หลังจากที่ประชุม กพฐ. ได้เห็นชอบการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชา อย่างเป็นทางการ ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เองก็ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์อย่างหลากหลาย กระบวนการเรียนประวัติศาสตร์ต้องเปลี่ยนไป ทำอย่างไรให้เรียนรู้สนุกมากขึ้น การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ต่อไปจะไม่ใช่การท่องจำ แต่จะเน้นให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ ให้เด็กรุ่นใหม่ตื่นตัว เข้าใจบริบทเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา รวมถึงครูผู้สอนทำอย่างไรจะทำให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ โดยครูอาจจะใช้สื่อต่าง ๆ เพื่อทำให้เด็กรู้สึกว่าการเรียนประวัติศาสตร์ไม่น่าเบื่อ
ด้าน โรงเรียนจะต้องเน้นให้นักเรียนตื่นตัวกับการเรียนประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่มากขึ้น เช่น การใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การต่อยอดประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ การบูรณาการประวัติศาสตร์กับรายวิชาอื่น และการศึกษานอกสถานที่และแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นต้น การปรับการเรียนประวัติศาสตร์ของนักเรียนต้องมีความทันสมัยและน่าสนใจเพิ่มขึ้น เป็นการออกแบบโครงสร้างการเรียนใหม่ เชื่อมอดีตสู่อนาคตในมิติเศรษฐกิจและสังคม
อย่างไรก็ตาม ครูที่สอนวิชาประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้จบทางด้านประวัติศาสตร์โดยตรง ศธ. จึงได้มอบนโยบายให้มีการจัดอบรมครูที่สอนประวัติศาสตร์ทุกคน รวมถึงจัดทำแนวทางการจัดกิจกรรมและพัฒนาสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้ครูมีความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งที่ประชุม กพฐ. ได้พิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเป็นแนวทางให้ต้นสังกัดของสถานศึกษา และสถานศึกษา สามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3Ff4LjW