บันทึกกีฬาไทย ขอนำเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ที่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทางการกีฬาของไทย ในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั้นได้ทรงสนับสนุน การร่วมมือและการให้ทุนการศึกษา แก่บุคลากรทางการกีฬา เมื่อปี พ.ศ.2512 เพื่อเดินทางไปศึกษาด้าน สันทนาการ ที่ออสเตรเลีย ซึ่งปรากฏการณ์ครั้งนั้น ได้สร้างความปีติยินดีต่อวงการกีฬาไทยอย่างยิ่ง และ ผู้ที่ถูกเลือกให้ได้รับทุนเดินทางไปนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรซึ่งสร้างประโยชน์ที่สำคัญในโอกาสต่อๆ มาให้กับงานกีฬาไทย
ซึ่งทุนพระราชทานฯ ที่สำคัญต่อวงการกีฬาไทยครั้งนี้เริ่มต้นจากที่ มร.คาร์เซิล จากของออสเตรเลีย ได้เข้าเฝ้าและนำทุนจากค่ายสันทนาการที่ออสเตรเลีย มาทูลเกล้าฯ เพื่อให้ส่งอาจารย์ทางพลศึกษาของประเทศไทย จำนวน 4 คนไปอบรมและศึกษาดูงานที่ออสเตรเลีย จำนวน 4 คน เป็นระยะเวลา 1 ปี และได้มีการมอบหมายให้คณะกรรมการ พิจารณาหาบุคคลที่เหมาะสม ซึ่งประกอบด้วย ดร.กัลย์ อิสรเสนา อาจารย์กอง วิสุทธารมณ์ นายวิลาศ บุนนาค และ อาจารย์บุญเจอ สุวรรณพฤกษ์

และปรากฏว่าจากการประชุมได้ตกลงเลือกผู้ที่เหมาะสมได้รับทุนพระราชทาน ตามคุณสมบัติที่ได้กำหนด จำนวน 4 ท่าน คือ อาจารย์ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ขณะนั้นเป็นอาจารย์วิทยาลัยพลศึกษา อาจารย์น้อม (นบน้อม) อ่าวสุคนธ์ อาจารย์สำเร็จ มณีเนตร ขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่กรมพลศึกษา และ อาจารย์ จันทร์ ผ่องศรี ขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยการเดินทางไปในการเป็นผู้รับทุนพระราชทานนั้น อาจารย์ทั้ง 4 ท่านนอกจากจะได้ศึกษา ดูงานในด้านสันทนาการแล้วนั้น ยังได้ช่วยนำกีฬาของไทย อาทิ ตะกร้อ และ มวยไทย ไปโชว์ให้เยาวชน นักศึกษา และประชาชนในท้องถิ่นให้ไห้ได้เห็นการเล่นและความสนุกสนานด้วย

และหลังจากผ่านการศึกษา ดูงานที่ออสเตรเลีย และกลับมาถึงประเทศไทยแล้วนั้น วันที่ 28 ส.ค.2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ ดรกัลย์ อิสรเสนา และ ศาสตราจารย์ นพ.บุญสม มาร์ติน นำคณะอาจารย์ที่ได้รับทุนพระราชทานทั้ง 4 ท่าน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานเกี่ยวกับการเดินทางไปศึกษาวิชาในด้านพลศึกษาและสันทนาการ ที่สถาบันของออสเตรเลีย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระราชดำรัสต่อคณะและอาจารย์ทุนทั้ง 4 ท่านว่า ขอให้ผู้สำเร็จวิชาด้านพลศึกษาและสันทนาการทั้ง 4 คน ได้ช่วยเหลือทางด้านการส่งเสริมกิจกรรมเยาวชนให้มาก เพราะกิจกรรมทางพลศึกษาและสันทนาการ เป็นการป้องกัน แก้ไขปัญหาสังคมได้มาก โดยสังเกตจากประเทศต่าง ๆ ที่สนใจด้านพลศึกษามักจะไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงขอให้ผุ้ที่สำเร็จการศึกษาได้ร่วมกันวางโครงการพัฒนาด้านการพลศึกษาให้แก่เยาวชนโดยจัดให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ ความต้องการ และรสนิยมของคนไทย และให้ติดต่อกับผู้ที่มีหน้าที่โดยตรง เช่น อธิบดีกรมพลศึกษา แพทย์ และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันวางโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือจากสถาบันที่มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านนี้โดยตรงด้วย
จากการได้รับทุนพระราชทานของอาจารย์ทั้ง 4 ท่านนี้นับเป็นผลที่ดีต่อการทำงานในด้านกีฬา-การผลิตลูกศิษย์ในสถาบันทางการศึกษาที่อยู่ในสังกัดของท่าน และได้มีการการนำความรู้ความสามารถไปช่วยพัฒนางานกีฬาทางด้านต่าง ๆ ซึ่งตามประวัติของอาจารย์ทั้ง 4 ท่านนี้ ล้วนเป็นผู้ที่ก่อคุณประโยชน์ต่อวงการกีฬาทางด้านต่าง ๆ ในอดีต และถูกจดจำมาจนถึงปัจจุบันอย่างมาก