เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2566 “ดร.หญิง” ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่
และได้มีการสรุปข่าวนำแจกจ่ายสื่อมวลชน เพื่อให้เกิดความกระจ่างในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ในวงการกีฬา ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควร Station-THAI เปิดพื้นที่ข่าวให้เต็มที่ จากข่าวการชี้แจงของ ดร.สุปราณี คุปตาสา โดยได้เปิดเผยรวมๆ ทุกประเด็นดังนี้
กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) ขอชี้แจงขั้นตอนระเบียบการยื่นขอเงินสนับสนุนกีฬา และการเบิกจ่ายตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เรื่องการส่งเสริม หรือการสนับสนุนงบประมาณ พ.ศ.2563 ของสมาคมกีฬาต่างๆ ทั้งสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด และสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย จำแนกเป็น 4 ประเด็น ความรวดเร็ว-ความโปร่งใส-ความเหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณ-เงินค้างท่อ โดยกระบวนการยื่นของบ และการเบิกจ่ายจะขึ้นอยู่ที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นผู้พิจารณา
* ความรวดเร็ว – สมาคมกีฬา ยื่นขอรับงบผ่าน กกท. เป็นผู้กลั่นกรองและพิจารณา
“ดร.หญิง” ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) เปิดเผยว่า ประเด็นแรกเรื่อง “การยื่นขอเงินสนับสนุนกีฬา” ซึ่งก่อนต้นปีงบประมาณ ทางสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด และสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคม สโมสรกีฬาต่างๆ จะส่งโครงการ และงบประมาณที่จะขอรับการสนับสนุนไปที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งแต่ละฝ่ายจะมีคณะกรรมการพิจารณา กลั่นกรอง รวบรวมคำขอรับงบประมาณส่งเสริม สนับสนุนจากสมาคมกีฬาต่างๆ ก่อน โดยกระบวนการนี้จะขึ้นอยู่กับระยะเวลา การเดินทางของเอกสาร, เอกสารไม่ครบ, เอกสารไม่ถูกต้อง, บางโครงการขอมาผิดวัตถุประสงค์ ฯลฯ สุดท้ายสมาคม ต้องปรับแก้ให้ถูกต้อง ก่อนจะผ่านการพิจารณา
* ผู้จัดการกองทุนฯ ไม่มีอำนาจ ในการเซ็นเบิก-จ่าย งบประมาณ
ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวว่า ประเด็นต่อมาเรื่อง “ความโปร่งใส” ซึ่งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การของบ จนจบที่การเบิก-จ่าย จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองทุกขั้นตอน โดยเริ่มจากที่ กกท. กลั่นกรองแล้ว ส่งต่อมาที่กองทุนฯ และส่งไปที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ด้านการพัฒนากีฬา และคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อพิจารณา โดยปกติถ้าทุกอย่างกลั่นกรองมาแล้ว เข้าเกณฑ์ และข้อมูลชัดเจน บอร์ดกองทุนฯ ก็จะอนุมัติ หลังจากอนุมัติแล้ว ผู้ส่งคำขอ หรือเจ้าของโครงการ จะมาเซ็น MOU กับกองทุนฯ ส่วนการเบิก-จ่าย จะเป็นหน้าที่ของคลังกองทุนฯ ( คลังกองทุนฯ คือ ฝ่ายการเงิน ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กกท. เพื่อเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ) โดยผู้ว่าฯ กกท. เป็นผู้มีอำนาจตามระเบียบคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ข้อ 52 ในการทำเบิก-จ่าย ส่งไปยังคลังกองทุนฯ โดยที่ ผู้จัดการกองทุนฯ “ไม่มีอำนาจ” ในการ เบิก-จ่าย
“กกท. จะเป็นผู้รับคำยื่นของบประมาณจากสมาคมกีฬา และกลั่นกรองพิจารณา ก่อนส่งต่อมาที่กองทุนฯ พร้อมกับเป็นผู้รับผิดชอบการเบิก-จ่าย งบประมาณ ดังนั้นกรณีความล่าช้า เงินค้างท่อ และโดนตัดงบต่างๆ เป็นการพิจารณาตามความเหมาะสมของ กกท.”
* ความโปร่งใส – กองทุนฯ ยื่นมือเข้ามาช่วยลดขั้นตอนการเบิกจ่ายแก้ปัญหา “เงินค้างท่อ”
สำหรับการยื่นคำของบ ผ่านระบบอิเลคทรอนิคส์ ที่กองทุนฯ เพิ่งพัฒนาและจัดอบรมไปนั้น เป็นขานรับนโยบายบอร์ดกองทุน เพื่อช่วยแก้ปัญหาเงินค้างท่อ อำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบ และติดตามได้ โดยสมาคมกีฬาที่ยื่นของบเข้ามา ระบบข้อมูลจะถูกส่งเข้าไปที่ กกท. ก่อน เพื่อให้พิจารณา ตรวจสอบ และกลั่นกรอง
ส่วนกองทุนฯ จะรับคำขอตรงเฉพาะเรื่องทุนการศึกษา สวัสดิการ และเงินรางวัล ตามมาตรา 42(4) (5) (6) ของ พ.ร.บ. กกท. พ.ศ.2558 โดยมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านสวัสดิการกีฬา ก่อนเสนอต่อบอร์ดกองทุนฯ เป็นผู้อนุมัติ”
* กองทุนฯ ไม่มีอำนาจในการตัดงบประมาณสมาคมกีฬา ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกท. ในการจัดสรรงบประมาณ
ดร.สุปราณี กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่อง “การตัดงบประมาณของสมาคม” ปัจจุบันมีสมาคมกีฬาจังหวัด 77 แห่ง และสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย 89 แห่ง โดยรวมแล้วสมาคมกีฬาต่างๆ ทั้งหมด ยื่นของบสนับสนุนต่อ กกท. รวมกันมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ในความเป็นจริง งบประมาณมีเพียง 4 พันกว่าล้านบาท จึงต้องดูตามความเหมาะสม
ดังนั้น ทางกองทุนฯ จึงต้องทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้เห็นกรอบงบประมาณในปีดังกล่าว หลังจากสรุปกรอบงบประมาณได้ที่ 4 พันล้านบาท กองทุนฯ จะแจ้งกลับไปที่ กกท. จากนั้นเป็นหน้าที่ของ กกท. ที่จะต้องเขย่าทุกโครงการให้ยอดงบประมาณลดลงมาตามกรอบวงเงินที่กองทุนฯ มีอยู่
ซึ่งการลดงบประมาณ และตัดงบประมาณ ขึ้นอยู่ที่ กกท. พิจารณาตามเกณฑ์ว่าจะจัดสรรงบประมาณให้กับสมาคมกีฬาต่างๆ เท่าไหร่ ซึ่งทางกองทุนฯ ไม่ได้เข้าไปก้าวก่าย
ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ประเด็นสุดท้ายเรื่อง “เงินค้างท่อ” ซึ่งภายหลังจากที่บอร์ดกองทุนฯ อนุมัติไปแล้ว เงินงบประมาณจะไปค้างอยู่ที่คลังกองทุนฯ โดยผลการเบิกจ่ายภาระผูกพันปี 2565 ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 4,032 ล้านบาท จำแนกเป็น อนุมัติแล้วยังไม่ได้เบิกจ่าย 69 เปอร์เซ็นต์ และเบิกจ่ายตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 จำนวน 31 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลการเบิกจ่ายงบประมาณ 2566 ที่อนุมัติแล้ว ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำแนกเป็น อนุมัติแล้วยังไม่ได้เบิกจ่าย 76 เปอร์เซ็นต์ และเบิกจ่ายตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 จำนวน 24 เปอร์เซ็นต์
“อยากจะชี้ให้สมาคมกีฬาต่างๆ ทั้งสมาคมกีฬาจังหวัด และแห่งประเทศไทย เข้าใจถึงขบวนการขั้นตอนเบิก-จ่าย งบประมาณ ทุกอย่างจะถูกพิจารณาผ่าน กกท. โดยเริ่มตั้งแต่การยื่นขอรับงบสนับสนุน กลั่นกรอง และตัดสินใจ ยื่นต่อให้กองทุนฯ โดย กกท. ฝ่ายที่รับผิดชอบ รวมทั้งโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุน การยื่นเบิก-จ่าย จะเป็นหน้าที่ของคลังกองทุนฯ ( คลังกองทุนฯ คือ ฝ่ายการเงิน ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กกท. เพื่อเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ) โดยผู้ว่าฯ กกท. เป็นผู้มีอำนาจตามระเบียบคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ข้อ 52 ในการทำเบิก-จ่าย ส่งไปยังคลังกองทุนฯ โดยที่ ผู้จัดการกองทุนฯ “ไม่มีอำนาจ” ในการ เบิก-จ่าย ” ดร.สุปราณี กล่าว
ดร.สุปราณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาคอขวดเกิดขึ้นมาตั้งแต่การยื่นของบ และมีการเขย่าโครงการ เพื่อให้ออกจากคอขวด ซึ่งมีจำนวน 77 สมาคมกีฬาจังหวัด และ 89 สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย จึงต้องใช้เวลาพอสมควร และคลังกองทุนฯ ก็มีเจ้าหน้าที่น้อย กองทุนฯ จึงว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาช่วยให้รวดเร็วขึ้น โดยหากตรวจเอกสารทุกอย่างสมบูรณ์ กกท.ก็สามารถเบิกจ่ายได้ สำหรับงบปี 2566 ได้เบิกจ่ายไปแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมนักกีฬาสำหรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ส่วนสมาคมกีฬาจังหวัดจะขอตรงไปยัง กกท. เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับฝ่ายภูมิภาค
“ที่ผ่านมากองทุนฯ ทำเยอะมากหลายอย่าง ทั้งระบบไอทีที่ช่วยให้สมาคมกีฬาเห็นสถานะว่ากระบวนการของบไปค้างที่ไหน แต่สิ่งที่ผู้จัดการกองทุนฯ และผู้ว่าการ กกท. เน้นมากคือการติดตามโครงการ และการใช้เงินจริง อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดผล ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้จะต้องทำร่วมกัน 3 ฝ่ายคือ สมาคมกีฬา กกท. และกองทุนฯ เพื่อขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิ์ แต่ส่วนตัวยังไม่ท้อ และอยากจะชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ทำให้เรา และองค์กรเกิดความเสียหาย พร้อมกับหาทางแก้ไขให้ได้”
Station-THAI ลงเต็ม ๆ โดยไม่มีการตัดทอนหรือเติมแต่งใด ๆ ลง เพื่อที่จะให้ผู้ที่ติดตามได้รับทราบแบบชัด ๆ ตามเจตนาของการสื่อสารครับ