เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ นายศรัณย์ ชินประหัษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด ลงนามความร่วมมือ เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและจัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พ.ศ. 2563 ในสาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขางานเทคนิค เครื่องจักรกลหนัก โดยจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี นำร่องที่ “วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช” เป็นแห่งแรก
เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สอศ. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของภาครัฐบาล และ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งความร่วมกับภาคเอกชน อย่าง บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด ในครั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน นักศึกษา ในสาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขางานเทคนิค เครื่องจักรกลหนัก ทั้งรูปแบบการเรียนการสอนปกติ และระบบทวิภาคี โดยนำร่องจัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีรุ่นแรก จำนวน 11 คน ที่ วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช ซึ่งสาขาดังกล่าวเป็นสาขาใหม่ของหลักสูตร กำลังคนทางด้านนี้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษา ของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สู่ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) โดยนักเรียน นักศึกษา จะได้เรียนรู้การทำงานจากประสบการณ์จริง เพื่อเพิ่มทักษะและพัฒนาความรู้ความสามารถ ช่วยตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน
ด้าน นายศรัณย์ ชินประหัษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท บางกอกโคมัตสุเซลส์ จำกัด มีศูนย์บริการ 23 ศูนย์ทั่วประเทศ ทางบริษัทเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องจักรกลหนัก ไม่ว่าจะเป็นรถขุดไฮดรอลิค รถตักล้อยาง รถดันดิน รถเกลี่ยดิน ซึ่งในความร่วมมือครั้งนี้ ทางบริษัทมุ่งเน้นให้นักเรียน นักศึกษา ได้ศึกษาเรียนรู้จากเครื่องจักรจริง เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล และการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาสามารถนำมาใช้ปฏิบัติงาน หรือสามารถผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการได้ ทั้งนี้ ในด้านความร่วมมือในการจัดการศึกษา บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐาน เพื่อนำไปประกอบอาชีพในอนาคต และต้องการที่จะยกระดับในมิติของเทคโนโลยีเครื่องจักรหนัก ใน 3 ด้าน คือ ความปลอดภัยของผู้เรียน การสื่อสารทักษะด้านภาษา ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเรียนรู้ และด้านวัฒนะธรรม จริยธรรม และวินัยการทำงานร่วมกันกับสถานประกอบการที่มีเป็นมีการร่วมทุนระหว่างประเทศ ซึ่งโครงการความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการนำร่องกับบริษัทด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้เรียนจะได้สิทธิ์เป็นลำดับแรกในการคัดเลือกเพื่อร่วมงานกับบริษัทฯ โดยหวังว่าในอนาคต จะสามารถขยายความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ต่อไป