ผศ.ดร.รัชดาภรณ์ เสมาขันธ์ หัวหน้าหลักสูตรการบัญชี วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU และ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (Certified Public Accountant –CPA ) เปิดเผยว่า สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ได้จัดโครงการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการด้านการบัญชีระดับมหาวิทยาลัยครั้งที่ 15 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ณ มหาวิทยาลัยธนบุรี มีมหาวิทยาลัยเอกชนเข้าร่วม 17 สถาบัน รวม 33 ทีม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีความกระตือรือร้นในการเรียนหลักสูตรบัญชี และส่งเสริมให้มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพบัญชี พร้อมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันเอกชนทั่วประเทศ ทั้งนี้ CIBA DPU สามารถคว้ามาได้ 2 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 (ทีมที่1) ได้แก่ 1.นายธนายุส ทองกอง 2.นางสาวปิยะนุช ศิริลักษณ์ และ3.นายฐนิศร์ หิรัญญานนท์ และ รางวัลชมเชย ( ทีมที่2) ได้แก่ 1.นางสาววรวรรณ ปิ่นอุไร 2.นาย ภัทรพงศ์ อุ่นแก้ว และ 3.นางสาวละอองดาว พันตะคุ
ผศ.ดร.รัชดาภรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกลยุทธ์ที่ทำให้เด็ก CIBA ชนะการแข่งขันครั้งนี้ มาจากการเตรียมตัวที่ดีก่อนการแข่งขัน ทุกคนจะแบ่งกันอ่านหนังสือตามรายวิชาที่ตนเองถนัด เช่น ใครถนัดเรื่องภาษีก็จะเน้นอ่านเรื่องภาษี ส่วนอาจารย์จะเน้นติวเรื่องสำคัญที่เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ก่อนลงแข่ง ซึ่งนักศึกษาทั้ง 2 ทีม มีความรับผิดชอบและขยันมาติวไม่เคยขาด ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้หลักเกณฑ์เหมือนการทำข้อสอบทั่วไป มี 2 รอบ รอบแรก เป็นข้อสอบปรนัยวัดความรู้ทั่วไป ส่วนรอบ 2 จะเป็นข้อสอบที่แอดวานซ์มากขึ้น ที่ผ่านมา สาขาการบัญชีจะมีการปรับหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่เสมอ อาจารย์จึงต้องคอยอัพเดทความรู้ใหม่เพื่อเอามาถ่ายทอดให้นักศึกษาก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบัญชี ทำให้เด็ก CIBA มีความรู้พื้นฐาน และ Skill ด้านอื่น ๆ ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเสมอ
“อัตลักษณ์ของนักบัญชีไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่ต้องละเอียด รอบคอบ และขยัน วางแผนการใช้เงินเป็น วิชาการบัญชีคนอาจมองว่าเรียนยาก แต่ถ้าเรียนจบไปแล้ว สามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงให้เราได้ เช่น เป็นนักบัญชี สามารถทำอาชีพเสริมเป็นผู้สอบบัญชีได้ ทำให้มีรายได้หลายทาง มีความมั่นคงทางด้านการเงิน สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ส่วนจุดเด่นของ CIBA มีหลักสูตรที่ทันสมัย เน้นการสอนบัญชีดิจิทัล ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป โปรแกรมออนคลาวด์ ที่ทำบัญชีได้ทุกที่ ที่สำคัญยังเน้นการเรียนสอนโดยเอาข้อมูลบัญชีมาวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการได้ ” ผศ.ดร.รัชดาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายธนายุส ทองกอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการบัญชี ตัวแทนผู้เข้าแข่งขันทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า สำหรับเทคนิคที่ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ มาจากการเป็นทีมเวิร์คและมีอาจารย์คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ส่วนการเตรียมตัวใช้เวลาทั้งหมด 1 เดือน ทุกคนเน้นอ่านวิชาที่แต่ละคนถนัด ซึ่งในทีมจะถนัด เรื่องการคำนวน ภาษี และบัญชีต้นทุน เนื่องจากทุกคนต่างมีจุดเด่นแตกต่างกัน เมื่อมารวมตัวกันจึงช่วยซับพอร์ตกันในสิ่งที่ขาด เมื่ออยู่ในสนามแข่งขันช่วยกันตีโจทย์และหาคำตอบได้ง่ายขึ้น เช่น เพื่อนหาความหมายของโจทย์ เมื่อได้คำตอบ ตนจะนำสูตรมาคำนวนจนได้คำตอบที่แท้จริง ที่สำคัญทีมของเราเตรียมตัวเรื่องพื้นฐานการบัญชีกันมาอย่างดี ในส่วนของอาจารย์แต่ละหลักสูตรจะหมุนเวียนมาติวให้ในส่วนที่ยังไม่ได้เรียน และบางโจทย์ตนในฐานะรุ่นพี่ปี 4 ได้เรียนมาแล้ว และกำลังฝึกงานอยู่ เช่น เรื่องตรวจสอบบัญชี จึงนำความรู้และประสบการณ์จริงมาใช้ในการแช่งขัน ทำให้อ่านโจทย์เข้าใจได้เร็วขึ้น และทำข้อสอบได้ทันเวลา ถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง
“โครงการฯนี้ช่วยให้เราได้ฝึกฝนตนเอง รู้จักการทำงานเป็นทีม ส่วนประสบการณ์ที่ได้รับครั้งนี้ จะนำไปใช้ในการทำงานในอนาคต อย่างไรก็ตาม อยากขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่นำข้อมูลใหม่มาเติมความรู้ให้ตลอด ทำให้เด็กได้รู้ความเคลื่อนไหวในวงการบัญชี รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงน้อง ๆ ถ้าอยากเข้าร่วมแข่งขันต้องตั้งใจเรียน และทำข้อสอบให้ดีที่สุด เพื่อเป้าหมายและความสำเร็จในชีวิต” นายธนายุส กล่าว