นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง “แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็นในศตวรรษที่ 21” (Enhancing Education System for Visually Impaired Children in the 21st Century) โดยมี นายขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้การต้อนรับ และนางอรทัย ฐานะจาโร ประธานฝ่ายการศึกษา โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ รายงานการดำเนินงาน ที่ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
นางอรทัย ฐานะจาโร กรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า ทรัพย์ที่มนุษย์ควรมีติดตัวไปตลอดชีวิด คือ การศึกษาที่มีคุณภาพ จึงมีนโยบายเพื่อยกระดับการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางสายตา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ มีรูปแบบทันต่อยุคสมัย มุ่งเน้นการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพของตนเอง นำไปสู่ความสำเร็จในด้านการเรียนและอาชีพในอนาคต
จึงมอบหมายให้คณะทำงานดำเนินการวางแผนและนำไปสู่การปฏิบัติ สร้างการเปลี่ยนแปลงยกระดับการเรียนการสอนในโรงเรียน ด้วยการร่วมงานกับ 3 สถาบันการศึกษาระดับนานาชาติ ได้แก่ Acres Foundation, Magicyears International School และ Perkins School for the Blind ที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการผลิตบุคลากรที่มีความบกพร่องทางสายตาให้มีคุณภาพ มีศักยภาพในตนเอง และพร้อมที่จะมีสวนร่วมในการพัฒนาสังคม
ด้าน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของคนพิการทุกประเภท โดยได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ผู้พิการต้องได้รับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคทางด้านการศึกษา ซึ่งจาก ข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ล่าสุด พบว่า ประเทศไทยมีคนพิการทุกประเภทกว่า 2.1 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้พิการทางการเห็น 186,701 คน
วันนี้ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้นำผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับโลก มาออกแบบกระบวนการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพกับคนตาบอดมากยิ่งขึ้น ตรงกับเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการที่เน้นย้ำการดูแลคนทุกกลุ่ม โดยส่วนของความร่วมมือ คือ กระทรวงศึกษาธิการจะนำสิ่งที่ได้ร่วมกันทำงานครั้งนี้ขยายผลต่อไปยังกลุ่มโรงเรียนสอนคนตาบอดทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย รวม 18 แห่ง ในจำนวนนี้มีสถานศึกษาของรัฐเพียง 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
อีกประเด็นหนึ่ง คือ จะมีกลุ่มคนพิการที่มีความต้องการเรียนในสายอาชีพด้วย จึงมีการร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยจะมาดูว่าสถาบันใดสามารถเชื่อมโยงสร้างอาชีพได้ ซึ่งก็มีทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนการขยายช่องทางให้เด็กที่เรียนในโรงเรียนสำหรับคนตาบอด แต่มีความพร้อมด้านอื่น สามารถไปเรียนร่วมกับโรงเรียนปกติของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ ซึ่งเดิมมีการดำเนินการลักษณะนี้อยู่แล้ว โดยจะขยายช่องทางและโรงเรียนให้มากขึ้น ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง การออกแบบสภาพแวดล้อม สื่อการสอน จะต่างจากเด็กปกติ จึงต้องมีความรอบคอบระมัดระวังในการเลือกโรงเรียนหรือสถาบันอาชีวะ ที่มีความพร้อมจัดสาขาที่เหมาะสมให้เด็กสามารถเรียนได้
ทั้งนี้ ภายหลังการสัมมนาได้มีพีธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอด 16 โรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้านอาชีพ และเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพให้แก่นักเรียนที่พิการทางการเห็น พัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาสำหรับนักเรียนพิการทางการเห็น และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันด้านการศึกษา และพัฒนานักเรียนพิการทางการเห็น โดยองค์รวมที่เข้มแข็งและยั่งยืน
สำหรับโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ ระดับชั้นอนุบาล 2 ถึง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนในระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในโรงเรียนทั่วไป ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นทั้งชายและหญิง ทั้งที่อยู่แบบประจำและไปกลับ
ปัจจุบันโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ จัดอยู่ในประเภทโรงเรียนเอกชนการกุศล และจัดเป็นโรงเรียนเอกชนในระบบ ประเภทสามัญศึกษา ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ของ กระทรวงศึกษาธิการ ส่วนในระดับอนุบาลมีการจัดการเรียนการสอน 6 ทักษะ คือ ทักษะการช่วยเหลือตนเอง ทักษะการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ ทักษะการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ทักษะภาษา การรู้หนังสือ ทักษะการคิด และทักษะทางสังคมและอารมณ์
นอกจากจัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว โรงเรียนยังส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพและความสามารถทางด้านภาษา ดนตรี กีฬา เทคโนโลยี การทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ทักษะการใช้ชีวิตอย่างอิสระ ตลอดจนให้ความสำคัญในการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติ และพฤติกรรม เพื่อให้นักเรียนเติบโตขึ้นไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้