“นิติทันตวิทยา” หนึ่งในศาสตร์พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่แม่นยำ “เปิดปากไขความจริงจากศพ” ช่วยคลี่คลายคดี สืบค้นบุคคลผู้เสียชีวิตในเหตุภัยพิบัติ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมผลักดันเปิดหลักสูตร มุ่งมั่นเพิ่มผู้เชี่ยวชาญ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.พิสชา พิทยพัฒน์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติทันตวิทยา ได้ร่วมตรวจสภาพฟันของอดีตดาราสาวแตงโม นิดา หรือ ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ เพื่อไขข้อข้องใจในคดีและคลี่คลายหลายคำถามของสังคม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.พิสชา พิทยพัฒน์
นิติทันตวิทยา เริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยราว 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในปัจจุบัน สาขานิติทันตวิทยา เป็นหนึ่งในสาขาเฉพาะทาง ของ ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย แต่ยังไม่มีหลักสูตรฝึกอบรมเต็มรูปแบบ ทันตแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านนี้หลายท่านจึงเป็นผู้ที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ยังมีจำกัด คือ 24 คนเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอกับจำนวนคดีความ และเหตุการณ์ที่ต้องการการระบุตัวตนบุคคล คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงพร้อมผลักดันให้มีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนิติทันตวิทยา เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรมทางด้านนี้
จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในงานนิติทันตวิทยา
ช่วงปลายปี 2547 เกิดเหตุภัยพิบัติสึนามิ ผศ.ทญ.ดร.พิสชา ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาจารย์ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ลงไปยังพื้นที่ประสบภัยเพื่อช่วยตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ซึ่งหลายรายแทบไม่เหลือร่องรอยที่จะพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยวิธีการอื่น ๆ ได้ นอกจาก “ฟัน” เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มีเพียง 2 คนเท่านั้น
“คนไทยที่เสียชีวิตในช่วงนั้น ส่วนมากเป็นชาวประมงและคนที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ริมทะเล เราไม่ทราบว่าจะไปค้นข้อมูลด้านทันตกรรมก่อนเสียชีวิตของพวกเขาจากไหน คนไทยจึงได้รับการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยฟันค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับชาวต่างชาติ ที่มีประวัติฟันครบถ้วน ติดต่อไปก็ได้รับการส่งกลับมาเป็นแฟ้ม ทั้งภาพถ่ายในปาก ภาพถ่ายเอกซเรย์ ทำให้พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้ง่าย”
ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้ ผศ.ทญ.ดร.พิสชา เดินทางไปศึกษาต่อด้านนิติทันตวิทยา ที่ประเทศเบลเยียม
นิติทันตวิทยา หนึ่งในศาสตร์สืบอัตลักษณ์บุคคล
ผศ.ทญ.ดร.พิสชา อธิบายถึงการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลตามหลักตำรวจสากลว่า นอกจากจะดูได้จากรอยสัก หรือวัตถุพยานต่าง ๆ เช่น กระเป๋าสตางค์ หรือบัตรประชาชน เป็นต้นแล้ว วิธีการทางวิทยาศาสตร์หลัก ๆ ที่ใช้มี 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การพิสูจน์ลายนิ้วมือ การตรวจ DNA และการพิสูจน์ด้วยวิธีนิติทันตวิทยา ซึ่งทั้ง 3 วิธี อาศัยข้อมูลก่อนการเสียชีวิต เพื่อนำมาเปรียบเทียบ
การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วย DNA ต้องเก็บตัวอย่าง DNA ของผู้ที่เสียชีวิตไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีอยู่ เช่น เก็บ DNA จากอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของผู้เสียชีวิต ซึ่งมีส่วนของ DNA เหลืออยู่ หรือเปรียบเทียบกับ DNA ของพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติสายตรง
การตรวจด้วยลายนิ้วมือ เมื่อเก็บลายนิ้วมือจากผู้เสียชีวิตแล้ว จะนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลลายนิ้วมือในฐานข้อมูล หรือไปเก็บลายนิ้วมือจากบ้านพักอาศัยของผู้เสียชีวิต
การพิสูจน์ด้วยวิธีนิติทันตวิทยา คือ การตรวจฟันผู้เสียชีวิต ซึ่งต้องหาข้อมูลการรักษาทางทันตกรรมก่อนเสียชีวิต ประวัติการทำฟันที่โรงพยาบาลหรือคลินิก เพื่อมาเปรียบเทียบกับสภาพฟันตอนที่เสียชีวิตแล้วว่าตรงกันหรือไม่
“การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของผู้เสียชีวิต จะใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับสภาพศพในตอนนั้น ถ้าสภาพศพเน่ามาก เหลือเฉพาะโครงกระดูก ก็อาจจะเก็บลายนิ้วมือไม่ได้ แต่พอจะใช้วิธีการเก็บ DNA หรือตรวจฟันได้” ผศ.ทญ.ดร.พิสชา กล่าว
ฟัน หลักฐานอัตลักษณ์บุคคลที่ทนทานที่สุด
ฟันเป็นอวัยวะที่มีความพิเศษเฉพาะบุคคล และเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุดในร่างกาย การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจากฟันจึงมีความแม่นยำ และคลาดเคลื่อนน้อย
“ส่วนประกอบของฟันมีแร่ธาตุมากกว่า 90 % ซึ่งมากกว่ากระดูกทั่วไป เพราะฉะนั้นจะทนความร้อน และทนแรงกระแทกได้ดีมาก”
ผศ.ทญ.ดร.พิสชา อธิบายวิธีการตรวจฟันผู้เสียชีวิตว่า คล้ายกับการตรวจฟันคนไข้ที่ยังมีชีวิตทั่วไป ในเบื้องต้นต้องเช็คดูว่าฟันครบหรือไม่ มีการอุดฟัน หรือฟันมีลักษณะพิเศษอะไร ซึ่งต้องตรวจอย่างละเอียดทุกซี่
หลังจากตรวจเช็คฟันจากภายนอกแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นการเอกซเรย์ฟันทั้งปาก โดยใช้ฟิล์มเล็ก ๆ กับฟันทุกซี่ แล้วนำข้อมูลที่ดูด้วยตา กับข้อมูลเอกซเรย์ มาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งการเอกซเรย์จะเห็นข้อมูลมากกว่า เช่น การอุดฟันที่ด้านข้าง การรักษารากฟัน หรือฟันคุด
“การตรวจพิสูจน์จากฟันมีความน่าเชื่อถือเทียบเท่ากับการตรวจ DNA แต่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า จึงนิยมมากในต่างประเทศ เนื่องจากต่างประเทศมีการเก็บข้อมูลฟันก่อนเสียชีวิตอย่างชัดเจน สามารถสืบค้นได้ง่าย ส่วนการเก็บตัวอย่าง DNA มีขั้นตอนการเก็บยากกว่า ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ และต้องระวังการปนเปื้อน”
ชง “เชื่อม” ระบบเก็บข้อมูลทันตกรรม
สิ่งสำคัญสำหรับการพิสูจน์อัตลักษณ์ของบุคคลด้วยนิติทันตวิทยา คือ ประวัติการรักษาฟันก่อนการเสียชีวิต ผศ.ทญ.ดร.พิสชา ยกตัวอย่างระบบเชื่อมโยงข้อมูลประวัติทันตกรรมของประเทศเบลเยียม
“จากเหตุการณ์ระเบิดที่สนามบินบรัสเซลส์ (ปี 2559) มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทางเบลเยียมมีระบบฐานข้อมูลสุขภาพที่ดี เมื่อประชาชนไปรักษาที่ไหนจะมีการเสียบบัตรแล้วข้อมูลจะเชื่อมโยงได้ทั้งหมด มีเป็นไทม์ไลน์การรักษาอย่างละเอียด ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการสืบค้นข้อมูลการรักษาทางทันตกรรม”
ในประเทศไทย การเก็บข้อมูลประวัติการรักษาฟันยังไม่เข้าที่เข้าทาง เนื่องจากมีคลินิกเอกชนจำนวนมาก และแต่ละที่ก็มีการเก็บข้อมูลด้วยระบบที่แตกต่างกัน แม้ ทันตแพทยสภา จะเริ่มส่งเสริมมาตรฐานทางสาธารณสุข ร่วมกับ การวางนโยบายการเก็บข้อมูลทางทันตกรรมของคนไข้ แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายบังคับให้เก็บข้อมูลการทำฟันอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ผศ.ทญ.ดร.พิสชา หวังว่าในอนาคตเมื่อการเชื่อมต่อข้อมูลทางสุขภาพทางสาธารณสุข (Health Link) ดำเนินการแล้วเสร็จ ก็จะทำให้การเข้าถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข สะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญคือ มีการเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาจากทุกที่ทั่วประเทศ รวมถึงเรื่องทันตกรรมด้วย
เตรียมผลักดันหลักสูตร เพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านนิติทันตวิทยา
แม้ปัจจุบันจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านนิติทันตวิทยาจะเพิ่มขึ้นจาก 2 เป็น 24 คน แต่ก็ยังนับว่าน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนทันตแพทย์ทั่วประเทศจำนวนกว่า 20,000 คน และจำนวนประชากรกว่า 60 ล้านคนในประเทศไทย
“ถ้าเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติร้ายแรงขึ้นอีก ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก็ถือว่ายังไม่เพียงพอ” ผศ.ทญ.ดร.พิสชา กล่าว
และจากปัญหาดังกล่าว ตนจึงพร้อมผลักดันจัดตั้งหลักสูตรนิติทันตวิทยา ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งปลายปี 2565 นี้ จะมีอาจารย์จบการศึกษาด้านนิติมานุษยวิทยา จากสกอตแลนด์ กลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งหลักสูตรต่อไป
“การผลักดันหลักสูตรให้เกิดขึ้น ต้องดูช่องทางที่เหมาะสม และต้องมีเคสให้นิสิตได้ตรวจตลอดระยะเวลาในหลักสูตร ซึ่งอาจจะต้องร่วมมือกับโรงพยาบาลใหญ่ที่มีแผนกนิติเวชศาสตร์ โดยทำ MOU ร่วมกัน เพื่อให้นิสิตสามารถเข้าไปฝึกเรียนตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้”
สำหรับนิสิตทันตแพทย์ที่สนใจด้านนิติทันตวิทยา ในอนาคต คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อาจจะเปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้นสำหรับสาขานี้ ซึ่งอาจจะทำได้เร็วกว่าการเปิดหลักสูตรใหม่
นิติทันตวิทยา ในประเทศไทยอาจจะยังเป็นวิชาชีพที่ไม่สร้างรายได้ให้ทันตแพทย์ เหมือนกับสาขาทันตกรรมอื่น ๆ แต่การทำงานด้านนี้ก็สร้างคุณค่ามากมาย คุณค่าที่ได้มอบความจริงให้ผู้เสียชีวิต และสังคม
“การพิสูจน์ความจริงเป็นเกียรติที่ผู้เสียชีวิตควรได้รับ และยังช่วยให้ข้อมูลหรือไขข้อข้องใจให้กับญาติพี่น้อง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต ลดความกังวลใจ คลายข้อข้องใจ และความสงสัยที่หาคำตอบไม่ได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “We speak for the dead and protect the living เราพูดแทนคนที่เสียชีวิตไปแล้ว และปกป้องคนที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย” ผศ.ทญ.ดร.พิสชา กล่าวทิ้งท้าย