จากตอนที่ 1 ได้เขียนเรื่องราวที่น่าจับตาของวงการกีฬาระดับในหน่วยงานหรือองค์กร อย่างกรมพลศึกษา คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ไปแล้ว คราวนี้คงมาถึง เรื่องของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของวงการกีฬา คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กับมุมมองของเรา Station-THAI
4 ปีที่ผ่านมา และ ปีหน้าก็ยังอยู่ในการต่อวาระที่ 2 ของ “ดร.ก้องศักด ยอดมณี” ซึ่งยังจะเป็นปีแรก ในการเป็นผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย
ที่น่าจับตามองเป็นเรื่องแรกคือ ตำแหน่งรองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ยังขาดอยู่ 2 ตำแหน่งคือ รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร และรองผู้ว่าการฝ่ายยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อแทน 2 คนเดิมที่เกษียณอายุไปตั้งแต่ 30 ก.ย.2565 และได้มีกระบวนการคัดเลือก-สรรหาแล้ว แต่ยังมีรายการยึกยักในขั้นตอนนำเข้าเพื่อขอความเห็นชอบในคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ด กกท.) เพื่อให้ทุกอย่างสิ้นกระบวนการอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่วันโน้นจนกระทั่งต้องมาลุ้นข้ามมาปี 2566 ว่าใครคือ 2 ผู้ที่เหมาะสมจะเข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าว
เรื่องการสรรหานี้มีการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เสียงดังออกมาบ้าง หรืออยู่ในลำคอบ้าง ของคนที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องแต่อยากรู้ เพื่อที่จะเสาะหาคำตอบว่า “ทำไมการขยับขึ้นของคน กกท.เอง เพื่อรับตำแหน่งในโครงสร้างของคน กกท.เอง…มันยากขนาดนั้น”
คำตอบนี้คงมีแต่ “ผู้ว่าก้องศักดิ์” ที่สามารถตอบได้แน่ชัดว่า มันมีปัจจัยภายนอกใดเข้ามาแทรกทำให้เดินต่อไม่ได้ในเวลาที่ผ่านมา…แต่หากไม่ตอบ (เชื่อแน่ว่าผู้ว่าก้องคงไม่อยากตอบชัดๆ) ก็คงพอเดาได้ว่า “มันต้องมี” แน่นอน ส่วนจะเป็นปัจจัยแบบไหนอย่างไรนั้น…ก็คงเดาต่อไม่ยากแต่จะถูกมากน้อยก็ว่ากัน
แต่ในปี 2566 นี้คงจบและต้องรู้เรื่องแน่ว่า “คนกกท.ระดับ 9 ท่านใดจะได้ขึ้นสู่ตำแหน่งรอง” และเมื่อได้ 2 รองใหม่แล้ว ก็คงจะมีคำอธิบายชัด ๆที่ดูดีต่อภายในอีก เพราะเรื่องนี้แน่นอนคือ การเลือกใครจะต้องมีคนถูกใจและไม่ถูกใจจากคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องล้านเปอร์เซ็นต์
“แต่นั่นก็คือวิถี….” ของผู้นำ
และอีกเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ในกกท.มาตลอด คือการเคลียร์การทำงานร่วมกันระหว่างกกท.กับกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพื่อให้งานต่าง ๆ มีความคล่องตัว โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ที่สมาคมกีฬา ทั้งแห่งประเทศไทย และแห่งจังหวัดเข้าไปเกี่ยวข้อง กับการขอสนับสนุนต่าง ๆ จากกองทุนพัฒนาการกีฬา
ในขณะที่ทั้ง สองฝ่าย พยายามยืนในจุดที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ แต่ “ความไม่คล่องตัว” ที่เกี่ยวพันกับการทำงานทั้งสองฝ่าย ทั้งปีที่ผ่านมาก็ยังเป็นปัญหาให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง คลางแคลงใจในขั้นตอนต่าง ๆ ที่มีคำตอบล่าช้า หรือ ได้เงินล่าช้า จึงกลายเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น การคาดหวังว่าที่ในปี 2566 ควรจะเป็นปีที่สร้างความหวัง ลดความกังขา หาความสะดวกให้กับผู้ที่มีส่วนได้เสียมากขึ้นและลดปัญหาเช่นที่ผ่านมาทั้งมวล
“เรื่องนี้คงหนีไม่พ้นผู้นำที่ชื่อก้องศักด…เช่นเดิม”
นี่คือส่วนที่ต้องจับตา ในการกีฬาแห่งประเทศไทย กับ 2 เรื่องใหญ่ ๆ ซึ่งท้ายสุดก็คงต้องลงไปที่การหวังที่จะได้เห็นการจัดการของ ผู้ว่าการ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ต่อส่วนที่เขียนสรุปมาให้ดีที่สุด
“ด้วยเชื่อว่าการก้าวสู่ปีที่ 5 ของตำแหน่งผู้ว่าคงไม่ยากนักแล้วกับคำว่า….กล้าและลุย!!!”