ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายโชติ โสภณพนิช ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำผู้บริหารการศึกษาในจังหวัดเชียงราย ตรวจติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ณ โรงเรียนชุมชนดอยช้าง อำเภอแม่สรวย สังกัด สพป.เชียงราย เขต 2
นายเกรียงไกร ฟูธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนดอยช้าง กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา โรงเรียนชุมชนดอยช้าง ได้ดำเนินโครงการตามแนวทางของ โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต ระยะที่ 4 คือ ระยะรวบรวมพัฒนา จากการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตของโรงเรียน เห็นถึงพัฒนาการของนักเรียนได้ชัดเจน คือ นักเรียนสามารถวางแผนการทำเป็นขั้นตอน มีทักษะในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุมีผลขึ้น รู้จักการทำงานเป็นทีม มีทักษะและสมรรถนะที่เหมาะสมกับนักเรียนในศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ โรงเรียนจะพัฒนาโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตของโรงเรียน นำไปสู่ขั้นตอนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขยายผลต่อชุมชน รวมทั้งจะเป็นแนวทางให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียนในรุ่นต่อไป
ด้าน ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า โรงเรียนชุมชนดอยช้าง ดำเนินโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม และน่าประทับใจ ทั้งที่โรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่สูงชัน มีข้อจำกัดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพที่ไม่ดีของดิน แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาด้วยการนำวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยการใช้ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกับ Coding มาวางแผนจนประสบความสำเร็จ
สำหรับ โรงเรียนชุมชนดอยช้าง จังหวัดเชียงราย เป็นโรงเรียนนำร่องของโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ที่มีความโดดเด่นในการดำเนินโครงการ โดยได้รับความร่วมมือระหว่างโรงเรียนชุมชนดอยช้าง กับ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงราย ในการจัดกิจกรรมบริการวิชาการ และสามารถพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบของการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในภาคเกษตรได้อย่างยอดเยี่ยม
ขณะที่ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า วันนี้ได้นำคณะจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักนายกรัฐมนตรี ภาคเอกชน และผู้ที่สนใจเรื่อง Coding วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ขึ้นมาชมผลงานการปฏิบัติหน้าที่ของโรงเรียนชุมชนดอยช้าง ในการทำโครงการอัจฉริยะเกษตรปราณีตในโรงเรียน โดยอัจฉริยะในที่นี้ คือ อัจฉริยะทางความคิด ซึ่งสอดคล้องกับ Unplugged Coding ใช้สมองวางแผนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ สถานศึกษา มหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้ไปด้วยกันจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
“ด้วยความยากลำบากของพื้นที่ เป็นที่สูงและเป็นดินลูกรัง จะปลูกอะไรก็ยาก เพราะฉะนั้นการใช้อัจฉริยะทางความคิด คิดวิเคราะห์แล้วใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย จึงแก้ปัญหาเรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องปุ๋ยได้ แล้วก็สามารถใช้ของที่มีในพื้นที่ เช่น กากกาแฟ รวมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น มาผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนผสมกากกาแฟเพื่อปรับปรุงค่า Ph ของดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืช และได้ผลผลิตที่ดี หากให้คะแนนก็ต้องได้ระดับ A++” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ทำพิธีเปิดร้านกาแฟเด็กดอยช้าง Coffee ซึ่งดำเนินการโดยครู นักเรียน และชาวชุมชนดอยช้าง ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนชุมชนดอยช้าง นอกจากจะเปิดบริการเครื่องดื่มแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์งานฝีมือของชุมชนจัดจำหน่ายอีกด้วย
ผลงานของโรงเรียนชุมชนดอยช้าง จึงเป็นต้นแบบของการเรียนรู้จากทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติ แล้วนำไปใช้กับชีวิตประจำวันได้ ตลอดจนขยายผลไปถึงชุมชน ซึ่งการศึกษาเช่นนี้จะพาประเทศก้าวข้ามวิกฤตทุกอย่างได้ และหวังว่าประเทศไทยจะมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ เป็นคนดี รักท้องถิ่น อนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่ ร่วมมือกันดูแลความเป็นอยู่ของชนเผ่าในพื้นที่ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข