2539 ปีแห่งการเชือดบิ๊กกีฬา ภาค 1 : ดร.ณัฐต้องอำลาถิ่นหัวหมาก

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ภาค 1.เด้งรองณัฐ-ก่อนลาออก

บันทึกกีฬาไทยโดย Station THAI ขอเปิดประวัติศาสตร์วงการกีฬาปี พ.ศ.2539 โดยมองว่าปีนั้นทั้งปี แตกต่างจากปีอื่น ๆ แน่นอนเพราะ ระดับหัวแถวขององค์กรกีฬา โดนให้ออก ลาออก บีบออก ย้าย หรือโยกข้ามห้วยกันระนาว

บันทึกเหล่านี้ใครที่เกี่ยวข้องคงโต้แย้งยากครับเพราะเป็นบันทึกจากสื่อในยุคนั้น ที่เขียนถึงกันแบบถ้วนหน้า

เริ่มจากคำครหาและการลาออกของ “ดร.ณัฐ อินทรปาณ” ขณะนั้นเป็นรองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ฝ่ายวิชาการ….หาคำตอบว่า ทำไม.

จุดเริ่มต้นที่แตกหักคือ…..การประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ด กกท. เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2539 โดยมีนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่ประธานบอร์ด กกท.โดยตำแหน่งนั้น หรืออาจจะเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นรัฐมนตรีกีฬา ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ได้นำเรื่องวาระอื่น ๆ เข้าสู่การหารือในบอร์ด กกท.ต่อกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับการประมูลอุปกรณ์ต่างๆ ในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติหัวหมาก (ที่กลายมาเป็นสนามราชมังคลากีฬาสถานในปัจจุบัน) ที่ตอนนั้นกำลังเริ่มวางแผนการก่อสร้าง และดำเนินการต่าง ๆ พร้อมๆ กัน ซึ่งพาดพิงถึงผู้ที่ดูแลการทำงานนี้อยู่คือ “ดร.ณัฐ”

ข่าวเหตุผลการเด้งที่โดนกล่าวหา

จนได้สรุปกันในการประชุมว่า ควรมีการเปลี่ยนแปลงผู้ที่ดูแลงานและรับผิดชอบนี้  โดยมติให้เปลี่ยนแปลงผู้ดูแลงาน จาก ดร.ณัฐ อินทรปาณ รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายบริหาร ที่ดูแลงานก่อสร้างและประมูลส่วนประกอบต่าง ๆ ของสนาม ให้สลับกับ นพ.เจริญทัศน์ จินตนเสรี รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายวิชาการ  ซึ่งหมายถึงให้ “หมอเจริญทัศน์” มาดูแลเรื่องสนามทั้งหมดแทน

พร้อมต่อเนื่องถึงระดับฝ่าย คือให้เปลี่ยนนายชลัท พัทธโนทัย ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสถานกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ดูแลงานเรื่องสนามกีฬาในสายเดียวกับ ดร.ณัฐ ออกไป สลับและให้ นายวิวัฒน์ วิกรานตโนรส ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยมาทำหน้าที่แทน

และการปรับตำแหน่งนี้ บอร์ด กกท.เห็นชอบในวันนั้นทันที….โดยในมุมเหตุผลก็คือ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตามต้นเรื่อง “หนังสือร้องเรียน-คำครหา” ที่ได้นำเข้าสู่การหารือนั่นเอง

จริงไม่จริงไม่มีใครพิสูจน์ได้…แต่คนถูกเปลี่ยนก็เหมือนมีความผิด หรือถูกเข้าใจผิด เสียหาย

จากนั้นปฏิบัติการของ “คนมีพวก” ก็เกิดแรงกระเพื่อมใน การกีฬาแห่งประเทศไทย มีการวางหรีดดำ โดยไม่รู้ใคร แต่พอที่จะรู้ฝ่ายใด ซึ่งด้วยความหมายของการวางหรีดดำก็คือ เพื่อไว้อาลัยให้คน กกท.ที่โดนรังแกจากฝ่ายการเมือง ซึ่งเล่นเอา ดร.สมชาย ประเสริฐศิริพันธ์ ที่เป็นผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยในยุคนั้นต้องเรียกเคลียร์ทั้งภายในคือคน กกท.ตัวเอง และภายนอกที่ก็คือกลุ่มการเมืองที่ครอบ กกท.อยู่

แต่เป็นที่รู้กันว่าเรื่องพวกนี้เคลียร์ไม่จบ เพราะฝ่ายที่ใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงเขาใช้อำนาจแล้ว แต่ข้าราชการประจำ ที่อยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจก็มีแต่แสดงออกแต่ไม่มีสิทธิอะไร ที่จะไปต่อรองหรือพลิกคำตัดสิน

เรื่องนี้คุกรุ่นในทุ่งหัวหมากช่วงนั้นยิ่งนัก…และก็เป็นจริง!!!

หลังจากนั้นอีกไม่ถึงยี่สิบวัน เพราะวันที่ 8 พ.ค.2539 ด้วยวัย 58 ปี ดร.ณัฐ อินทรปาณ รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายวิชาการ (หลังจากที่ถูกสลับตำแหน่ง) และถูกพาดพิงจากคำกล่าวหา ก็ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งที่นั่งอยู่ แล้วก็เก็บของออกจากการกีฬาแห่งประเทศไทยไป หลังจากที่เข้าสู่ถิ่น กกท.ตั้งแต่ปี 2532

ข่าวสารผ่านสื่อมวลชนยุคนั้นเป็นบันทึกจริงๆ ต่อมาก็คือ

สาเหตุที่ ดร.ณัฐ หรือ อาจารย์ณัฐ ที่สื่อรวมทั้งศิษย์ทุกคนเรียกนั้น ท่านได้เปิดเผยว่า “ จริง ๆ แล้วนั้นตนเองจะลาออกตั้งแต่ต้นปี 2538 แล้ว เพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่มาทำหน้าที่แทน แต่พอดีปรึกษาผู้ใหญ่ที่นับถือแล้ว ท่านได้ขอให้ช่วยงานซีเกมส์ครั้งที่ 18 ปลายปี 2538 ก่อน ก็เลยอยู่ต่อเพื่อช่วยงานดังกล่าว และในงานศพคุณพ่อก็ได้หารือกับผู้ใหญ่ที่นับถืออีกครั้งและก็สามารถตัดสินใจได้ ก็เลยยื่นใบลาออก ซึ่งบังเอิญมาเจอช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงพอดี ตนเองก็คงไม่มีอะไรต้อพูดมาก เมื่อตัดสินใจแล้ว เดินหน้าแล้วก็ต้องเดิน เพราะถอยหลังไม่เป็น แต่เมื่อลาออกแล้วไม่ใช่ว่าจะจากวงการกีฬา เพราะยังมีตำแหน่งในคณะกรรมการโอลิมปิกสากลอยู่”

ดร.ณัฐแจงเหตุผล

นั่นคือคำอธิบายที่อาจารย์ณัฐบอกกับสื่อกีฬาถึงสาเหตุของการยื่นใบลาออก

เป็นการอธิบายเหตุผลที่สอดคล้องกับการตัดสินใจที่ดูดีเยี่ยมง่ายๆสบายๆแล้วจบ

แต่ในเชิงลึกๆแล้วมันไม่จบ เพราะจริง ๆ แล้ววันนั้นไม่มีใครเชื่อตามท่านอาจารย์ณัฐอย่างนั้นเลยว่ามีเหตุผลแค่นั้นแบบ 100%…นี่คือเรื่องจริง.

#รอติดตามภาค 2 ผู้ว่า กกท.สมชาย ประเสริฐศิริพันธ์”….ก็หนีไม่พ้นการลาออก!!!

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!