หลังจากมีประกาศยกเลิกมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และประกาศหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตร 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
นางสาวตรีนุช เทียนทอง (รมว.ศธ.) กล่าวว่า จากที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และจากระเบียบที่ ศธ. ได้ออกให้สถานศึกษาปฏิบัติตาม ทั้งในเรื่องของการประกาศมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ หลักเกณฑ์การเปิดภาคเรียนในสถานศึกษา หรือกลไกลต่าง ๆ ที่ได้มีการบังคับใช้ใน กระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมา จะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับ กระทรวงสาธารณสุข
“กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข ในการส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไป และจะมีโครงการ 1 โรงเรียน 1 ครูอนามัย เพื่อสร้างเด็กไทยมีทักษะในการคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น รวมถึงเรื่องของความเสี่ยง ซึ่งขณะนี้ มาตรการการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงไป กระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำเรื่องการทำงานร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องสุขอนามัย ซึ่งเดิมมีอยู่แล้ว แต่คงต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว
ด้าน นายอัมพร พินะสา (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ได้มีการสื่อสารไปยังโรงเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ให้มีการปฏิบัติตนเพื่อใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและปราศจากโรคโควิด-19 ได้แก่ 1. การป้องกัน คือ การนำแนวปฏิบัติของสาธารณสุขที่ให้ไว้ ลงสู่การปฏิบัติด้วยตนเอง โดยนักเรียน คุณครู และพี่น้องประชาชน ต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของการดูแลสุขภาพอนามัย เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง 2. การเฝ้าระวัง คือ การตรวจสุขภาพอนามัย หรือการสังเกตอาการของนักเรียน ตั้งแต่อยู่ในครอบครัว เพื่อเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ 3. การเผชิญเหตุ กรณีที่พบเด็กติดเชื้อ เราต้องมีแผนเผชิญเหตุว่าจะรับมืออย่างไร จะส่งต่อไปยังสาธารณสุข และจัดการเรียนการสอนให้เด็กอย่างไรบ้าง จากการผ่อนปรนสถานการณ์ที่รุนแรงมาก่อนหน้านี้ แต่เรายังต้องเฝ้าระวังอยู่ เพื่อความปลอดภัย เหล่านี้คือสิ่งที่ต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งจะมีการแจ้งกำชับแนวปฏิบัติตามกรอบของกระทรวงสาธารณสุข ไปยังเขตพื้นที่และสถานศึกษาทั่วประเทศในสังกัด สพฐ. ต่อไป