สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานสัมมนา “มหัศจรรย์สมุนไพรกัญชา ตื่นตาไปกับอาหารสายเขียว เที่ยวไทยสราญใจไปด้วยกัญ” (Amazing Cannabis Herbal for Gastronomy Tourism) โดยมี ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในงาน รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิชคณบดี คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานสัมมนา ผศ.ดร.ดลฤทัย โกวรรธนะกุล ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการ ในการนี้มีนักศึกษา และ ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกว่า 354 คน ณ ห้องออดิทอเรียม อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผู้เข้าร่วมผ่านช่องทางออนไลน์รวมทั้งสิ้น 135 คน
ผศ.ดร.ดลฤทัย โกวรรธนะกุล ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียน การสอนรายวิชา BS944761 สัมมนาทางการท่องเที่ยว เพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้นำทฤษฎีความรู้เกี่ยวกับการจัดประชุมสัมมนามาฝึกปฏิบัติจริง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรกัญชาแบบองค์รวม และเป็นการถ่ายทอดแนวทางการทำธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพรกัญชาให้ประสบความสำเร็จโดยใช้ Gastronomy Tourism เป็นฐานในการทำธุรกิจ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และ กระตุ้นจุดขายของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารที่มีความสนใจในการนำสมุนไพรกัญชามาเป็นส่วนประกอบในการสร้างสรรค์เมนูอาหารของตน และ ยังเป็นการส่งเสริมยกระดับพืชสมุนไพรกัญชาของประเทศไทยสู่ครัวโลกอีกด้วย
ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมอบหมายให้ กองบริหารงานวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดูแลสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ เพื่อเน้นการนำกัญชามาใช้ทางด้านการแพทย์ สำหรับ คำว่า แคนนาบิสครบศาสตร์ หมายความว่าเรามีการทำวิจัยตั้งแต่การปลูก การพัฒนาสายพันธุ์ ดูแลโดยคณะเกษตรศาสตร์ ส่วนที่ 2 ในส่วนของช่อดอก ดูแลโดยคณะวิทยาศาสตร์ จะทำการสกัด โดยเขาจะใช้ความรู้ความสามารถทางด้านเคมี ในการสกัดสาร CBD และสาร THC ออกมาเพื่อไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีการทำบริสุทธิ์ กำจัดสิ่งปนเปื้อนต่างๆ จากนั้นเราจะส่งสารสกัดไปวิจัยต่อที่คณะเภสัชศาสตร์ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ในทางการแพทย์ จากนั้นเมื่อเกิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะส่งต่อไปให้คณะแพทยศาสตร์ เพื่อทดสอบทางคลินิกต่อไป
“สำหรับ กัญชา หากเรามองเรื่องของโอกาสด้านนโยบายของประเทศไทย Wellness Corridor หรือระเบียงสุขภาพ ที่เป็นความร่วมมือของภาคธุรกิจ มหาวิทยาลัย และ ภาคสาธารณสุข ในการพยายามผลักดันให้กัญชาเป็นมากกว่าเรื่องของอาหาร และ เครื่องดื่ม แต่สามารถมองเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว เช่น สปา การผ่อนคลาย รวมไปถึงการส่งเสริม gastronomy ศาสตร์การบริโภคอาหาร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาที่เมืองไทยได้ โดย gastronomy จะประกอบกันด้วย 3 ส่วน ส่วนที่ 1 จะเป็นการใช้สมุนไพรหรือตัวกัญชา ส่วนที่ 2 ต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร โดยต้องมีความรู้ว่าทำไมเราต้องเลือกวัตถุดิบนี้จากเมืองนี้ ส่วนที่ 3 คือการสอดแทรกเรื่องของศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งการรวมทั้ง 3 อย่างนี้ก็จะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักศึกษา และ ผู้ที่เข้าฟังในวันนี้จะได้รับความรู้และความเข้าใจในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย โดยมีเรื่องของสมุนไพรกัญชาเป็นตัวชูโรง”ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าว