จุดกำเนิดปิงปองไทย
กับชายที่ชื่อ’เสี่ยเพ้ง’
เรื่องราวของอดีตวงการกีฬาไทย ในกีฬาปิงปอง หรือ กีฬาเทเบิลเทนนิส บันทึกไว้ที่วารสารกีฬา ขององค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย หรือการกีฬาแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน ปี พ.ศ.2515 คอลัมน์ “คนดีไม่มีตาย” เขียนโดย เท้ง บางขุนเทียน หรือ ณรงค์ ปานดี อดีตสื่อมวลชนสายกีฬา และอดีตพนักงานของการกีฬาแห่งประเทศไทย
โดยผู้เขียนได้เขียนถึง “เสี่ยเพ้ง” ผู้จุดประกายกีฬาปิงปองของไทย ตั้งแต่เริ่มต้น ทุ่มเทตน เพื่อเผยแพร่ จัดแข่ง อย่างจริงจัง จนกระทั่งก่อตั้งสมาคมปิงปองขึ้นในไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งทั้งหมดจากนี้เป็นการเรียบเรียงจากงานเขียนของ “เท้ง บางขุนเทียน” (สื่อกีฬารุ่นพี่ของผมผู้เรียบเรียง) เกี่ยวกับเรื่องของปิงปองไทย กับ “เสี่ยเพ้ง” คนต้นเรื่องนี้…
….ขอย้อนไปอดีตก่อนปี พ.ศ.2466 สมัยนั้นยังไม่มีคนไทยที่รู้จักปิงปอง หรือ เทเบิลเทนนิส มากมายนัก เพราะไม่มีการเผยแพร่ และวงการกีฬาไทยก็จำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ เป็นที่รู้จักไม่กี่ชนิดกีฬา จนกระทั่ง พ.ศ.2466 ได้มีผู้ที่คนเรียกว่า “เสี่ยเพ้ง” เดินทางตามครอบครัวมาจากเกาะกวางตุ้ง ประเทศจีน มาสู่ประเทศไทย และกลายเป็นผู้ที่มีฝีมือปิงปอง เป็นที่ยอมรับในผู้พบเห็น ทั้งที่อายุเพียง 9 ขวบเท่านั้นเอง
เมื่อเช้ามาเมืองไทย ก็ได้เข้าศึกษาภาษาไทยและเรียนหนังสือ ที่สำนักกวางสิว (ปัจจุบันจะเขียนกันว่ากว๋องสิว) ข้างโรงหนังพัฒนกร และในการเข้าสำนักนั้นทำให้มีโอกาส ได้โชว์การเล่นปิงปองกับเพื่อน ๆ และชักชวนกันซ้อมกันจนกีฬาปิงปอง เป็นที่นิยมกันในสำนักและมีจัดการแข่งขันภายในกัน จากนั้นก็เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ที่ยังไม่มีการเล่นปิงปอง ก็เล่นบาสเกตบอลของโรงเรียน แต่ก็ไม่ทิ้งการเล่นปิงปอง โดยหลังเลิกเรียนและซ้อมบาสฯเสร็จ ก็กลับไปซ้อมปิงปองที่บ้าน จากที่ได้ขอเงินพ่อ ไปจ้างคนมาต่อโต๊ะแบบง่ายๆ ให้
เมื่อจบ มัธยมปีที่ 3 แล้ว ก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ฮ่องกง ตามความประสงค์ขอบครอบครัว และเป็นการจุดประกายความจริงจังกับกีฬาปิงปองของ “เสี่ยเพ้ง” เพราะที่นั่นมีความนิยม มีการจัดแข่งต่อเนื่อง เขาจึงได้เอาจริงเอาจังกับการเล่นร่วมแข่ง และเรียนรู้ด้านต่างๆ จากการอยู่ที่ฮ่องกง ซึ่งผ่านพ้น 3 ปีที่อยู่ฮ่องกง เมื่อกลับมาไทย ก็เดินหน้าเผยแพร่กีฬาปิงปองอย่างจริงจัง และภายในเวลา 1 ปีต่อมา มีความนิยมเล่นปิงปองมากขึ้น แม้ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยเชื้อสายจีนก็ตาม ซึ่งเมื่อมีคนเล่นมากขึ้น ก็มีการเริ่มแข่งขันบ่อยขึ้นและมีการรวมกลุ่มกันตั้ง ชมรม สโมสรขึ้น โดย “เสี่ยเพ่ง” ก็ตั้งสโมสรของตนเองชื่อ “สโมสรฮั่วน้ำ”
และก็เป็นตัวตั้งตัวตีจัดการแข่งขันปิงปองระหว่างสโมสรขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย โดยจัดแข่งทุกเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งก็ถือเป็นการริเริ่มที่ดี
เสี่ยเพ้งเคยเล่าให้ผู้เขียน (เท้ง บางขุนเทียน) ฟังว่า “สมัยปี พ.ศ.2495 สิงคโปร์จัดแข่งปิงปองชิงแชมป์เอเชียครั้งแรก ทีมไทยยังไม่ไปแข่งเพราะยังไม่มีสมาคม ก็ได้เดินทางไปดู ไปอาศัยนอนที่โรงยิมที่จัดแข่ง 7 วัน 7 คืน ดูทุกนัด ทุกวัน พร้อมทั้งมีโอกาสได้รู้จักกับนักกีฬา และ โค้ชทีมชาติต่างๆ ในช่วงเวลาที่ฝึกซ้อมก็ไปขอคำแนะนำ และจดจำการซ้อมการเล่นของเขา พร้อมทั้งดูวิธีการจัดการแข่งขันด้วย”
เมื่อกลับมาเมืองไทย “เสี่ยเพ้ง” ที่ได้การเรียนรู้มากขึ้น และมีความต้องการอยากจะจัดแข่งขัน เพื่อให้คนไทยได้เห็นสิ่งที่ตนเองได้เห็น จึงได้ปรึกษาและขอความช่วยเหลือเพื่อนที่สนิทๆ เพื่อที่จะหาทุนเชิญทีมต่างชาติ คือ ฮ่องกง และ ญี่ปุ่น มาแข่งกับไทยแบบสามเส้า โดยระดมทุนจากเพื่อนคนละ 1 พันบาท รวม 20 คน
และก็ได้จัดแมทช์ปิงปองนานาชาติ “สามเส้า” ในนามของโรงพยาบาลกวางสิว (กว๋องสิว) และก็จัดที่หน้าโรงพยาบาลกวางสิว นั่นเอง โดยใช้การกางเต็นท์ทำเป็นที่แข่งชั่วคราว และเก็บค่าผ่านประตูแบบแพงมากในสมัยนั้นคือ 20-50 และ 100 บาท จัดแข่ง 2 วันเก็บเงินได้ 4 หมื่นบาท ก็มอบให้กับโรงพยาบาลกวางสิว และผลการแข่งขันนั้นทีมของไทยแพ้หมด ทั้งประเภทคู่และเดี่ยว แต่ผลจากครั้งนั้นทำให้เกิดการตื่นตัวในกีฬาปิงปอง มีการนำเข้าไปเผยแพร่ในโรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีการเล่นปิงปองอย่างเป็นล่ำเป็นสันมากขึ้น
ปีต่อมาก็ได้จัดขึ้นอีก แต่ด้วยความนิยมที่มาก จึงได้ไปจัดที่เวทีมวยราชดำเนิน โดยครั้งนี้เชิญทีมจาก ฮ่องกง และ อังกฤษ ซึ่งทีมอังกฤษนี้มีนักกีฬาที่ชื่อ ริชาร์ด เบอร์คแมน แชมป์โลก 5 สมัยร่วมทีมมาด้วย ยิ่งทำให้คนสนใจมากขึ้น ขณะที่ทีมไทยนั้น มีผู้แทนจาก จุฬา ธรรมศาสตร์ และคนจีนในไทยร่วมทีมด้วย ซึ่งการแข่งขันก็ประสบความสำเร็จอีกครั้ง
และจากนั้นก็จัดขึ้นอีกแบบต่อเนื่องด้วยการดำเนินการของ “เสี่ยเพ้ง” เป็นหลัก
ซึ่งจากการแพร่หลายและความนิยมที่มากขึ้น ผลที่ได้คือการรวมกลุ่ม เพื่อเตรียมการก่อตั้งเป็นสมาคมปิงปองแห่งประเทศไทยขึ้นมา
โดยผู้เขียน (เท้ง บางขุนเทียน) ได้บันทึกไว้ว่า “เมื่อเห็นคนจีนในไทยนิยมปิงปองและเตรียมรวมกลุ่มจะตั้งสมาคมปิงปอง ครั้นความเรื่องนี้รู้ถึงหูของ นายดุษฎี สวัสดิชูโต กับ นายสำเภา ฉัตรพาน จึงพากันตีอกชกตัว ด้วยเกรงว่าบรรดาชาวจีนจะตั้งสมาคมที่ใช้ชื่อว่า สมาคมปิงปองแห่งประเทศไทย แต่อยู่ภายใต้การบริหารงานของคนจีนไม่ดีแน่ เป็นการหักเหลี่ยม นักนิยมปิงปอง ที่เป็นคนสยามโดยกำเนิดโดยแท้”
จากนั้น 2 คน จึงมีการร่วมหารือกับสโมสรจากสถาบันการศึกษาและสโมสรของคนไทย พร้อมทั้งมีชาวอังกฤษ นายจีออฟรี คัลทรีค ที่เป็นนักปิงปองให้คำปรึกษาหารือ จนเวลามาถึง ปี พ.ศ.2499 สมาคมปิงปองของไทยจึงได้กำเนิดขึ้น ภายใต้ชื่อว่า “สมาคมเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย”
และแม้จะมีการก่อตั้งขึ้นมาแล้ว แต่คนดำเนินการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อประสานงาน การเผยแพร่ การจัดหาอุปกรณ์ หรือด้านการจัดการอื่น ๆ ก็ไม่มีใครถนัด และคนที่ถูกเชิญมาทำหน้าที่นี้คือ “เสียเพ้ง” และก็ทำหน้าที่ทั้งผู้จัดแข่ง ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสินอีกด้วย
ผู้เขียน (เท้ง บางขุนเทียน) ย้ำในคำสัมภาษณ์เสี่ยเพ้ง ในบันทึกว่า “เสี่ยเพ้งบอกว่าที่เขาทำทุกอย่างในกีฬาปิงปอง เพราะประเทศไทยให้ผมมาก ผมก็ต้องตอบแทน และการทำงานนี้คือ การตอบแทนพระคุณประเทศไทย”
นี่คือเรื่องราวทั้งหมดของการก่อกำเนิดสมาคมปิงปองในไทย ที่เกี่ยวข้องอย่างมากกับ “นายเพ้ง แซ่ฉุย” หรือ เสี่ยเพ้ง
ปิดท้ายนี้ ผม (ผู้เรียบเรียง) ลืมบอกไปว่า “เสี่ยเพ้ง” ช่วงเข้าช่วยงานสมาคมปิงปองต้นๆ ได้เปลี่ยนชื่อแซ่ใหม่ เป็น นายจันทร์ ชูสัตยานนท์ ผู้ที่ยังช่วยวงการปิงปองไทยต่อจากนั้นอีกยาวนาน และเชื่อว่าวันนี้จะยังมีคนจำได้โดยเฉพาะรุ่นเก่าๆ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ ก็บันทึกต่อไว้จากการอ่านตรงนี้ เพราะนี่คือ เรื่องจริงซึ่งมีคุณค่า ที่หากไม่บันทึกต่อๆ ไว้อาจจะ “ถูกลืม” ไปกับกาลเวลา.
เลอภพ โสรัตน์ : เรียบเรียง