จับตาวงการกีฬาปี 66 : ตอนที่ 1 : โอลิมปิกและกรมพละคงไม่มีอะไร จุดน่าสนใจอยู่ที่ ม.การกีฬา จะมีการสะสางปัญหาที่ค้างคามานานได้หรือไม่

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เมื่อปีเถาะ หรือปีกระต่าย หรือ ปี 2566 ก้าวเข้ามาถึง Station-THAI ขอเป็นส่วนหนึ่งของการ “จับตา” วงการกีฬาไทย ซึ่งคงไม่ใช่การจับตาแบบให้รอดูผลงานนักกีฬาไทย หรือการจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอะไร ที่จะเกิดขึ้นกับวงการกีฬาไทย

เพราะสิ่งนั้นนับเป็นเรื่องที่มองว่า “ทั่วๆไป” มากเกินไปและหาดูที่ไหนก็ได้

คงจะเล็งไปจับตาดู เหตุการณ์และความเคลื่อนไหวระดับสูงใน “หน่วยงานหรือองค์กรกีฬา” ในมุมมองของเราในสไตล์ของ Station-THAI

กรมพลศึกษา

เริ่มต้นที่ มองไปยังสิ่งเล็ก ๆ ที่เชื่อว่าคงไม่มีอะไรมาก จากกรมพลศึกษา ที่นำโดย ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา ซึ่งในปัจจุบันนั้นกรมนี้ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแทบจะเรียกว่าไม่เป็นที่หวือหวา น่าจ้องตาดูเหมือนยุคก่อน ๆ คงเพราะเนื้องานไม่ฉูดฉาดมากนักตามภารกิจ ฉะนั้นสำหรับปีหน้า ถ้าหากไม่มีการขยับ “อธิบดีนิวัตน์” ขึ้นไปใหญ่กว่าเดิมในช่วงท้ายของชีวิตราชการ และตั้งคนใหม่เข้ามาแทน…ก็คงไม่มีอะไรต้องเพ่งเล็งใดๆ

คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ

ไปที่องค์กรกีฬาใหญ่ ๆ  อย่างคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย หลังจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ครองตำแหน่งประธานต่อ และ พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เข้ารับตำแหน่งพ่อบ้าน แม้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งคนบ้าง แต่งานที่น่าจับตาปีเถาะ ก็คงแค่เป็นงานเรื่อย ๆ ในอำนาจหน้าที่ ซึ่งปกติในองค์กรนี้ทีมงานปฏิบัติการของ “บ้านอัมพวัน” เขาทำกันมาชั่วนาตาปีอยู่แล้ว จึงจะเรียกได้ว่าแม้ไม่มีบิ๊กใหญ่ ๆ เข้ามา กลุ่มปฏิบัติการนี้ก็ทำงานได้แบบหลับตาทำก็ยังได้ด้วยซ้ำ

มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ

ขยับไปที่เรื่องระอุที่คุกรุ่นมานาน แต่ “ไร้บทสรุป” ที่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ หรือ มกช. นั่นคือเรื่องเดิม ที่แม้สภา มกช.เสนอนายกสภาคนใหม่ไป แต่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ไม่ได้เสนอเพื่อให้เกิดการได้มาตามที่สภา เสนอ เพราะอำนาจอยู่ที่กระทรวงฯ ขณะที่การคัดเลือกหรือสรรหาอธิการบดีคนใหม่ แทน ดร.ปริวัฒน์ วรรณกลาง ตาม พระราชบัญญัติ มกช. เมื่อปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา นามว่า โชติ ตราชู ที่เกษียณไปแล้ว ทำการคัดเลือกได้ 2 คนและเสนอไปที่ สภา มกช.ตามกระบวนการเพื่อพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้ง แต่ปรากฏว่า สภา มกช.ก็ไม่เอาด้วย เพราะอำนาจอยู่ที่ สภา มกช.

รวมไปถึงเรื่องการสอบวินัยร้ายแรง อธิการบดี คนเก่า-คนปัจจุบัน ที่กระทรวงฯสอบและชี้ผิด แต่สภา มกช.ก็ไม่ได้นำเรื่องเข้าพิจารณาเพราะกลั่นกรองแล้วเห็นว่า “ไม่พบว่าผิด” ตามกระทรวงฯสอบ

เกม 2 ขั้วที่มีอำนาจตาม พรบ.ทั้ง พรบ.สถาบันการพลศึกษา (เดิม) กับ พรบ.มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ (ใหม่) แต่ใช้เดินงานอยู่ในเรื่องเดียวกัน ใน “ปีกระต่าย” แม้ว่าจะน่าจับตามอง แต่ก็ยากที่จะคาดเดาว่าจะสรุปลงได้แบบไหนหรืออย่างไร….ยกเว้นการเดินตามหนทางนี้

คือหนทางแรกคือ...คนของสภา มกช.และ คนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะต้องพูดคุย “ภาษาเดียวกัน” ได้ลงตัว เพราะที่ผ่านมาเหมือนกันกับว่าปัญหาความคุกรุ่นนี้ “อยู่ที่คน” เท่านั้น

หรือไม่ก็มีอีกหนทาง ที่โคตรยากมาก (ซึ่งไม่รู้จะทำได้หรือไม่และถ้าทำได้จะใช้เวลากี่ปี)  คือต้องมี “การรื้อ” แก้ไขเนื้อหาอำนาจใด ๆ ใน พรบ.ใหม่ และยกเลิก พรบ.เดิม หรือร่างกติกากันใหม่ที่จะใช้ร่วมกันได้….

เพราะการแก้ไขที่ได้เอ่ยถึงไปนี้หากไม่มีการเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง…ปีหน้าคงอาจจะได้เขียนปัญหาแบบนี้ต่อไปอีกเรื่อย ๆ เนื่องจากมองว่าสุดยากที่จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหากไม่มีการเลือกซักทาง ถ้าจะดึงดันกันเช่นนี้ต่อไป…และเมื่อหากจะเป็นเช่นนี้ผู้เกี่ยวข้องต้องเลือกพิจารณาดูกันเองแล้วล่ะขอรับ

“ว่าจะนั่งจับเข่าคุยกันด้วยไมตรี หรือจะดันแบบเอาเป็นเอาตายกันไปจนถึงการเปลี่ยนกติกา”

(ติดตามต่อ ตอนที่ 2 : เรื่องจับตาที่ กกท.หรือค่ายหัวหมาก มีอะไรน่ามองครับ)

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!