมีการขยายจนครบ 17 แห่งทั่วประเทศในเวลาต่อมา)
ปี พ.ศ.2512
“นายแพทย์บุญสม” ผู้ที่นำศาสตร์การแพทย์ สาธารณสุขมาประยุกต์ใช้กับวงการกีฬา ได้ร่วมดำเนินการจัดการประชุมผู้นำวิทยาศาสตร์การกีฬาของประเทศไทย ครั้งแรก ร่วมกับองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (หรือ การกีฬาแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน)
-จัดการปรับ เพิ่มวิชาการฝึกสอน และการตัดสินใน วิทยาลัยพลศึกษา เพื่อสนับสนุนให้มีผู้ฝึกสอน และ ผู้ตัดสินกีฬาให้กับประเทศ รองรับการขยายตัวทางการกีฬาของประเทศ
ปี พ.ศ.2513
ผลักดันให้สภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบรับหลักการ ตามที่กรมพลศึกษา เสนอขยายหลักสูตรวิทยาลัยพลศึกษาถึงขั้นปริญญาตรี ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2513 เป็นต้นไป และได้วางแนวทางให้วิทยาลัยพลศึกษา ได้เป็นศูนย์กลางการรับนักศึกษา เพื่อฝึกกีฬาชนิดต่าง ๆ อย่างจริงจัง
-ได้ริเริ่มจากการให้กรมพลศึกษาร่วมกับองค์การส่งเสริมกีฬา จัดโรงเรียนผู้ฝึกสอนกีฬา (โค้ช) รุ่นแรก
-“นายแพทย์บุญสม” ได้ประกวดตั้งชื่อสนามแข่งขันในกรีฑาสถานแห่งชาติ ยกเว้นสนามศุภชลาศัย คือสนามออกกี้ สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส ยิมเนเซียม 1 และ 2
-นำบุคลากรกรมพลศึกษาจัดโครงการฝึกกีฬาให้กับเด็กนักเรียนและเยาวชนที่สนใจ
-นำหลักการทางวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาทดสอบนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬานักเรียนในสังกัดกรมพลศึกษาทุกคน
-ร่วมผลักดันให้ กระทรวงศึกษาธิการ ออกระเบียบข้อบังคับใหม่ สำหรับโรงเรียนทั้งเอกชนและรัฐบาล ด้วยว่า จะต้องมีครูพลศึกษา ประจำโรงเรียน 1 คนต่อจำนวนนักเรียน 400 คน โดยให้เริ่มในปีการศึกษา 2514
-ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 6 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ และเป็นคณะทำงานฝ่ายแพทย์ของงาน
-สนับสนุนการสร้างสนามกีฬาส่วนภูมิภาคตามโครงการพัฒนากีฬาของกรมพลศึกษา โดยสนามแรกที่แล้วเสร็จในปีดังกล่าวคือ สนามกีฬาที่ภูเก็ต
-ดำเนินการปรับโครงสร้างของกรมพลศึกษาใหม่ โดย “นายแพทย์บุญสม” ให้สัมภาษณ์ ว่า กีฬาทุกประเภทในไทยเรานั้น ยังไม่ได้ปลูกฝังในบรรดาเด็กนักเรียนอย่างทั่วถึงและเพียงพอ ขาดโครงการที่แน่นอน ขาดเงิน ขาดกำลังคน และ ที่สำคัญที่สุดคือขาดการสนับสนุนให้ประชาชนได้เล่นกีฬากัน ถึงจะมีอยู่บ้างก็เป็นเฉพาะส่วนกลางเท่านั้น เพื่อแก้ไขข้อพกพร่องเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีการหารือกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิของกรมพลศึกษา ได้ตกลงให้กำหนดโครงการ 6 ปี สำหรับพัฒนากีฬาขึ้น โดยโครงการนี้ใช้เงิน 14.6 ล้านบาท ในชื่อโครงการ ส่งเสริมกีฬานักเรียนและประชาชน เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนและเยาวชนได้รู้จักเล่นกีฬาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ด้วยการเตรียมจัดกีฬาโรงเรียนและประชาชนในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แล้วมีการปรับโครงสร้างของกรมพลศึกษา ให้เพิ่มงานอีก 4 ส่วนงานคือ แผนกธุรการ งานส่งเสริมกีฬาส่วนกลาง งานส่งเสริมกีฬาในส่วนภูมิภาค งานจัดและอบรมกรรมการกีฬา
-ช่วยผลักดันให้งานด้านพลศึกษา เข้าอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (2515-2519) ที่รัฐบาลเห็นชอบ จากการนำเสนอผลสัมมนาพัฒนาการกีฬา ที่กรมพลศึกษาจัดขึ้น จึงระบุในแผน ให้เร่งผลิตครูพลศึกษาให้เพียงพอในโรงเรียนและสถาบันต่าง ๆ พร้อมทั้งให้เพิ่มวิชาพลศึกษา สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง เป็นอย่างต่ำ
-ริเริ่มโครงการจัดหาอุปกรณ์กีฬาโดยกรมพลศึกษา เพื่อนำมาจำหน่ายที่ไม่ผ่านคนกลาง เพื่อให้อุปกรณ์กีฬามีราคาถูก โรงเรียนต่าง ๆ เข้าถึงได้ง่าย
-และจัดโครงการส่งเสริมกีฬานักเรียนเพื่อก้าวสู่ทีมชาติ โดยส่งเจ้าหน้าที่กรมพลศึกษาที่ชำนาญการ ไปตัดสิน แจกตำรากีฬา และสาธิต วิธีการเล่นกีฬา ตามโรงเรียนต่าง ๆ ในส่วนกลางทุกโรงเรียนและร่วมพิจารณาคัดเลือกนักกีฬาที่มีทักษะกีฬาสูงมาสนับสนุนให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น
ปี พ.ศ.2514
-กรมพลศึกษาประกาศให้สมาคมกีฬาใช้สถานที่ภายในสนามกีฬาแห่งชาติ เป็นที่ทำการสมาคม เพื่อสะดวกต่อการประสานงาน-ติดต่อ
-จัดโครงการอบรมด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ด้านกีฬา ให้กับครูพลศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 1,540 คน เพื่อยกระดับมาตรฐานกีฬา
-กรมพลศึกษาได้ประกาศนำเฮดการ์ด (เครื่องป้องกันศรีษะ) มาใช้กับการแข่งขันกีฬามวยสากลในกีฬานักเรียนของกรมพลศึกษา เป็นครั้งแรก
-“นายแพทย์บุญสม”ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ขณะที่นั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา)
-และได้รับการเลือกตั้งและแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคไทย ฯ ในปีเดียวกัน
ปี พ.ศ.2516
-ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ขณะที่นั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา และ เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย)
–“นายแพทย์บุญสม” ในขณะเป็นเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคไทยฯ ได้เป็นผู้นำพิจารณายกร่าง ระเบียบ ข้อบังคับของ คณะกรรมการโอลิมปิคไทย หลังจากที่ไม่ได้มีการแกไข ปรับปรุงมาตั้งแต่เริ่มต้น
ปี พ.ศ.2517
-สภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติหลักสูตรปริญญาโททางพลศึกษาให้วิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา ดำเนินการ ตามที่กรมพลศึกษาได้เสนอ
ปี พ.ศ.2518
–“นายแพทย์บุญสม” อธิบดีกรมพลศึกษา ได้เสนอแนวทางและได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรวิชาพลศึกษา เป็นวิชาบังคับในระดับมัธยมศึกษา และให้ครูจำนวนหนึ่งมีวุฒิทางพลศึกษา โดยมอบหมายให้กรมพลศึกษา เป็นผู้จัดอบรมให้ครูเหล่านั้นให้มีวุฒิทางพลศึกษา เริ่มในปี 2519
ปี พ.ศ.2521
-ได้รับการมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการร่างแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ฉบับแรก
ปี พ.ศ.2522
-ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมกับทำหน้าที่ อธิบดีกรมพลศึกษา ได้เป็นผู้รับหน้าที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันประชุมเมื่อ 15 มี.ค.22 ถึงหลักการ เหตุผล พร้อมความจำเป็น ใน พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งชาติ และสภาลงมติรับร่างด้วยคะแนน 106-1
ปี พ.ศ.2523
-พ้นจากอธิบดีกรมพลศึกษา หลังได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการให้ไปเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
#บิดาแห่งการพลศึกษาสมัยใหม่ของประเทศไทย
จากผลงานของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บุญสม มาร์ติน ที่ได้สร้างคุณงามความดีต่อวงการพลศึกษา และกีฬาของประเทศไทย จึงมีการบันทึกถึงท่านมากมาย ซึ่งได้ รวบรวมในส่วนที่สำคัญ จากการบันทึกของ ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ เพียรชอบ บุคลากรสำคัญทางการศึกษาพลศึกษา ได้บันทึกถึง “นายแพทย์บุญสม” ว่า
หลังจากรัฐบาล ได้ตั้งกรมพลศึกษาขึ้น ตามพระราชบัญญัติการปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2476 เริ่มแรกมีพระยาประมวลพลู เป็นผู้รักษาการตำแหน่งอธิบดี ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2477 จึงได้แต่งตั้ง นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษาอย่างเป็นทางการ และได้ย้ายโรงเรียนพลศึกษากลางจากการดูแลของกรมศึกษาธิการ มาอยู่ในสังกัดกรมพลศึกษา พร้อมแต่งตั้ง นายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นอาจารย์ใหญ่ ในปี พ.ศ.2477
จากนั้นการปรับปรุงโรงเรียนพลศึกษากลาง ภายใต้การกำกับดูแลของกรมพลศึกษา ปี พ.ศ.2493 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา เพื่อเดินตามอุดมคติของการฝึกหัดครูพลศึกษาอย่างแท้จริง แต่ได้ดำเนินการมาถึงปี พ.ศ.2497 ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดตั้งกรมการฝึกหัดครูขึ้นมาใหม่ และกระทรวงศึกษาได้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษาไปอยู่ในกรมการฝึกหัดครูในปีดังกล่าว
ต่อมากรมพลศึกษา มองว่าในหน่วยงานมีศักยภาพทั้งบุคลากร สถานที่ และอุปกรณ์ ตลอดจนครุภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งพร้อมที่จะผลิตครูพลศึกษาไปสนองความต้องการของประเทศ ดังนั้น ปี พ.ศ.2498 กรมพลศึกษาจึงจัดตั้งวิทยาลัยพลศึกษา ขึ้นมา และได้แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บุญสม มาร์ติน เป็นผู้อำนวยการคนแรก
ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ เพียรชอบ ยังได้ ระบุว่า การแต่งตั้ง “นายแพทย์บุญสม” ในตอนนั้นนับว่า เป็นความเหมาะสม และโชคดีอย่างยิ่งต่อการพลศึกษาไทย ที่ควรจารึกไว้ คือท่านผู้นี้เป็นผู้ที่มีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ทั้งในด้านการแพทยศาสตร์ การสาธารณสุขศาสตร์ และการกีฬาในระดับสูง จึงนำความรู้ที่มีมาประสมประสานแล้วนำมาประยุกต์ใช้ในวิชาพลศึกษา ด้วยการนำมาพัฒนาหลักสูตร และระบบการเรียนการสอนในวิทยาลัยพลศึกษา ทำให้การเรียนการสอนได้ถูกต้องตามหลักวิชาการพลศึกษาและประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง ในทุกๆ ด้านที่ท่านได้ดำเนินการ ดังนั้นในการเริ่มนำหลักวิชาการ มาเป็นหลักการพลศึกษาในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “การพลศึกษาสมัยใหม่” ของไทยเป็นครั้งแรก และนับตั้งแต่นั้นมาการพลศึกษาของไทย ก็เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ มีความเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ยกย่องในหมู่นักการพลศึกษาไทยโดยทั่วไปในขณะนี้ว่า “ศาสตราจารย์นายแพทย์ บุญสม มาร์ติน คือ บิดาของการพลศึกษาสมัยใหม่ของไทย”
#หมอบุญสมกับการศึกษาทางการพลศึกษาสถาบันต่างๆ
ปี พ.ศ.2502 หมอบุญสม ได้นำเสนอหลักการของการพลศึกษา เสนอต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เห็นชอบและอนุมัติให้เปิดหลักสูตรการฝึกหัดครูพลศึกษาในระดับปริญญาตรี ในจุฬาฯ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และได้เปิดรับนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าศึกษาและเมื่อจบการศึกษาจะได้วุฒิการศึกษาปริญญาครุศาสตรบัณฑิต (พลศึกษา) หรือ ค.บ. (พลศึกษา) การเริ่มต้นนี้ที่ถือเป็นการนำเรื่องของการพลศึกษาเข้าไปมีบทบาทในระดับอุดมศึกษาอย่างแท้จริง
ปี พ.ศ. 2513 ได้สร้างความร่วมมือกันระหว่าง วิทยาลัยพลศึกษา กับวิทยาลัยวิชาการศึกษา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) เพื่อเปิดหลักสูตรปริญญาบัณฑิต โดยใช้ชื่อ วิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา เปิดการเรียนการสอน หลักสูตร 4 ปี รับนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย และเมื่อสำเร็จการศึกษาก็จะได้รับวุฒิปริญญาตรี การศึกษาบัณฑิต (พลศึกษา) หรือ กศ.บ.(พลศึกษา) แต่ต่อมาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดังนั้นวิทยาลัยวิชาการศึกษา พลศึกษา ก็ต้องเปลี่ยนไปฐานะเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา ตามไปด้วย และพร้อม ๆ กันนั้นก็ได้โอนสังกัดจากความรับผิดชอบของกรมพลศึกษาไปอยู่ในการดูแลของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
#การวางโครงการและก่อตั้งวิทยาลัยพลศึกษาในภูมิภาค
ช่วงที่ “นายแพทย์สมบุญ” เข้ามาใกล้ชิดกับงานการพลศึกษา ตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา ได้มีส่วนร่วมในการทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ จนกระทั่ง ปลายปี พ.ศ.2510 ก็ได้รับการแต่งตั้ง เป็นอธิบดีกรมพลศึกษา จนกระทั่งถึงปี 2523 ก็ได้ขยับจาก อธิบดีกรมพลศึกษา ไปเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่รับตำแหน่งในกรมพลศึกษา และเกี่ยวข้องเต็มตัวกับวงการกีฬานั้น “นายแพทย์บุญสม” ได้มีโอกาส ได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ควบคู่ไปกับตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา อาทิเช่นการ เป็นคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองอธิการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข รวมทั้งการได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ในสภาของสถาบันต่าง ๆ อีกมากมาย
และด้วยความแน่วแน่ที่จะผลักดันการกระจาย โครงการและแผนงานด้านกีฬาออกสู่ภูมิภาคให้มากที่สุด ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงกลายเป็นโชคดี ที่สามารถผลักดันในระดับรัฐบาลให้เห็นความจำเป็นและประโยชน์ ในการก่อตั้งวิทยาลัยพลศึกษา ภายใต้การกำกับดูแลของกรมพลศึกษา ตามภูมิภาคของประเทศไทยได้สำเร็จ ทั้ง 17 แห่ง (ที่กลายเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศในปัจจุบัน)
โดยเริ่มต้นจาก วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ (จัดตั้งปี 2513) วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดมหาสารคาม (จัดตั้งปี 2515) วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดยะลา (2516) วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดชลบุรี (2517) วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดอุดรธานี (2518) วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดอ่างทอง (2519) วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดชุมพร (2519) วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดสุพรรณบุรี (2520) วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดสุโขทัย (2520) วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดกระบี่ (2521) วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ (2521) วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดสมุทรสาคร (2521) วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพมหานคร (2522) วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดลำปาง (2522) วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดชัยภูมิ (2525)
นายทินกร นำบุญจิตต์ อดีตรองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยพลศึกษา และอดีตอธิบดีกรมพลศึกษา ได้เปิดเผยปิดท้ายเพิ่มเติมจากเนื้อหาทั้งหมดว่า จากวิทยาลัยพลศึกษาที่ได้กำเนิดขึ้นและขยายสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ต่อมาได้ยกฐานะเป็นสถาบันการพลศึกษา และ มาเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติในปัจจุบัน จากนั้นก็มีโรงเรียนกีฬาตามจังหวัดต่าง ๆ ในสังกัด ซึ่งการวางรากฐานและขยายวิชาชีพครูพลศึกษา การกีฬา นันทนาการ วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาศาสตร์สุขภาพ การบริหารจัดการพลศึกษา ไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึงนี้ “ต้องยอมรับและเป็นที่ชัดเจนว่า เกิดจากแนวคิดและการวางแนวทางจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ บุญสม อย่างแท้จริง”
ขอบคุณข้อมูลทุกแหล่งที่มา
เลอภพ โสรัตน์:เรียบเรียง