การศึกษาเพื่อออกแบบเตาพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้นำไปสู่การค้นพบรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เป็นการออกแบบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเกิดจากการจำลองรูปแบบทางคณิตศาสตร์มาใช้ในการออกแบบ
ในประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นเรื่องปกติที่จะเผาวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้ มูลฝอย และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อประกอบอาหาร อย่างไรก็ตาม วัสดุดังกล่าวนำไปสู่การเกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ เช่น โรคปอด และปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่พบได้บ่อยในผู้ที่สัมผัสมลภาวะนี้เป็นประจำ เตาพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นทางเลือกที่สะอาดและปลอดภัยกว่ามาก เมื่อเทียบกับการก่อไฟทำอาหารจากวัสดุทั่วไปในท้องถิ่น ถึงแม้ว่าเตาแสงอาทิตย์จะสามารถใช้ได้เฉพาะเวลากลางวันเมื่อแสงแดดส่องถึงก็ตาม
Rajendra Patil และ Yogesh Kulkarni จาก วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ Late Sau KBJ ของ SNJB ในเมือง Chandwad ประเทศอินเดีย ชี้ให้เห็นว่า การทดสอบเตาพลังงานแสงอาทิตย์ในอดีตนั้น ไม่สอดคล้องกัน ปัจจุบันพวกเขาได้ทำการศึกษาอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยเปรียบเทียบเตาพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีช่องรับแสงเดียวกัน ภายใต้สภาวะเดียวกัน แต่รูปทรงของหม้อหุงแตกต่างกันไปเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
นักวิจัยไม่เพียงแต่วัดการสะสมพลังงาน แต่ยังประเมินเวลาการปรุงอาหารที่แท้จริงของรายการอาหารต่าง ๆ เพื่อให้ได้แนวคิดที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเภทของเตาพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดีที่สุดที่จะนำมาใช้งาน เตาพลังงานแสงอาทิตย์สมัยใหม่เครื่องแรก ถูกคิดค้นและใช้งานเมื่อปี ค.ศ. 1767 โดย Nicholas-de-Saussure นักวิจัยชาวสวิส ซึ่งสามารถทำอุณหภูมิในการปรุงอาหารได้สูงถึง 88 องศาเซลเซียส ขณะที่ เตาพลังงานแสงอาทิตย์สมัยใหม่ จะใช้วัสดุที่พื้นผิวสะท้อนแสงสูง พร้อมรูปทรงเรขาคณิตที่เน้นแสงแดดไปยังฐานรองสำหรับหม้อหุงต้ม ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถทำอุณหภูมิได้สูงกว่า 300 องศาเซลเซียส ใช้เวลาทำอาหารได้น้อยลง นอกจากนี้ ยังสามารถถอดและประกอบใหม่ได้อย่างง่ายดาย เพื่อความสะดวกในการขนส่งและการจัดเก็บ
จะเห็นได้ว่า เตาพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถใช้ทดแทนการเผาไหม้วัสดุที่ก่อให้เกิดมลพิษได้ และยังตัดความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาแพงออกไปได้อีกด้วย การใช้พลังงานในการปรุงอาหารคิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของการใช้พลังงานของโลก การนำเตาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้อย่างแพร่หลายในพื้นที่ที่มีแสงแดดจัด จะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมการทำอาหารลงได้