Munich 1972
โอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 20
ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมันตะวันตก
วันที่ 28 ส.ค.-11 ก.ย. 1972 (พ.ศ.2515)
เมือง มิวนิค เอาชนะคู่แข่งที่เสนอตัวคือ ดีทรอยส์ ของสหรัฐ และ มอนทรีล ของแคนาดา สำเร็จ แต่การแข่งขันที่มีขึ้น ก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างใจคิด
เพราะการแข่งขันครั้งนี้เป็นครั้งที่ มีเรื่องอื่นที่ไม่ควรเกิดขึ้น ทำให้กลายเป็นช่วงน่าวิตกกันมากที่สุด นับจากเช้าวันที่ 5 ก.ย.2515 ช่วงกลางของการแข่งขัน มีผู้ก่อการร้ายบุกเข้าสังหารนักกีฬาของอิสราเอลถึงในหมู่บ้านนักกีฬา และ มีการลักพาตัวนักกีฬาอิสราเอลในงานกีฬาครั้งนี้ นับเป็นความหายนะของเกมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีผลที่เกี่ยวข้องมาจากความขัดแย้งทางด้านการเมือง
และยังมีประเด็นทางการเมือง เมื่อสหภาพโซเวียตมองเห็นช่องทางในการเผยแพร่ลัทธิการเมืองของตนโดยอาศัยการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โดยพยายามที่จะเป็นผู้นำในการแข่งขันและโน้มน้าวชาติอื่น ๆ ให้เห็นว่าโซเวียต เป็นประเทศมหาอำนาจเหนือคู่แข่งคือสหรัฐ ในภายหลังพบว่านักกีฬาจากสหภาพโซเวียต เป็นนักกีฬาอาชีพที่รัฐบาลว่าจ้างให้เข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกในครั้งนั้น และยังพบอีกว่านักกีฬาจากสหภาพโซเวียตใช้ยาเสริมกำลัง แต่ก็สมหวังเมื่อในปีนั้นสหภาพโซเวียตสามารถพิชิตเหรียญรวมได้ถึง 99 เหรียญ และในการแข่งขันบาสเกตบอลซึ่งเป็นกีฬาที่วัดศักดิ์ศรี เมื่อมาเจอกันในรอบชิงชนะเลิศ นักกีฬาจากสหรัฐอเมริกาได้พ่ายแพ้แก่นักกีฬาจากสหภาพโซเวียต นับเป็นการพ่ายแพ้ครั้งแรก ซึ่งจากนั้นทีมสหรัฐอเมริกาได้ปฏิเสธไม่ขึ้นรับเหรียญเงิน ด้วยเหตุผลที่ไม่ยอมรับการยืนอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่าทีมคู่แข่ง
ในปีนั้นมีนักกีฬาจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการแข่งขันถึง 121 ประเทศ จำนวน 7,123 คน แข่ง 21 ชนิดกีฬา ชิง 195 เหรียญทอง
ทีมกีฬาไทยได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน โดยมีพลเอกเต็ม หอมเศรษฐี เป็นหัวหน้าคณะนักกีฬา พันเอกอนุ รมยานนท์ เป็นรองหัวหน้าคณะนักกีฬา มี พันตำรวจตรี รังสิต ญาโนทัย ถือธงชาติไทยนำขบวนพาเหรดที่ได้เข้าสนามในพิธีเปิดเป็นชาติที่ 110 และมีผลงานจากการแข่งขันของนักกีฬาดังนี้
กรีฑา – อาณัติ รัตนพล, กนกศักดิ์ เจตะสานนท์, พนัส อริยะมงคล, สุรพงษ์ อริยะมงคล, สมศักดิ์ บุญทัต โดยทีมกรีฑาไทย ลงแข่งขันประเภทเดียวคือ วิ่งผลัด 4 คูณ 100 เมตร ซึ่งผู้แข่ขันประกอบด้วย สมศักดิ์ สุรพงษ์ พนัส และ อาณัติ ลงแข่งรอบคัดเลือกกลุ่มที่ 3 มี 6 ชาติแข่ง ปรากฏว่าทีมไทยเข้าที่ 6 สถิติ 41.04 วินาที ไม่ได้ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ
มวยสากล – ระเบียบ แสงนวล, ชาญเดช วีระพล, บรรเทา ศรีสุข, ชวลิต อ่อนฉิม, สุรพงษ์ ศรีภิรมย์, วิชิต ไพรอนันต์, ปรีชา นพรัตน์ โดยมีผลการแข่งขันแต่ละคนดังนี้
บรรเทา ศรีสุข ชกในรุ่นไลท์เวลเตอร์เวท รอบสอง ชนะคะแนน เออร์เนสโต้ เบอร์แกมโก จากอิตาลี รอบสาม ชนะทีเคโอ คาลิสตาส คูคอฟ นักชกโรมาเนีย ในยกที่ 3 และรอบก่อนรองชนะเลิศ เจอกับ แองเจิล แองเกลอฟ ของบัลแกเรีย ปรากฏว่านักชกไทยแพ้ ทีเคโอ ในยกที่ 2
สุรพงษ์ ศรีภิรมย์ ชกในรุ่นไลท์ฟลายเวท รอบแรก แพ้อาร์เอสซี ให้กับ เออร์จี เกโค จากฮังการี ยก 3
ชวลิต อ่อนฉิม ชกในรุ่นฟลายเวท ได้ผ่านรอบแรก รอบสอง ชนะคะแนน ซานดอร์ เออร์บาน จากฮังการี และรอบสาม แพ้คะแนน นักชกอูกันดา เลียว สวาโลโก
ชาญเดช วีระพล ชกในรุ่นแบนตั้มเวท ได้ผ่านในรอบแรก ส่วนรอบสอง แพ้คะแนน วาซิรี โซโรมิน จากรัสเซีย
ปรีชา นพรัตน์ ชกในรุ่นเฟเธอร์เวท รอบแรก แพ้คะแนน แอนดราส โบทอส จาก ฮังการี
วิชิต ไพรอนันต์ ชกในรุ่นไลท์เวท รอบแรก แพ้คะแนน เจมส์ บัสเซเม จากสหรัฐ
ระเบียบ แสงนวล ชกในรุ่นเวลเตอร์เวท จับสลากได้ผ่านรอบแรก ขึ้นชกรอบสอง ชนะคะแนน คาร์ล ชวินด์ จากสวิตเซอร์แลนด์ รอบสามแพ้คะแนน กุนเธอร์ ไมเออร์ นักมวยเจ้าภาพเยอรมันตะวันตก
จักรยาน – ปัญญา ซึ่งประยูร, ถาวร ทาวัน, สถาพร ขันธสะอาด, ศิวพร รัตนพูล, พินิจ เคยกอบแก้ว, สุริยะ แซ่เจีย, ปราโมทช์ แสงสกุลโรจน์ โดยมีผลดังนี้
ทีมจักรยานไทย ลงแข่งประเภททีมไทม์ไทรอัล 100 กม. ประกอบด้วย ปัญญา ซึ่งประยูร ศิวพร รัตนพูล พินิจ เคยกอบแก้ว ปราโมทช์ แสงสกุลโรจน์ ปรากฏว่าเข้าอันดับที่ 34 สถิติ 2.41.42 ชั่วโมง
ประเภทไทม์ไทรอัล 1,000 เมตร นักกีฬาไทย คือ สุริยะ แซ่เจีย ได้อันดับที่ 21 กับ ถาวร ทาวัน ที่ไม่ผ่านรอบคัดเลือกทั้งสองคน
ประเภทถนน 200 กม. นักกีฬาไทยประกอบด้วย ปัญญา ซึ่งประยูร สถาพร ขันธสะอาด พินิจ เคยกอบแก้ว ศิวพร รัตนพูล ซึ่งผลการแข่งขันนั้น นักกีฬาไทย ศิวพร ออกจากการแข่งขันเมื่อแข่งไป 2 รอบ เนื่องจากป่วย ส่วน ปัญญา เกิดอุบัติเหตุเมื่อผ่านไป 40 กม.ต้องออกจากการแข่งขัน (ศรีษะแตก) ขณะที่ ปราโมทช์ ออกจากการแข่งขันในรอบที่ 6 และ สถาพร ออกจากการแข่งขันในรอบที่ 3
ยกน้ำหนัก – ชัยยะ สุขจินดา โดยผลการแข่งขันนั้น ชัยยะ ได้อันดับที่ 7 ในรุ่นฟลายเวท
ยูโด – เจิดพงษ์ ปุณโสนี โดยผลการแข่งขันที่ลงแข่งในรุ่นมิดเดิลเวท แพ้ โฮ ซุง ลิป จากเกาหลีใต้ ในรอบแรก
ยิงปืน – รังสิต ญาโนทัย, สุธรรม อัศวานิชย์, ปรีดา เพ็งดิษฐ์, อุดมศักดิ์ เทียนทอง, สมัคค์ ชัยนเรศ, ชวลิต กมุทชาติ, โสฬส ณ ลำพูน โดยผลการแข่งขันมีดังนี้
ประเภทปืนสั้นยิงช้า สุธรรม อัศวานิชย์ ยิงได้ 539 คะแนน ได้อันดับที่ 37 และ สมัคค์ ชัยนเรศ ได้ 537 คะแนน ได้อันดับที่ 40
ประเภทปืนยาว 3 ท่า ชวลิต กมุทชาติ ยิงได้ 1,090 คะแนน ได้อันดับ 53 และ ปรีดา เพ็งดิษฐ์ ยิงได้ 1,079 คะแนน ได้อันดับที่ 57
ประเภทปืนสั้นยิงเร็ว โสฬส ณ ลำพูน ยิงได้ 583 คะแนน (291-292) ได้อันดับที่ 22 และ รังสิต ญาโนทัย ยิงได้ 577 คะแนน (290-287) ได้อันดับที่ 39
ยิงเป้าบิน – บุญเกื้อ เหล่าวณิชย์, ดำรง ผจญยุทธ (ไม่ปรากฏผลการแข่งขัน)
เรือใบ – พระองค์เจ้าพีระพงศ์ ภาณุเดช (ลูกเรือ-ไพฑูรย์ จุลละทรัพย์) , ดร.รชฏ กาญจนวณิชย์ ผลแข่งคือได้เข้าร่วมจนจบทุกเที่ยวแข่งแต่ไม่ติดอันดับที่ได้เหรียญรางวัล
ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์หนนี้มีการแข่งขันกีฬาแบดมินตัน เป็นกีฬาสาธิต โดยนักกีฬำไทยที่เข้าร่วมคือ บัณฑิต ใจเย็น ลงแข่งประเภทชายเดี่ยว แพ้ สเวนด์ ปี นักแบดมินตันของเดนมาร์ก 11-15, 2-15 และ บัณฑิต ได้จับคู่กับ นักกีฬามาเลเซีย ตัน อ๊ก มอง แพ้คู่ของอินโดนีเซีย 7-15, 1-15 รอบแรก