ครม. มีมติเห็นชอบ แนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิต และการทำงานวิถีใหม่

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ “แนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่” พร้อมคู่มือ เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป และมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐพิจารณานำแนวทางฯ พร้อมคู่มือ ไปปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้อง

วัตถุประสงค์
– เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ของงานภาครัฐ มีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ให้สะดวก รวดเร็ว โดยลดข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ในการให้บริการประชาชน ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สะดวก รวดเร็ว ลดความแออัด ตลอดจนออกแบบและปรับปรุงการบริการภาครัฐรูปแบบใหม่ ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
– เพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐเกิดความยึดหยุ่นและคล่องตัวสอดคล้องกับสถานการณ์การทำงานวิถีใหม่ หรือกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ ฉุกเฉิน หรือเหตุวิกฤตอื่น ๆ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตและการทำงานตลอดจนส่งเสริมแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

แนวทางดำเนินการ
– การปรับรูปแบบและขั้นตอนวิธีการทำงาน และรูปแบบการให้บริการประชาชน ยกระดับมาตรฐานการทำงานภายในให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความคาดหวังของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลดขั้นตอนและกระบวนงานที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงรูปแบบการให้บริการประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทดแทนการใช้กำลังคนปกติให้บริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถติดต่อราชการได้ทุกวัน
– การพิจารณาลักษณะงานและภารกิจ ปรับรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนผู้รับบริการและสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน และต้องไม่ให้กระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยอาจพิจารณาจากภารกิจของหน่วยงาน เช่น ภารกิจการให้บริการหรืออำนวยความสะดวกประชาชน หรือพิจารณาจากชื่อตำแหน่งงาน เช่น ตำแหน่งงานที่ต้องติดต่อกับประชาชน และตำแหน่งงานที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เฉพาะ
– การนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ปรับเปลี่ยนงานภาครัฐที่สำคัญให้เป็นรูปแบบดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จ (End-to-End Digital Services) เพื่อให้ประชาชนและผู้รับบริการสามารถดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มกลางของงานบริการภาครัฐ เช่น ระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) ระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) พัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการและการปฏิบัติงาน รวมถึงอาจนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานภายในหน่วยงาน ให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัด และสามารถติดตามขั้นตอนการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการสื่อสารและการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ และระบบความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล
– การบริหารจัดการภายในหน่วยงาน ปรับรูปแบบและวิธีการในการปฏิบัติงานที่แตกต่างจากเดิม เพื่อให้การบริหารจัดการภายในหน่วยงานสอดคล้องกับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ทั้งด้านการบริหารแผนงาน การบริหารงบประมาณ เพื่อจัดเตรียมความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และระบบโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการบริหารงานบุคคลให้มีการมอบหมายงาน ตรวจสอบ กำกับติดตามงาน และบริหารผลการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถมอบหมายและติดตามงานได้ โดยไม่จำกัดรูปแบบและสถานที่ในการปฏิบัติงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความผูกพันในองค์กร และมีการรักษาวินัยและเสริมสร้างจริยธรรมที่เหมาะสมตลอดจนรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความเสียสละและมีอุดมการณ์ ตลอดจนมุ่งสร้างความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะปฏิบัติงานในที่ตั้งหรือนอกที่ตั้งก็ตาม

รูปแบบการปฏิบัติงาน
• รูปแบบที่ 1 การปฏิบัติงานในที่ตั้ง โดยการเหลื่อมเวลาทำงาน เช่น กำหนดช่วงเวลาการเข้างาน-เลิกงาน 4 ช่วงเวลา ตามที่หน่วยงานกำหนด แบ่งเป็น 07.30-15.30 น. / 08.00-16.00 น. / 08.30-16.30 น. และ 09.30-17.30 น.
• รูปแบบที่ 2 การปฏิบัติงานในที่ตั้ง โดยการนับชั่วโมงทำงาน เช่น กำหนดให้สามารถเลือกเวลาเข้างานได้ตามความเหมาะสมกับรูปแบบการดำรงชีวิต โดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน อาจแบ่งเป็น วันจันทร์-อังคาร 09.30-15.30 น. (12 ชั่วโมง) วันพุธ-พฤหัสบดี 08.30-18.30 (20 ชั่วโมง) และวันศุกร์ 08.30-16.30 น. (8 ชั่วโมง) ทั้งนี้ เมื่อนับเวลาปฏิบัติงานรวมกันแล้ว ต้องไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
• รูปแบบที่ 3 การปฏิบัติงานนอกที่ตั้ง โดยกำหนดให้สอดคล้องกับ (ร่าง) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ พ.ศ. ….(คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 โดยยังคงหลักการของร่างระเบียบฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565)
ทั้งนี้ การกำหนดรูปแบบการปฏิบัติงาน อ้างอิงจาก ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2502 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้กำหนดเวลาและวันหยุดราชการไว้ ดังนี้
• เวลาทำงานเริ่มตั้งแต่ 08.30–16.30 น. หยุดกลางวัน 12.00–13.00 น. (รวมระยะเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง)
• วันหยุดราชการประจำสัปดาห์ คือ วันเสาร์ และอาทิตย์ (หยุดราชการเต็ม 2 วัน)
• หากส่วนราชการใดจะกำหนดวันและเวลาทำงานเพื่อความสะดวกสามารถทำได้ แต่เมื่อคำนวณเวลาทำงานรวมกันใน 1 สัปดาห์แล้ว ต้องไม่น้อยกว่าจำนวนรวมเวลาราชการข้างต้น

การดำเนินงานของหน่วยงาน
• ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ พิจารณาเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินการภารกิจ และลักษณะงานของหน่วยงานในภาพรวม รูปแบบ ขั้นตอนวิธีการทำงาน และรูปแบบการให้บริการประชาชน และเทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน
• ผู้บริหารหน่วยงาน พิจารณามอบนโยบายหรือมีข้อสั่งการในการปฏิบัติงานตามรูปแบบการปฏิบัติงานที่กำหนด โดยเมื่อพิจารณาแล้วควรแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานทราบและถือปฏิบัติ ซึ่งอาจกระทำได้หลายวิธี เช่น การออกคำสั่ง หรือประกาศ การจัดทำบันทึกข้อความแจ้งเวียนภายในหน่วยงาน การแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานทราบผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้าใจกับบุคลากรภายในหน่วยงาน และต้องติดตามประเมินผลการดำเนินการเพื่อทบทวนการดำเนินการว่าส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและคุณภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงานอย่างไร และพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมต่อไป

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!