นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (เลขานุการ รมว.ศธ.) ได้มอบนโยบายแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ตามจุดเน้นกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ 2565 “เติมความรู้ สู่อาชีพ เพื่อการมีรายได้” ในการประชุมผู้ปกครองนักเรียน ระดับชั้น ม.3 และ ม.6 ของโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี
โดยความร่วมมือของ วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร ที่ขน 12 อาชีพระยะสั้น มาร่วมเวิร์คช็อปสาธิตการจัดการเรียนการสอน ทดลองทำ สร้างแรงบันดาลใจแก่ลูกสุรศักดิ์ และ Up-skill Re-skill แก่ผู้ปกครอง โดยมี นางสาวนันนกรฐ์ ทิพย์สูงเนิน รอง ผอ.สพม.กรุงเทพ เขต 2 และ นางอาลัย พรหมชนะ ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา ครู และผู้ปกครอง ให้การต้อนรับ
เลขานุการ รมว.ศธ. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการจัดการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งโรงเรียน สถานศึกษา และครู ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อปรับการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ให้สอดคล้องกับบริบทและโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ เพื่อดูแลลูก ๆ นักเรียนให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ศธ. ต้องขอขอบคุณโรงเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ประสานความร่วมมือกันในการปรับบ้านให้เป็นโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนไม่สะดุด
“รมว.ศธ. เน้นย้ำถึงการที่เด็กและเยาวชนไทยต้องเข้าถึงในเรื่องของการศึกษา โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ต้องเร่งฟื้นฟูการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด ศธ. และขณะเดียวกันต้องร่วมกันแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของผู้ปกครอง ที่เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว การตกงาน และการถูกเลิกจ้างงาน ควบคู่ไปด้วย ศธ.จึงจัดกิจกรรมห้องเรียนอาชีพ นำร่องที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรีเป็นแห่งแรก โดยจัดการเรียนการสอนวิชาการสายสามัญ ควบคู่กับ การเรียนอาชีพในห้องเรียน โดยมีเป้าหมายเรียนแล้วมีหน่วยกิตและมีงานทำ มีรายได้ดูแลตัวเองและครอบครัว นอกจากนี้ ผู้ปกครองของนักเรียนที่ต้องการพัฒนาตนเอง ก็สามารถเข้ามา Up-skill Re-skill เพื่อหารายได้เสริมได้เช่นกัน”
โดยวันนี้ ได้รับเกียรติจาก วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร โดย นางเบญจวรรณ ปกป้อง ผอ.วิทยาลัยฯ ที่นำหลักสูตรอาชีพระยะสั้นตามเทรนสมัยใหม่ มาสาธิต และให้นักเรียนและผู้ปกครอง ได้ทดลองลงมือทำกันจริง ๆ อาทิ วิชากาแฟ ที่จะได้ฝึกเป็นบาริสต้า ในราคาเพียง 999 บาท ด้วยการเรียนจำนวน 10 ครั้ง (ราคาสอนทั่วไป 4-5 หมื่นบาท) วิชาขนมอบ โดยมี นายกสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้สอน และวิชาช่างยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีความต้องการกำลังคนถึง 40,000 คน แต่สถานศึกษายังผลิตได้ไม่เพียงพอ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีวิชาอื่น ๆ ที่กำลังเป็นกระแสของโลก อาทิ วิชาตัดต่อวิดีโอคลิปด้วยมือถือ วิชาช่างล้างระบบปรับอากาศรถยนต์ส่องกล้องแบบไม่ถอดตู้ วิชาระบบสมาร์ทโฮม วิชาช่างงานเครื่องเลเซอร์ CO2 วิชาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง วิชาตัดผมชาย วิชาจัดดอกไม้สด วิชาประดิษฐ์ของใช้จากผ้า วิชาเสริมสวย เป็นต้น โดย ศธ.จะเร่งทำงานเชิงรุกเพื่อขยายห้องเรียนอาชีพไปยังโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อสร้างเด็กไทยให้พร้อมอยู่ในสังคมที่มีเปลี่ยนแปลงได้อย่างเข้มแข็งด้วยอาชีพ และผู้ปกครองที่สนใจสามารถติดตามการฝึกอาชีพหลักสูตรระยะสั้นขยายได้จากสถานศึกษาของบุตรหลานต่อไป