ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา พร้อมด้วย นายวรวิทย์ ลิขิตวรกุล นายกเทศมนตรีตำบลห้วยทับทัน ร่วมทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ส่งมอบ – รับมอบ สิ่งก่อสร้าง ระหว่าง กรมพลศึกษา กับ เทศบาลตำบลห้วยทับทัน เพื่อการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการสร้างสระว่ายน้ำชุมชน ตำบลห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ประจำปี 2564 โดยมี นางสาวรุจาภา วีสเพ็ญ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายอิศรา โพธิ์เงิน นายอำเภอห้วยทับ , นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จ.ศรีสะเกษ , นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 7 จ.ศรีสะเกษ และส่วนราชการในจังหวัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคารสระว่ายน้ำกรมพลศึกษา ตำบลห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ
กรมพลศึกษาได้ดำเนินการก่อสร้างสระว่ายน้ำชุมชน ตำบลห้วยทับทัน ตามแบบแผนของ กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งถือว่าเป็นสระว่ายน้ำชุมชนที่สร้างแล้วเสร็จเป็นแห่งแรก ภายใต้โครงการก่อสร้างสระว่ายน้ำชุมชนทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกีฬาขั้นพื้นฐานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ให้กลายเป็นวิถีชีวิต เกิดความรู้และความตระหนักในประโยชน์ของการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อทักษะในการดำรงชีวิต รวมถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยเฉพาะทักษะกีฬาว่ายน้ำ ทักษะลอยตัวในน้ำ และการช่วยเหลือผู้จมน้ำอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ ตกน้ำ รวมถึง การสร้างนิสัยรักกีฬา และมีน้ำใจเป็นนักกีฬา และนันทนาการในการพัฒนาจิตใจ มีระเบียบ วินัย รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รวมทั้งการพัฒนาทักษะด้านกีฬาสู่ความเป็นเลิศ
ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า “พิธีส่งมอบสระว่ายน้ำระหว่าง กรมพลศึกษา กับ เทศบาลตำบลห้วยทับทัน ในวันนี้ เป็นการดำเนินโครงการภายใต้นโยบายของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างโอกาสให้ประชาชนมีสถานที่เล่นกีฬาออกกำลังกาย โดยเฉพาะสระว่ายน้ำชุมชนทั่วประเทศ เพื่อได้ใช้เป็นพื้นที่ในการปลูกฝัง ฝึกสอน เด็ก เยาวชน และประชาชน ให้สามารถว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่แต่ละปีมีเด็กจมน้ำ เป็นจำนวนมาก ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องที่กรมพลศึกษาได้รับอนุมัติงบประมาณมาให้ดำเนินการ ในปี 2564 ในการสร้างสระว่ายน้ำชุมชน จำนวน 12 แห่ง เป็นรูปแบบสระว่ายมาตรฐานความยาว 25 เมตร โดยปรับลดขนาดของความลึก ให้เหลือเพียง 1 เมตร ถึง 1.50 เมตร ตามที่ได้มีการร่วมหารือกับทาง สมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเล็ก และลดความเสี่ยงในการจมน้ำ ขณะทำการเรียนการสอน
สำหรับสระว่ายน้ำชุมชน ตำบลห้วยทับทัน เป็นสระว่ายน้ำที่ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นแห่งแรก หลังจากนี้ กรมพลศึกษา จะดำเนินการประสานงานกับทาง มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด , การกีฬาแห่งประเทศไทย ประจำจังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานต่าง ๆ จัดกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการอบรมผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่สระว่ายน้ำ การจัดการแข่งขัน ส่งเสริมให้เด็กว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะในอำเภอห้วยทับทัน และอำเภอใกล้เคียง ได้เข้าใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ต่อไป