จากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 มีสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวกับวงการกีฬาของไทยดังนี้
นั่นคือ เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา)
โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. เห็นชอบตามที่ กค. เสนอมอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ร่วมขับเคลื่อนและสร้างการรับรู้และความเข้าใจมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา ร่วมติดตามและประเมินประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการนี้เพื่อการจัดทำรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งร่วมส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยรับบริจาคสำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬาทุกแห่งใช้ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริจาคและหน่วยรับบริจาค และให้ กก. ดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญ
1. ร่างพระราชกฤษฎีกา ที่ กค. เสนอ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการกีฬาให้แก่ 1) การกีฬาแห่งประเทศไทย 2) คณะกรรมการกีฬาจังหวัด 3) สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด 4) สมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” (เช่น สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย) หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และ 5) กรมพลศึกษา โดยให้หักลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินบริจาค สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 (รวม 2 ปีภาษี) โดยมาตรการภาษีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 696) พ.ศ. 2563 ซึ่งได้สิ้นสุดไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งจะสอดคล้องกับการขยายระยะเวลาการให้สิทธิหักลดหย่อนหรือหักรายจ่ายได้ 2 เท่าสำหรับการบริจาคอื่น ๆ ที่กำหนดให้มีระยะเวลาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เช่น การบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา
2. กค. ได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และคาดว่ามาตรการภาษีดังกล่าวจะมีผลทำให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีลดลงปีละประมาณ 1 ล้านบาท (รวม 2 ปีภาษี ประมาณ 2 ล้านบาท) แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยรับบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา จะได้รับบริจาคจากภาคเอกชนตามมาตรการภาษีดังกล่าวปีละประมาณ 8 ล้านบาทเศษ (ในปี 2565) ซึ่งมาตรการนี้ภาคเอกชนและภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมสนับสนุนการกีฬาของประเทศอย่างต่อเนื่อง และเป็นการช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐในด้านการกีฬาได้อีกทางหนึ่ง