ปัจจุบันขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะด้านนิติวิทยาศาสตร์ ที่ต้องอาศัยการตรวจสอบที่มีความแม่นยำสูง แต่บางส่วนยังต้องอาศัยการนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศที่มีราคาสูงมาก ดังนั้น การคิดค้นนวัตกรรมผ่านนักวิจัยจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น โดย ดร.วรพจน์ โปร่งมณี ผู้ช่วยนักวิจัย สังกัดกองวิจัย สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวถึงงานวิจัย โครงการ “การพัฒนาวัสดุุอ้างอิงทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อการรองรับภูมิภาคอาเซียน” โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ว่า โครงการวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจวิเคราะห์เขม่าดินปืน ซึ่งเป็นการตรวจวิเคราะห์ทางเคมี โดยใช้เครื่องมือตรวจวิเคราะห์สารปริมาณน้อย หรือ ICTOES เริ่มจากการเก็บตัวอย่างมาทำให้เป็นรูปแบบของสารละลาย เพื่อนำไปวิเคราะห์องค์ประกอบของธาตุสำคัญ 3 ชนิด คือ ตะกั่ว แบเรียม และพลวง หากพบครบทั้ง 3 องค์ประกอบ ก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผู้ต้องสงสัยที่กำลังเก็บข้อมูลมานั้นมีการใช้งานอาวุธปืนจริงหรือไม่
ประกอบกับปัจจุบัน การวิเคราะห์เขม่าดินปืนมีความก้าวหน้า เนื่องจากใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด ร่วมกับ เครื่องวัดการกระจายพลังงานของรังสีเอกซ์ ถือเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะการใช้วิธีตรวจด้วยเครื่อง ICTOES ตัววัตถุพยานนั้นไม่สกัดสารสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้ไม่สามารถนำตัวอย่างมาตรวจซ้ำอีกครั้งได้ แต่วิธีการตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีการใหม่นี้ จะสามารถนำตัวอย่างวัตถุพยานกลับมาวิเคราะห์ซ้ำ เพื่อนำมายืนยันในชั้นศาลและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมภายหลังได้ ซึ่งการจะตรวจได้ ต้องอาศัยการจัดทำ “วัสดุอ้างอิง” ที่มีอุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาสูง
ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้เริ่มต้นการพัฒนางานวิจัยเรื่องนี้ เพื่อสามารถผลิตวัสดุอ้างอิงได้ด้วยตนเอง ถือเป็นการลดค่าใช้จ่าย และนำงบประมาณดังกล่าวไปพัฒนางานวิจัยอื่นมากขึ้น ทำให้เกิดความร่วมมือกัน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ที่แนะนำมาว่า ประเทศไทยสามารถใช้วิธีการสร้างวัสดุอ้างอิง ที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าการปลูกผลึกบนชิปซิลิกอนแบบในต่างประเทศ นั่นคือ วิธีการปลูกฟิล์มโลหะจากธาตุองค์ประกอบ จนเกาะกลุ่มผลึกกลายเป็นอนุภาคระดับนาโน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากบริษัทนำเข้ากล้องจุลทรรศน์จากต่างประเทศในการสนับสนุนเครื่องมือและการตรวจสอบคุณภาพต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ดร.วรพจน์ กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ได้เริ่มต้นวิธีการวิจัยด้วยการนำแผ่นซิลิกอนเวเฟอร์ เคลือบผิวข้างหน้าด้วยโพลีเมอร์ที่มีคุณสมบัติเมื่อถูกลำแสงอิเล็กตรอนก็จะเกิดเป็นลวดลายขึ้นมา โดยกระบวนการวิเคราะห์นี้อยู่ในระดับที่เล็กมาก อยู่ที่ไม่เกิน 0.5 ไมครอน และต้องอยู่ภายใต้ระบบสุญญากาศ ทำให้กระบวนการนี้มีความบริสุทธิ์อย่างมาก จากนั้นได้นำก๊าซเฉื่อย เช่น ก๊าซอาร์กอน หรือฮีเลียม ใส่เข้าไป เพื่อให้เกิดสภาวะไอออนเหนี่ยวนำบริเวณผิวของธาตุองค์ประกอบทั้งสาม คือ ตะกั่ว แบเรียม และพลวง จากนั้นใช้พลาสมาในการทำให้เกิดความร้อนให้องค์ประกอบของธาตุที่มีขนาดใหญ่นั้นให้กลายเป็นอนุภาคฝุ่นที่เล็กลง จนกลายเป็นสภาพฟิล์มที่มีความบางอย่างมาก จากนั้นขึ้นรูปแม่พิมพ์ของทั้งตะกั่ว แบเรียม และพลวง ขึ้นมา แล้วมีธาตุองค์ประกอบซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ก่อนนำไปตรวจสอบกับบริษัทเอกชนด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด ร่วมกับ เครื่องวัดการกระจายพลังงานของรังสีเอกซ์ โดยผลการทดสอบถือว่าได้ผลดี มีความแม่นยำ และกลายเป็นวัสดุอ้างอิงที่ผลิตได้โดยคนไทย
ทั้งนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ต่อจากเยอรมนีที่ได้ผลิตวัสดุอ้างอิงขึ้นมา เพื่อทำการวิเคราะห์เขม่าดินปืน โดยขั้นตอนต่อไป คือ การทดสอบความเสถียรของตัวชิ้นงาน คาดว่าภายใน 1-2 ปีข้างหน้า จะได้ผลการทดสอบที่ออกมา และสามารถผลิตส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนด้านการกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ต่อไป
“โครงการวิจัยนี้ถือเป็นหนึ่งในนิมิตหมายที่ดี ที่เริ่มมีองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและสามารถนำมาใช้งานได้จริงเป็นรูปธรรม ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้ผลิตภายในประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจจะส่งต่อไปยังประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย พร้อมกันนี้ ยังช่วยลดการนำเข้าวัสดุที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ นำงบประมาณไปพัฒนาภาคส่วนอื่นได้มากขึ้น ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ยกให้ความแม่นยำและถูกต้องในกระบวนการยุติธรรมเป็นพันธกิจหลัก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน จึงเป็นหลักประกันได้ว่า องค์ความรู้ของสำนักงานที่เป็นระดับมาตรฐานสากลนี้ จะช่วยสร้างความถูกต้องและเที่ยงธรรม บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ต่อไป” ดร.วรพจน์ กล่าวทิ้งท้าย