ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2566 ประธานสหพันธ์มวยสากลนานาชาติ หรือ IBA อูมาร์ เครมเลฟ ได้ส่งหนังสือถึงสมาชิกระดับทวีป และระดับชาติ ที่รวมถึงสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย ด้วย โดยหนังสือนั้นระบุว่า สมาชิกทั้ง 2 ระดับอย่าได้ตื่นตระหนกเกี่ยวกับการที่ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ตัดขาดกับ IBA เพราะทาง IBA ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ขบวนการโอลิมปิกแล้ว ก็ยังมีแนวทางมากมายเกี่ยวกับการพัฒนาวงการมวยสากลของโลกที่รับผิดชอบ ทั้งการพัฒนานักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค และ บุคลากรทางการแพทย์ในสังกัด ต่อไป โดยตอนนี้ได้เปิดรับความคิดเห็นของสมาชิกเพื่อที่จะนำไปสู่การปรับและพัฒนาตามความต้องการ และขอให้สมาชิกมั่นใจในการร่วมงานกันต่อไป พร้อมทั้งแจ้งโปรแกรมกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งในการแจ้งนั้นยังยืนยันการจัดประชุม IBA ที่จังหวัดภูเก็ตประเทศไทย ในวันที่ 15 ก.ค.2566
นอกจากนี้หนังสือถึงสมาชิกของประธาน IBA ยังระบุอีกว่า ทาง IBA ขอให้สมาชิกแจ้งแหล่งเงินสนับสนุนขององค์กรมวยในชาติตนเองมาให้ทราบเพื่อวางการช่วยเหลือทางด้านการเงินต่อไป และ ขอแจ้งให้สมาชิกทราบว่า ในปี พ.ศ.2567 ที่จะถึงนี้ จะมีเงินสนับสนุนเป็นทุนให้กับสมาชิกแต่ละชาติ เพิ่มขึ้นจาก 20,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 50,000 เหรียญสหรัฐ และนอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2568 อาจจะมีเงินทุนหนุนถึงชาติละ 100,000 เหรียญสหรัฐ จากการเจรจากับสปอนเซอร์ที่สนับสนุนอยู่ในขณะนี้
แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เปิดเผยว่า การที่ประธาน IBA ออกหนังสือถึงสมาชิกครั้งนี้ ก็เป็นไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ IOC ตัดขาดกับ IBA หลายชาติ ได้ตัดสินใจออกจากการเป็นสมาชิกของ IBA เพื่อเข้าหาองค์กรมวยสากลแห่งใหม่ที่เชื่อว่าจะเข้ามาดูแลมวยสากล โดยการรับรองของ IOC แทน IBA เพื่อการร่วมงานในกีฬาที่อยู่ในการดูแลของไอโอซี เพราะทันทีที่ IOC ตัดขาดจาก IBA เมื่อ 22 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมากลุ่มสมาชิกเดิมของ IBA ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย ก็หมดสิทธิดำเนินการในนามขององค์กรเกี่ยวกับงานของ IOC โดยทันที หากยังไม่ตัดขาดจาก IBA ขณะที่บางชาติก็มีแนวทางอีกด้านก็คือ ให้องค์กรมวยสากลในชาติที่เป็นสมาชิกของ IBA ดำรงอยู่ต่อไปเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมของ IBA แต่ได้ตั้งองค์กรมวยสากลในประเทศขึ้นมาใหม่ โดยคณะบุคคลหรือวิธีการต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองจากองค์กรกีฬาภาครัฐของประเทศ และ คณะกรรมการโอลิมปิกแต่ละชาตินั้น ๆ เพื่อดำเนินการประสานงานกับ IOC ในการร่วมกิจกรรมตามแนวทางของ IOC ต่อไป ขณะที่ประเทศไทย ยังไม่ได้เลือกเส้นทางใด ๆ ทั้ง 2 แนวทางนี้ ซึ่งก็น่าห่วง และฝากถึงองค์กรกีฬาอย่าง การกีฬาแห่งประเทศไทย ว่าน่าจะมีความเคลื่อนไหวเพื่อการจัดการเรื่องนี้ได้แล้ว.