สคล.-สสส. จัดแข่ง “นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข” หนุนเยาวชนโชว์ศักยภาพ ร่วมรณรงค์ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมพลศึกษา และภาคีเครือข่าย จัดเวทีประกวด “นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขระดับประเทศ” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 2 ณ แม่น้ำน่าน เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพ และค้นหาแรงบันดาลใจให้แก่ตนเอง ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ และยาเสพติด รวมทั้งปลูกฝังให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมเรียนรู้ สืบสานวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่มีมาแต่โบราณ

ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ มีเยาวชนนักพากย์เรือจากทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งในประเภทเดี่ยว และประเภททีม จำนวนกว่า 22 คน ซึ่งผลการแข่งขันในประเภทเดี่ยว ผู้ชนะเลิศ ที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษาจำนวน 10,000 บาท ได้แก่ ด.ช.ภูพิพัฒน์ กิตินันท์ รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นายนันทกานต์ พรมศรี ด.ญ.ปริยฉัตร ปะระมะ และนายรักแท้ จานทอง ตามลำดับ ส่วนการแข่งขันประเภททีม โดยทีมที่ชนะเลิศ ได้ถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษาจำนวน 25,000 บาท ได้แก่ ทีมจากภาคเหนือ (จังหวัดน่าน) เยาวชนนักพากย์เรือ ประกอบด้วย ด.ช.ณัฐประวุฒิ ชุมนันท์ ด.ช.ศักรินทร์ ยาแก้ว น.ส.จิราธร กรีเรียน ด.ญ.รุจิลักษณ์ ชัยสมทิพย์ และ น.ส.เขมอักษร ทิพย์ปัญญา ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมจากภาคใต้ (จังหวัดชุมพร) และ รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ทีมจากภาคอีสาน (จังหวัดสุรินทร์)

 

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะฯ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เปิดเผยว่า งานประเพณีแข่งเรือปลอดเหล้ามีการรณรงค์มากว่า 17 ปี ถือเป็นประเพณีประจำในหลายจังหวัด สคล. และ สสส. พยายามยกระดับการพากย์เรือเพื่อร่วมเชิดชูงานศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าแบบนี้ให้ได้ไปต่อ ด้วยการเชื่อมไปยังคนรุ่นใหม่ โดย “นักพากย์สร้างสุข” จะเป็นการเชื่อมของคนสามวัย ทั้งผู้สูงวัย วัยกลางคน และคนรุ่นใหม่ เข้าด้วยกัน ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกถ่ายทอดและส่งต่อเรื่องของวิถีวัฒนธรรมและประเพณีการแข่งเรือที่ทรงคุณค่าจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่

โดยนักพากย์เรือเยาวชน ไม่เพียงแต่มีทักษะในการพากย์เรือเท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสารประเด็นสุขภาวะ การประชาสัมพันธ์รณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนค่านิยมทางสังคม ลดปัจจัยเสี่ยงให้งานแข่งเรือ งานบุญประเพณี ปลอดเหล้า บุหรี่ การพนัน และความเสี่ยงต่าง ๆ โดยที่ผ่านมา น้อง ๆ ที่มาร่วมงานการพากย์เรือสามารถพัฒนาตนเองไปสู่เส้นทางอาชีพอื่น ๆ เช่น พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ และอาจเชื่อมโยงไปเป็น ยูทูปเปอร์ สตรีมมิ่งเกม นักพากย์กีฬาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งพิธีกรในงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้น การพากย์เรือ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความสร้างสรรค์และการพัฒนาศักยภาพตนเองในแง่มุมต่าง ๆ แทนการใช้เวลาไปยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาเสพติดชนิดต่าง ๆ ที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน

ด้าน อาจารย์อธิปัตย์ สายสูง เลขาฯ ชมรมเรือพาย ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.น่าน และ ผู้ควบคุม ทีมเรือ “ซุ้มย่าสั่งลุย” ได้เล่าถึงความรู้เรื่อง “จุมสล่าเฮือน่าน” และอัตลักษณ์ของการแข่งเรือ จ.น่าน ที่แตกต่างและโดดเด่นกว่าพื้นทื่อื่น ๆ แก่เยาวชนนักพากย์เรือสร้างสุข ก่อนการแข่งขัน ว่า ก่อนที่น้อง ๆ จะพากย์เรือ จะต้องรู้ใน 3 สิ่ง คือ รู้เรือ รู้พาย สายน้ำ (คำพูดของ อ.ขวัญทอง สองศิริ) ซึ่ง รู้เรือ หมายถึง รู้เรื่องเรือ ไม่ว่าจะเป็นเรือลำนี้ สร้างมาจากช่างฝีมือสายไหน มีเอกลักษณ์โดดเด่นอย่างไร เพื่อให้มีข้อมูลอธิบายให้ผู้ฟังได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อน้อง ๆ นักพากย์ ส่วน รู้พาย หมายถึง ฝีพายเป็นใคร มีความพร้อมระดับไหน ประวัติความเป็นมา และผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และน้อง ๆ จำเป็นต้องรู้ สายน้ำ เพราะสายน้ำมีผลต่อชัยชนะ บางครั้งเรือสูสีกัน น้องจะได้มองภาพออกว่า ลำไหนจะขึ้นนำ หรือแซงขึ้นได้

ทางด้าน “น้องภูผา” ด.ช.ภูพิพัฒน์ กิตินันท์ ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทเดี่ยว ชั้น ม.2 โรงเรียนท่าวังผาวิทยาคม จ.น่าน เผยความรู้สึกว่า ต้องขอขอบคุณ สสส.และ สคล. ที่มีโครงการดี ๆ แบบนี้ ทำให้ผมมีโอกาสได้ค้นหาตัวเอง ส่วนตัวชอบการพากย์เรือตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และพัฒนาฝึกฝนตนเองมาตลอดจนถึงปัจจุบัน อายุ 14 ปี ดีใจมากที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ผมจะฝึกฝนตนเองในเรื่องการพากย์เรือ และพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป และจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับน้อง ๆ เยาวชนในโอกาสต่อไป การแข่งขันครั้งนี้ นอกจากจะได้รับประสบการณ์ที่ดี ได้สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแล้ว ยังได้เพื่อนใหม่จากต่างถิ่นด้วย ส่วนอนาคตผมอยากทำงานด้านสื่อสารมวลชน อยากเป็นนักข่าว หรือ พิธีกร ครับ

ด้าน “น้องออมสิน” ด.ญ.รุจิลักษณ์ ชัยสมทิพย์ ตัวแทนผู้ชนะเลิศประเภททีม ชั้น ม.2 โรงเรียนสตรีศรีน่าน จ.น่าน กล่าวว่า ที่สนใจการพากย์เรือ เพราะบ้านติดแม่น้ำ เห็นการพากย์การแข่งเรือก็อยากลองจับไมค์ดูบ้าง การพากย์เรือ เราต้องมี 3 รู้ คือ รู้เรือ-มาจากไหน ผลงานที่ผ่านมา รู้พาย- ฝีพายชุดไหน มีผลงานอย่างไรบ้าง และ สายน้ำ – สายน้ำตะวันตก หรือตะวันออก การพากย์เรือเราจะเรียก ร่องน้ำแดง ร่องน้ำน้ำเงิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตนได้รับความรู้มาจากโครงการอบรมนักพากย์เยาวชนสร้างสุข จัดโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) หนูได้รับความรู้ เทคนิคการพากย์ หลายอย่างจากโครงการนี้
เช่น การพากย์ต้องชัดถ้อยชัดคำ เสียงดังฟังชัด พากย์ได้น่าฟังด้วย ซึ่งหนูจะนำไปต่อยอด โดยนำไปใช้กับการเป็นพิธีกรในงานของหมู่บ้าน และงานโรงเรียน ค่ะ

RANDOM

ประกวดแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษในที่ชุมชนระดับชาติ ประจำปี 2567 เฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษในเวทีโลกที่อังกฤษ สมัครและผลงานเข้าร่วมแข่งขันได้ถึง 23 ก.พ. 67

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!