สพฐ. พอใจ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ Coding โดดเด่น ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น บูรณาการสร้างนักเรียนคุณภาพ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

กระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ Coding ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้นักเรียนมีทักษะคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ส่งเสริมให้โรงเรียนต่าง ๆ จัดการเรียนรู้ Coding เป็นรายวิชาพื้นฐานในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ฉบับปรับปรุง 2560 นอกจากนี้ สถานศึกษาจำนวนมากได้ส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนด้วยการจัดรายวิชาเพิ่มเติมตามความสนใจของผู้เรียนในตลอดช่วงเวลา 4 ปี ที่มีการประกาศใช้หลักสูตร โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งการจัดการเรียนการสอน Coding เป็นกระบวนการ Active Learning ที่นักเรียนได้คิด ลงมือปฏิบัติ ออกแบบ หรือนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเขียนโปรแกรมเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน พร้อมทั้งนำเสนอสิ่งที่ตนเองได้ดำเนินการ และเมื่อเจอสถานการณ์ นักเรียนแสดงให้เห็นถึงการคิดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน เป็นเหตุเป็นผล ภายใต้เงื่อนไข และเป้าหมายความสำเร็จที่ตั้งกติกาไว้ ทำให้สามารถนำไปใช้ในการอยู่ร่วมกันในสังคมภายใต้กรอบกติกา แต่มีอิสระในการคิดถึงเป้าหมายความสำเร็จได้ ถือว่าเป็นการจำลองสถานการณ์ของสังคม ซึ่งสามารถไปถึงสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนตามหลักสูตรชาติได้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม รวมทั้งนักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้ อยากเรียนรู้ เรียนแบบเล่น เล่นแบบมีเหตุผล เข้าถึงนักเรียนได้เป็นอย่างดี

ซึ่งการขับเคลื่อนงานดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จาก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นแกนหลักในการให้ความรู้ที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังเป็นความร่วมมือของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้โค้ดดิ้งในโรงเรียน” โดยมีการจัดอบรมเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด และแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้ครูผู้สอนในสาระเทคโนโลยี ทั้งในรูปแบบการอบรมออนไลน์ และแบบพบหน้าทั่วประเทศตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อติดตามผลงานจากการอบรมอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ และจัดแสดงผลงานให้เป็นขวัญกำลังใจต่อครูผู้สอน จึงได้มีการจัดงานเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่น ด้าน Coding “CODING Achievement Awards” ขึ้น ทั้งในรูปแบบ Unplugged และ Plugged เพื่อเปิดโอกาสให้คุณครูได้ส่งผลงานเข้ารับการคัดเลือกให้เป็นผลงานดีเด่น

สำหรับผลงานดีเด่น ด้าน Coding ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเน้นวัฒนธรรม ภูมิปัญญา แหล่งเรียนรู้ รวมถึงเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ อันเป็น soft power ที่ทรงพลังของชาติ มาใช้จัดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม สามารถบูรณาการตัวชี้วัด ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นได้จาก 119 ผลงาน ที่ได้รับ 40 รางวัล ซึ่งคัดเลือกจากแผนการจัดการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ ที่สามารถใช้เป็นแบบอย่างได้ ทั้ง Unplugged Coding และ Plugged Coding โดยเฉพาะ สพม.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ รวมถึง สพป.ร้อยเอ็ด ทั้ง 3 เขต ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และคุณครู ที่ร่วมแรงร่วมใจกันจนเกิดสมรรถนะของผู้เรียนในที่สุด

ในการนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้ฝากข้อเสนอแนะถึงคุณครูทุกคนว่า เราต้องร่วมด้วยช่วยกันทำเรื่องที่เข้าใจยาก ให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย และต่อยอดให้เป็นวิถีแห่งการเรียนรู้ เมื่อถึงปลายทาง จะเกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในตัวเองอย่างแท้จริง และเมื่อใดก็ตามที่นักเรียนมีภูมิคุ้มกัน มีการคิดเชิงระบบ มีการวางแผน มีขั้นตอน มีกระบวนการ จะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้เป็นระบบ และต่อยอดสู่การสร้างผลงานเชิงประจักษ์ ขอฝากคุณครูทุกท่าน บูรณาการเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนได้รู้ เข้าใจ รักษ์ถิ่นฐาน ภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง โดยใช้รูปแบบวิธีการที่หลากหลาย ปรับประยุกต์ใช้เทคโนโลยี คอนเทนต์ต่าง ๆ เป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ให้เข้ากับยุคสมัย ควบคู่ไปกับการนำความรู้ ความสามารถหรือความถนัดที่แตกต่างกันของครูแต่ละคน มาบูรณาการใช้ร่วมกัน เพื่อจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้ตามความถนัด และความสามารถของนักเรียนแต่ละคน

 

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!