บพท. ชูธง ความรู้สู้วิกฤต ตั้งเป้าช่วย 4 หมื่นคนจน บรรเทาทุกข์

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

บพท. เร่งมือแก้วิกฤตเดินหน้าร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเสริมพลังความรู้แก้ความยากจน ตั้งเป้าปี 2565 ต่อยอดให้คนจนช่วยเหลือตัวเองได้เพิ่มขึ้น 40,000 คน ตามโครงการ 20 อำเภอแก้จนในจังหวัดต้นแบบ 20 แห่ง เสริมด้วยการสร้างตำบลเข้มแข็ง 300 แห่ง และกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น 300 กลุ่ม

นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า บพท. กำหนดกลยุทธ์ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้เป็นวาระสำคัญ ตอบรับกับความต้องการของประเทศและสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของ โควิด-19 และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากวิกฤตการความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

“เรากำหนดให้งานวิจัยมีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤตที่เป็นอยู่ แต่นอกจากการให้ความช่วยเหลือคนยากจนให้เข้าถึงสวัสดิการแล้ว จะต้องต่อยอดงานเดิมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ยั่งยืนในระยะต่อไป”

ในระยะสองปีที่ผ่านมา บพท. ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยและชุมชน ค้นพบประชาชนยากจนที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ จำนวนกว่า 850,000 คน และส่งเข้าระบบสวัสดิการแล้วกว่า 550,000 คน ในปีนี้ บพท.ได้จัดทำโครงการ 20 อำเภอแก้จน ขึ้น เพื่อยกระดับการแก้ปัญหาความยากจนให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพดีขึ้น สนับสนุนให้คนจนหลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน

จากการค้นหาผู้ยากจนดังกล่าว ทำให้ บพท.สามารถพัฒนาระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (Practical Poverty Platform-PPP Connext) ขึ้นมา เป็นเครื่องชี้วัดความยากจนหลากมิติ ได้แก่ ด้านทุนมนุษย์ ทุนเศรษฐกิจ ทุนธรรมชาติ ทุนกายภาพ และทุนสังคม เพื่อช่วยออกแบบการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานะความยากจนรายครัวเรือน

“เราไม่ได้จะมุ่งหาคนจนไปรับสวัสดิการ แต่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขา จึงมีโครงการ 20 อำเภอแก้จน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะใช้งานวิจัยพาเขาก้าวต่อไปจนหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี”

ทั้งนี้ บพท.กำหนดเป้าหมายโครงการ 20 อำเภอ 20 โมเดล แก้จนใน 20 จังหวัด จะครอบคลุมคนจนอย่างน้อย 40,000 คน ให้ได้รับความช่วยเหลือผ่านกระบวนการเชิงนวัตกรรม ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการพัฒนาอาชีพ และเพิ่มรายได้

นาย กิตติ เปิดเผยต่อว่า นอกจากการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จแล้ว บพท.ยังร่วมงานวิจัยกับสถาบันการศึกษาในด้านอื่น ๆ ตามยุทธศาสตร์สำคัญสามด้าน คือ 1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาคน และกลไกจากฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น และทุนทางวัฒนธรรม 2.ยุทธศาสตร์พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ และ 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองน่าอยู่ และเมืองแห่งการเรียนรู้

ดังนั้น นอกจากเป้าหมายตามโครงการ 20 อำเภอแก้จนแล้ว บพท. ยังส่งเสริมงานวิจัยในที่อื่น ๆ กว่า 60 จังหวัด พร้อมเป้าหมายจะพัฒนา 300 ตำบลนวัตกรรม พึ่งตนเอง และผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 300 กลุ่ม เป็นต้น

“งานของ บพท.ไม่ใช่งานพัฒนาชนบท แต่เป็นการส่งเสริมการพัฒนาชนบทและเมืองด้วยงานวิชาการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศในการแก้ปัญหา โดยเน้นความร่วมมือจากในพื้นที่ที่มีปัญหาเป็นหลัก เราจึงส่งเสริมนวัตกรรมในหลายมิติที่สามารถต่อยอดได้ ทั้งเรื่องทุนวัฒนธรรม ธุรกิจชุมชน”

เมื่อสิ้นปี 2564 บพท. กับ 99 สถาบันการศึกษา ได้พัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ จนสามารถสร้างวิสาหกิจเชิงวัฒนธรรม 6,000 ราย สร้างนวัตกรรมพร้อมใช้ 763 นวัตกรรม พัฒนาให้เกิดธุรกิจชุมชน 995 กลุ่ม และพัฒนาให้เกิดชุมชนนวัตกรรม 546 ชุมชน ใน 48 จังหวัด ครอบคลุม 276 อำเภอ

ในด้านความรู้นั้น ปรากฎว่า มีนวัตกรชาวบ้านเกิดขึ้นกว่า 2,700 คน ที่จะเป็นผู้นำการพัฒนาต่อไป ตลอดจนงานพัฒนาเมืองเพื่อสร้างสังคมน่าอยู่รองรับอนาคต จนเกิดบริษัทพัฒนาเมืองขึ้น 20 แห่ง ความรู้ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 16 ชุด แนวทางการลงทุนระดับพื้นที่ 5 พื้นที่ และหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ 20 หลักสูตร

สำหรับ 20 จังหวัดต้นแบบ ที่เป็นเป้าหมายการยกระดับการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในปี 2565 ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ชัยนาท ปัตตานี มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ นครราชสีมา เลย ร้อยเอ็ด ลำปาง พิษณุโลก พัทลุง ยะลา นราธิวาส และ อุบลราชธานี

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!